ดีเอสไอบุกบ.นอมินีจีนย่านห้วยขวาง สวมสัญชาติไทยตั้ง40บ. ทุนหมุนเวียน 5.3 พันล้าน

ดีเอสไอบุกค้นบริษัทนอมินีจีนย่านห้วยขวางสวมสิทธิ์สัญชาติไทยตั้ง 40 บริษัททุนหมุนเวียนกว่า 5,300 ล้านบาท ส่งปค.ตรวจสอบ 246 รายชื่อ สงสัยถือหุ้นแทนนายทุนจีน ฝ่ายปกครองยอมรับจนท.เข้าไปเกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล ผ.อ.กองคดีความมั่นคง นายวีระชาติ ดาริชาติ ผอ.การสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง แถลงการขยายผลตรวจค้น บริษัท ไถ่ซี่ พัฒนา กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเบื้องพบว่ามีนายทุนชาวจีน 9 รายสวมสิทธิสัญชาติไทยประกอบธุรกิจ จัดตั้งบริษัทจดทะเบียนบริษัทจำกัด 4 บริษัท คือ บริษัท 10 พลัส 1 กรุ๊ป จำกัด ประกอบธุรกิจขายส่งข้าวและผลิตภัณฑ์ ที่ได้จากการโรงสี บริษัท อัมรินทร์ จีทีไอ จำกัด ประกอบธุรกิจซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของ บริษัท ดียี่ เน็ทเวิร์ค เทคโนโลยี จำกัด ประกอบธุรกิจก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย บริษัท ไถ่ซี่ พัฒนา กรุ๊ป จำกัด ประกอบธุรกิจให้เช่าสังหาริมทรัพย์ทุกชนิด เป็นนายหน้าตัวแทนเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งบริษัททั้งหมดประกอบธุรกิจต้องห้ามของชาวต่างด้าว ตรวจสอบทรัพย์สินพบว่ามีมูลค่ารวมกันเกิน 3,600 ล้านบาท เข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นดีเอสไอจึงรับไว้เป็นคดีพิเศษ

พ.ต.ท.กรวัชร์ กล่าวว่า คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากดีเอสไอได้เข้าตรวจสอบบุคคลต้องสงสัยจำนวน 255 รายชื่อในพื้นที่อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เนื่องจากสืบสวนพบว่าอดีตปลัดอำเภอเวียงแก่น ได้ทุจริตสวมสิทธิ์บุคคลต่างด้าวให้เป็นคนไทย โดยกรณีของนายอาเปา แซ่เซิน ซึ่งพบพฤติกรรมสวมสิทธิ์ใช้ชื่อนายอาเปา แต่จากการตรวจสอบลายนิ้วมือจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์พบว่าลายนิ้วมือไม่ตรงกับนายอาเปาคนเดิม ดีเอสไอจึงขยายผลการตรวจสอบพบว่าหลังนายอาเปาได้รับสัญญาติไทยแล้วก็จดทะเบียนบริษัททำธุรกิจต้องห้ามของคนต่างด้าว 4 บริษัท และได้ตรวจสอบรายชื่ออีก 246 รายชื่อ ที่เข้าข่ายต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นบุคคลสวมสิทธิ์สัญญาติ ขณะนี้ได้ประสานกรมการปกครองให้ตรวจสอบบุคคลทั้ง 246 รายว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม นายอาเปาถูกนายทะเบียนกรมการปกครองเพิกถอนสัญญาติไทยไปตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.63

“ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คือ หากบุคคลต่างด้าวเข้ามาสวมสิทธิ์เป็นคนไทย จะมีสิทธิ์เท่าเทียมกับคนไทยในการทำธุรกิจทุกประการ ซึ่งต่างจากกรณีบุคคลต่างด้าวเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นร่วม นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อบ้าน รถ ถือครองที่ดิน และครอบครองอาวุธปืนได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จึงต้องประสานกรมการปกครองช่วยตรวจสอบ” อธิบดีดีเอสไอ กล่าว

ร.ต.อ.วิษณุ กล่าวว่า จากการตรวจสอบทั้ง 4 บริษัท พบว่าบริษัทที่ 1-3 ไม่มีที่ตั้งอยู่จริง ตามที่แจ้งไว้ มีเพียงบริษัทไถ่ซี่ฯ ที่มีสำนักงานอยู่จริง มีพนักงานบริษัท และมีการโอนหุ้นทั้ง 4 บริษัทให้นายอาเปาทั้งหมด และจากกการตรวจสอบงบการเงิน เอกสารที่เกี่ยวข้องพบว่าอาจจะมีบุคคลต่างด้าวเป็นนายทุนอยู่ เบื้องหลังสวมสิทธิ์เป็นคนไทยเข้ามาถือหุ้นในลักษณะเป็นนอมินี โดยมีการกระจายจัดตั้งบริษัทถึง 40 แห่ง มีทุนจดทะเบียนรวมทั้งหมด 5,300 ล้านบาท ขณะนี้ดีเอสไออยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าบุคคล 246 รายชื่อ เข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่เชื่อว่ารายชื่อทั้งหมดอาจเป็นบุคคลต่างด้าว

Advertisement

ด้านนายวีระชาติ กล่าวยอมรับว่า ปัญหาทุจริตสวมสิทธิ์บุคคลต่างด้าว 99.99 เปอร์เซ็นต์ มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง สำหรับอดีตปลัดอำเภอเวียงแก่นถูกสอบวินัยให้ไล่ออกจากราชการแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญา รวมทั้งจะต้องถูกตรวจสอบเส้นทางการเงิน และเชื่อว่าการทุจริตจะต้องทำเป็นขบวนการคนเดียวไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ 246 รายชื่อที่เหลือขณะนี้ตรวจสอบได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ และยังไม่พบว่ามีการนำบัตรคนเสียชีวิตแล้วมาสวมสิทธิ์ให้คนต่างด้าว แต่ในจำนวนนี้อาจจะมีบุคคลที่ราบสูงยังไม่มีบัตรประชาชนยื่นคำร้องขอสัญชาติไทย กรมการปกครองก็ต้องพิจารณาว่ามีสิทธิ์ได้รับสัญชาติไทยจริงหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image