‘ปริญญา’ ถาม ‘พวกผมจะสอนหนังสือกันอย่างไร?’ คาใจ ผบ.ตร.ไม่แย้งอัยการปมสั่งไม่ฟ้อง ‘บอส อยู่วิทยา’

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 1 สิงหาคม ที่ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์กฎหมายอาญา และอาชญาวิทยา จัดเสวนาโต๊ะกลม ในหัวข้อ “คดี (กระทิงแดง) ชนตำรวจ : นักกฎหมายเห็น สังคมรู้สึก คำถามที่กระบวนการยุติธรรมต้องตอบ” (อ่านข่าว วงเสวนานิติ มธ. ถกปม ‘บอส อยู่วิทยา’ จี้ ผบ.ตร.ตอบปมคำถาม ชี้ร้อนแรงเทียบคดี ‘เชอรี่แอน’)

ในตอนหนึ่ง ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากกระบวนการยุติธรรมไทยเราน่าเชื่อถือ คงไม่ต้องจัดเสวนาในวันนี้ เพราะปัญหาคือ เรากำลังสงสัยในความน่าเชื่อถืออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นครั้งที่ร้อนแรงที่สุด เทียบเคียงได้กับคดีเชอรี่แอน

“ส่วนตัวได้ตั้งข้อสังเกตว่า เราจะทำให้เรื่องนี้ถึงศาลยุติธรรมได้อย่างไร เพราะวิธีเดียวที่จะคืนความเชื่อถือได้ คือให้คดีไปถึงศาลยุติธรรม แต่จะมีวิธีการใด ลำพังสั่งไม่ฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติสืบสวนคัดค้านได้ แต่กลับบอกว่าอัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้ว มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีต่อนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทุกข้อกล่าวหา และ ผบ.ตร.ไม่แย้งคำสั่งอัยการ โดยเท่าที่ผ่านมา ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่ตอบเรื่องเหตุผล ว่าเหตุใดไม่คัดค้าน ในวันแรกที่คนไทยรู้ข่าว ก็รู้จากสำนักข่าวต่างประเทศ ทั้งที่เป็นคดีอยู่ในความสนใจคนไทยมาตลอด 8 ปี คนจึงสงสัยว่า เงินง้างความยุติธรรมได้จริงหรือไม่ เพราะสั่งไม่ฟ้องไปเงียบๆ”

“1.ขับรถขณะเมาสุรา 2.ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนดก็ขาดอายุความ ที่มีเพียง 1 ปี 3.ขับรถประมาททำทรัพย์สินเสียหาย ก็ขาดอายุความ ขับรถชนและไม่หยุดช่วยเหลือ อายุความ 5 ปี ก็ขาดเช่นกัน ส่วนกระทำการโดยประมาทจนเป็นเหตุให้คนตาย 10 ปี ซึ่งขาดอายุความในขณะที่คดีอยู่ในมือของตำรวจ คนก็สงสัยอยู่แล้วว่า เหมือนมีการทำอะไรบางอย่างเพื่อเอื้อต่อผู้ต้องหาหรือไม่ ส่วนข้อหาตรวจเจอโคเคนขณะขับรถ ก็ไม่มีการตั้งข้อหา สรุปเหลือเพียงคดีเดียวที่จะไปถึงศาลได้ อยู่ในขอบเขตอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งได้สั่งฟ้องไปแล้ว ดังนั้น หากจะสั่งไม่ฟ้องเพราะว่าที่สอบสวนมาไม่น่าเชื่อถือ พยานหลักฐานใหม่หักล้างได้ทุกข้อสัย ซึ่งตนมองว่าหลักฐานใหม่ไม่ได้หักล้าง ในความรู้สึกคือเพียงเอามาเพิ่มเท่านั้น” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

Advertisement

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวต่อว่า ผบ.ตร.ท่านจะลอยตัวไม่ได้อีกต่อไป ท่านต้องตอบคำถามสื่อมวลชน ตนสงสัยว่าลำพังมีเพียงพยานใหม่ 4 ท่าน ก็หักล้างหลักฐานเก่าได้เลยหรือ แล้วทำไมพยานเหล่านี้เพิ่งมาปรากฏตัวเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ทั้งยังไม่ได้มีการให้คำอธิบายอย่างสิ้นสงสัย ซึ่งความจริงเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ น่าจะคุยกันได้ ขนาดเราขับรถเกินอยู่เนืองๆ ยังถูกตรวจวัดได้ กรณีนี้แตกต่างกันมาก กับความเร็วที่หายไป จาก 177 กับ 76 กม./ชม.

เหตุผลที่ 2 พยานหลักฐานที่ขับตามมาให้การว่านายวรยุทธขับเพียงแค่ 50 กม./ชม. แต่เห็นผู้ตายเปลี่ยนเลนรถ จึงเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ได้เกิดจากความไม่ระมัดระวัง คนผิดคือ ด.ต.วิเชียร ที่ขับรถปาดหน้า จึงไม่มีเหตุในการฟ้อง จึงสั่งไม่ฟ้อง ทำไมพนักงานอัยการจึงเชื่อ 2 ท่านนี้ง่ายเหลือเกิน ทั้งที่เพิ่งมาปรากฏตัวในปี 2562
“อัยการไม่สงสัยอย่างพวกเราสงสัย หรือ เพราะเหตุผลเดิมที่เคยสั่งฟ้องไปแล้วมาสั่งไม่ฟ้องต้องหักล้างของเดิมได้ อย่างแรก ผู้ที่ขับรถตามมาได้ขับตามมาจริงหรือไม่ มีอะไรมายืนยันเพียงพอหรือไม่ เหล่านี้เป็นข้อสังเกต ถ้าเป็นพวกเราคงต้องมาแถลงต่อสาธารณชนว่าเข้าใจผิดเพื่อให้สิ้นสงสัย แต่กระบวนการนี้ไม่มี จู่ๆ ปรากฏพยานขึ้นมา 2 คน ตำรวจค้านได้แต่ไม่ค้าน ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องจริง ตำรวจมีส่วนด้วยอย่างแน่นอน ตามหลักการถ่วงดุลที่คัดค้านได้แต่ไม่คัดค้าน”

ผศ.ดร.ปริญญาเผยว่า จากการเป็นอาจารย์ สิ่งที่ไม่สบายใจสุดคือ 1.ผู้ต้องหาที่ 2 กลายเป็น ด.ต.วิเชียร คนที่ถูกชนกลายเป็นผู้ต้องหา อธิบายว่าเป็นการประมาทร่วม แต่ตนยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นการประมาทฝ่ายเดียว เป็นการทำให้คนตายกลายเป็นคนผิดจริงหรือไม่ เพื่อให้คนผิดจริงพ้นข้อหาหรือไม่ ซึ่ง ด.ต.วิเชียรไม่สามารถแย้งข้อกล่าวหาได้ คือแพะในคดีนี้ ซึ่งตนเศร้าใจแทนมาก โดนชนตายแล้วกลายเป็นคนผิด สังคมนิ่งเฉยไม่ได้
2.ประมาทแล้วทำให้ตาย เป็นอาญาแผ่นดิน การมีสินไหมทดแทนไม่ใช่เหตุสั่งไม่ฟ้อง แม้ผู้ชนแล้วตาย เมาแล้วขับ ไปงานศพ ดูแลญาติ รับผิดทุกอย่าง ที่ผ่านมาอัยการก็สั่งส่งฟ้องต่อศาล แต่กรณีนี้ไม่ พวกผมจะสอนหนังสือกันอย่างไร

“นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ผมไม่ตั้งคำถามว่าจะไปถึงศาลได้หรือไม่ แต่จะไปถึงศาลได้อย่างไร ขอเชิญชวนจับตาร่วมกัน”

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวต่อว่า อีกประการ คือเรื่องของหลักฐานใหม่ โดยสังคมต้องช่วยกันหาเงื่อนงำความไม่สุจริต ความผิดพลาด ไม่โปร่งใส เช่น เรื่องความเร็วที่จะปูทางไปสู่ความสุดวิสัยหรือไม่ ซึ่งสามารถมาร่วมกันพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ เรื่องความเร็วและรอยบุบ จากภาพของกล้องวงจรปิด
และอีกหลักฐานคือ คดีเสพโคเคนขณะขับรถ ซึ่งการเสพยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ผิดกฎหมาย ทำไมไม่ตั้งข้อหานี้ เราปิดผับ ร้านเหล้า เราจับคนขับรถเพื่อตรวจฉี่ม่วง ที่บอกว่ามาจากยาชา ในวงการทันตแพทย์เลิกใช้เป็นส่วนประกอบมา 150 ปีแล้ว ไปถามหมอฟันคนนั้น ซึ่งหมอก็บอกว่าไม่อยู่ในยาชา ดังนั้น ทางเดียวคือเสพ ทั้งนี้ คดีผ่านไป 8 ปีแล้วถามว่าขาดอายุความแล้วหรือไม่ ใน พ.ร.บ.ยาเสพติด มาตรา 91 ระบุว่า เสพยาประเภท 1-2 มีโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี ดังนั้น อายุความคือ 10 ปี เท่ากับว่าอายุความยังไม่ขาด จึงขอตั้งคำถามต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าท่านตรวจพบสารแต่ไม่ตั้งข้อหา เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่

“ผมอ่านข่าวของต่างประเทศแล้วเศร้าใจ สื่อญี่ปุ่นพูดถึงประเทศไทยว่า ก็ยังด้อยพัฒนาอยู่ เงินสามารถทำให้ไม่ติดคุกได้ เราจะยอมให้มีภาพลักษณ์เช่นนี้ในสายตานานาชาติหรือ แล้วใครจะมาลงทุน เรามีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเช่นนั้นอยู่หรือ ดังนั้น กระบวนการที่โปร่งใสต้องไปถึงศาลยุติธรรม

“ความยุติธรรมต้องทำให้คนเห็นด้วยว่ายุติธรรม เพราะถ้าคนไม่เชื่อถือ คนก็ไม่เชื่อถือ อยากชวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พนักงานอัยการมาตั้งหลักกันใหม่ ว่าคดีที่อยู่ในความสงสัยของประชาชน ส่งให้ศาลดีกว่าหรือไม่ เพราะคือวิธีการที่จะเรียกความเชื่อมั่นให้กระบวนการยุติธรรมได้” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image