วงเสวนา ‘นิติ จุฬาฯ’ ห่วงสถานการณ์บั่นทอนศรัทธากระบวนการยุติธรรม แนะอัยการ-ตร. ทำงานร่วม ไม่ใช่แค่ตรวจสอบถ่วงดุล

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่ห้องประชุมสุรเกียรติ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเสวนา “ฬ.จุฬาฯ นิติมิติ” หัวข้อ “การฟ้องคดีอาญาโดยรัฐกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ดำเนินรายการโดย อ.ดร.ปราโมทย์ เสริมศีลธรรม คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างคำถามและกระทบกับความรู้สึกของสังคม เมื่อทราบผลว่าอัยการไม่สั่งฟ้องผู้ต้องหา สร้างความสงสัยต่อบทบาทและหน้าที่ของผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งวงวิชาการอื่นออกก็มาให้ความเห็นในมุมมองที่แตกต่างกัน เมื่อเกิดความไม่เชื่อมั่นก็บั่นทอนศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะกระทบความมั่งคงของประเทศในหลายด้านด้วย สิ่งที่จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นศรัทธาคือการทำความจริงให้ปรากฏ ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ ความจริงในภาคปฎิบัติจะต้องคงอยู่ ในฐานะที่ได้นับมอบหมายให้พิจารณาคดีนี้ อยากชวนคิด 2 ประเด็น คือ 1.กระบวนการ 2.อรรถ หรือเนื้อหาคดี

ผศ.ดร.ปารีณากล่าวว่า 1.ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมคือความอยุติธรรม กับ 1.ตัวผู้ต้องหา ในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ 2.อยุติธรรมต่อผู้เสียหายที่จะเยียวยาชดใช้ 3.ต่อรัฐและสังคม รวมถึงความเสี่ยงกับพยานหลักฐานที่อาจสูญหาย หรือน่าเชื่อถือน้อยลง ทั้งยังเปิดโอกาสให้เกิดการวิ่งเต้นคดีได้ กระบวนการจึงต้องเป็นไปด้วยความไม่ล่าช้า ซึ่งรัฐธรรมนูญไทยรับรองไว้ชัดเจนว่าการสอบสวนพิจณาคดี ต้องรวดเร็วและเป็นธรรม สำหรับคดีนี้เป็นคดีจราจรทางปก ปกติใช้เวลา 2-3 เดือน แต่กรณีนี้ 8 ปี อะไรคือปัจจัย และกระบวนการใดที่ทำให้ล่าช้า จนบางข้อหาขาดอายุความ ทั้งที่ตำรวจและอัยการก็มีแนวทางเร่งรัดคดี ซึ่งในชั้นสอบสวน นี่คือคดีที่รู้ผู้กระทำความผิด มีผู้ต้องหาที่ 1 และ 2 ส่งไปยังพนักงานสอบสอน เข้าสู้ขั้นตอนอัยการ ตรวจพิจาราณาสำนวน สั่งฟ้อง ไม่ฟ้อง หรือหาสอบสวนหาหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งตามกฎหมายล่าสุด หากพบว่าผู้ต้องหาหลบหนี อัยการก็ยังสามารถดำเนินการได้

Advertisement

“สำหรับคดีนี้ช้าขั้นตอนใด ในส่วนการสอบสวนเพิ่มเติมก็น่าพิจารณาข้อเท็จจริงที่ยังไม่รู้ ซึ่งพนักงานอัยการเท่านั้นที่จะมีหน้าที่สั่งสอบสวนเพิ่มเติมได้ ทราบว่ามีเรื่องการร้องขอความเป็นธรรม ตามมาตรา 48 ของระเบียบดำเนินคดีอาญาซึ่งเขียนไว้หลวมๆ ว่า เหตุอย่างใด และคุณสมบัติผู้ร้องเช่นใดจะเข้าเกณฑ์พิจารณาความเป็นธรรม ซึ่งสามารถร้องขอความเป็นธรรมได้เรื่อยๆ แม้จะยุติการร้องขอความเป็นธรรมไปแล้ว ทั้งหมดก็เพื่อให้อัยการสามารถให้ความเป็นธรรม เพราะคงไม่มีผู้บริสุทธิ์คนใดที่อยากตกเป็นจำเลยในคดีอาญา ซึ่งยิ่งจะกระทบต้อสิทธิเสรีภาพด้วย แต่เราไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงกรณีเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีการร้องขอความเป็นธรรมกี่ครั้ง ร้องประเด็นอะไร ร้องเองหรือผ่านใคร นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ทำให้คดีล่าช้าคือมีการหลบหนีไปต่างประเทศจนคดีขาดอายุความ ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการ ส่งเรื่องตามกฎหมายข้ามแดน ประเด็นนี้มีการดำเนินการหรือไม่ และเป็นเหตุให้เกิดความล่าช้าด้วยหรือไม่” ผศ.ดร.ปารีณากล่าว

ผศ.ดร.ปารีณากล่าวต่อว่า ในกระบวนการดำเนินคดี 2.อรรถ หรือเนื้อหาคดี ประเด็นแรกคือความเป็นอิสระในกระบวนพิจารณาคดี โดยเฉพาะชั้นสอบสวน ท้ายที่สุด หากเป็นผู้กระทำผิด ต้องคำพิพากษา กระทบสิทธิเสรีภาพครองผู้ต้องหามากกว่าคดีอื่น นอกจากนี้ คดีลักษณะประเภทนี้จำเป็นต้องใช้ดุลพินิจของผู้ที่เกี่ยวข้อง คือพนักอัยการใช้ดุลพินิจตามหลักการพิจารณาในชั้นศาล แต่เมื่อถึงชั้นอัยการ การพิจารณาต่างกับชั้นสอบสวน ที่พนักงานอัยการจะเริ่มสอบสวนเมื่อไหร่ก็ได้ ชั่งพยานหลักฐาน ว่าพอฟ้องได้หรือไม่ เมื่อไปถึงอัยการจะมีอำนาจกึ่งตุลาการ จะพิจารณาอย่างไรก็ได้ ซึ่งการพิจารณาคดีอาญา โดยปกติเป็นหน้าที่ของรัฐ อย่างไรก็ดี ผลกระทบในการจะสั่งคดีของอันการมีผล หากหลักฐานชัดเจนว่าการกระทำนั้นไม่ผิดอาญา พยานหลักฐานสอดคล้อง แต่ยากสำหรับกรณีที่หลักฐานแย้งกัน เพราะการสอบสวนต้องรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด ทั้งความผิด และความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา จากนั้นจึงใช้ดุลพินิจว่าจะฟ้องคดีนั้นหรือไม่ ซึ่งเราไม่เห็นสำนวนการสอบสวนนั้นว่าเป็นอย่างไร

“สุดท้าย คดีนี้เป็นกรณีที่กลับความเห็น ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจากการที่ ผบ.ตร.ไม่แย้ง จึงเป็นการสั่งฟ้องคดีเด็ดขาด ผลคือรัฐตัดสินใจไม่ฟ้องผู้ต้องหา แล้วกรณีนี้ใครเป็นผู้เสียหาย เมื่อผู้ตายไม่สามารถฟ้องคดีได้เอง ผู้มีอำนาจอย่างผู้สืบสันดานจึงต้องจัดการแทน ดังนั้น เรื่องนี้จึงสมควรให้มีการพิจารณา มาตรา 147 ระบุว่า ห้ามไม่ให้สอบสวนบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันเมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี กล่าวคือคำสั่งเด็ดขาดจะสอบสวนได้อีกต้องมี 1.พยานหลักฐานใหม่ 2.พยานหลักฐานนั้นสำคัญแก่คดีซึ่งศาลอาจลงโทษผู้กระทำผิดนั้นได้ อย่างไรก็ดี มีข้อยกเว้นว่า มาตรา 147 เป็นการห้ามโดยเด็ดขาด แต่ถามว่าคดีสิ้นสุดหรือยัง จึงเป็นเรื่องที่ว่าอะไรคือพยานหลักฐานใหม่ มีอยู่แต่ยังไม่ใช้ ไม่ใช้ถือเป็นพยานหลักฐานใหม่หรือไม่ หากใช้คนละชั้นการพิจารณา ดังนั้น พยานหลักฐานชิ้นหนึ่ง อาจเป็นพยานหลักฐานได้หลายข้อหา สามารถนำมาใช้เพื่อแจ้งข้อหาเพื่อดำเนินคดีได้ ท้ายที่สุด ในระเบียบดำเนินคดีของพนักงานอัยการมาตรา 54 หากปรากฏในภายหลังว่าเหตุคำสั่งที่ไม่ถูกต้องก็สามารถเพิกถอนคำสั่งนั้นได้ เช่น ใช้ดุลยพินิจโดยปราศจากความอิสระ พยานหลักฐานไม่ถูกต้องโดยกฎหมาย เป็นต้น” ผศ.ดร.ปารีณากล่าว

Advertisement

พ.ต.อ.ดร.มานะ เผาะช่วย เลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน กล่าวว่า มีความจริงที่สังคมไทยต้องยอมรับอันเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม คือ 1.คนไทยมีวัฒนธรรมความเชื่อเรื่องระบบพวกพ้อง มีลูกพี่ 2.ศักยภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง ยศ ตำแหน่งข้าราชการ และอื่นๆ มีผลกระทบต่อการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะชั้นต้น นี่คือความจริงที่เกิด หากไม่แก้ตรงนี้หญ้าก็จะมีขึ้นอีกจากบริบทวัฒนธรรมความเชื่อนี้ การดำเนินคดีอาญาเอาคนผิดมาลงโทษมี 2 ขั้นตอนหลัก คือ 1.ชั้นเจ้าพนักงาน (ก่อนฟ้อง) เป็นอำนาจกึ่งตุลาการ และ 2.ชั้นตุลาการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือค้นหาความจริง ในชั้นสืบสวนสอบสวนเป็นชั้นที่คนทั่วไปไม่ค่อยรับรู้ ซึ่งในขั้นนี้ ยุ่งยาก ซับซ้อน รัฐต้องทุ่มเททรัพยากรอย่างมากใช้กำลังตำรวจควบคุมฝูงชน 200-300 นาย

พ.ต.อ.ดร.มานะกล่าวว่า หลักการในชั้นก่อนฟ้องคือต้องมีเหตุอันควรสงสัย เจ้าพนักงานต้องใช้ดุลพินิจในการแจ้งข้อหา สังเกตจากสถิติ คดีอาญา ประชาชนไปแจ้งความที่โรงพักกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าพึ่งพาอาศัยเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าไปแจ้งฟ้องเอง ซึ่งอยู่ในมือของรัฐ รัฐเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งทุกคดีจะแก้หรือถอนคำร้องทุกข์แจ้งความเมื่อไหร่ก็ได้ มีสิทธิถอน แต่ด้วยระบบไทย รัฐต้องเข้าไปควบคุมกำกับ ถ้าไม่ใช่ความผิดส่วนตัว ดังนั้น ประชาชนพึ่งพากระบวนการยุติธรรมสูงมาก เพราะผู้เสียหายฟ้องเองมักมีศักยภาพจำกัด เช่น ต้องใช้การสอบสวนทางนิติวิทยาศาสตร์

“ที่บอกว่ากระบวนการชั้นสืบสวนซับซ้อน เพราะไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นเวลาใด เป็นความเครียดของการสอบสวนในขั้นต้น อย่างหนึ่ง ต้องรอบรู้ บริหารจัดการเป็นทีมงาน คดีนี้พนักงานสอบสวนมีอำนาจ แค่เข้าไปในบ้านไม่ได้ นี่คือความยุ่งยากมืดมนขั้นหนึ่ง เพราะเขามีศักยภาพหลายด้าน บริบทสังคมไทยเช่นนี้มีอยู่จริง ใช้กองร้อย 200-300 คน แต่เข้าไม่ได้ ปรากฏว่าที่บ้านผู้ต้องหามีกล้องวงจรปิด ฮาร์ดดิสก์เอาออก จึงไม่เห็นภาพ ตำรวจจึงไปดูที่ป้อมยาม ตรวจดูบันทึกรถเข้าออก รปภ.ก็บันทึกไปตามความจริง โดยยึดมาและขอหมายค้น กว่าจะได้ ซึ่งเขาก็ปฏิเสธหมดตามสิทธิของผู้ต้องหา ต้องรอทนายตามสิทธิ กว่าจะได้แจ้งข้อกล่าวหา เมื่อส่งไปตรวจร่างกาย ซึ่งกว่าจะได้ผลก็ช่วงบ่ายแล้ว กว่าจะพบตัวก็ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าแล้ว จะทำอย่างไร จากนั้น มีการสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาล แต่เราควบคุมไม่ได้ ซึ่งเขาก็ไม่ไป จึงอาศัยอำนาจควบคุมตัว แต่เขาก็ประกันตัวได้ ตามสิทธิ นี่คือความละเอียดอ่อนของพนักงานสอบสวน เมื่อไปดูกล้องวงจรปิดเนื่องจากมีการชน ร่างผู้ตายกระแทกกลับทำให้ กระจกหน้ารถกระแทกแตกเป็นใยแมงมุม จึงเปิดกระจกข้างเพื่อมองทาง แล้ววงจรปิดจับได้ จึงมั่นใจตัวผู้ขับ และสุดท้าย ประเด็นเจาะเลือดที่ รพ.สมิติเวช ก็ส่งผลไปที่โรงพยาบาลรามาฯ ซึ่งเป็นของรัฐ” พ.ต.อ.ดร.มานะกล่าว

พ.ต.อ.ดร.มานะกล่าวว่า เรื่องการขอความเป็นธรรมในขั้นพนักงานอัยการ การจะขอความเป็นธรรม กล่าวคือเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมในขั้นสอบสวนมาก่อน หากมั่นใจว่าบริสุทธิ์ ต้องเปิดเผยตั้งแต่ต้น พนักงานสอบสวนต้องเปิดโอกาสให้แสดงหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เมื่อผู้ต้องหาอ้างพยานหลักฐานซึ่งก็ต้องเปิดโอกาส และพนักงานรวบรวมไว้เป็นสำนวน ส่วนตัวจึงมองว่าขอความเป็นธรรมได้ แต่ต้องดูเหตุผล และเขียนให้ชัดเจนว่าต้องเป็นกรณีอ้างพยานในขั้นสอบสวน แล้วไม่รับ หรือได้พยานหลักฐานมาใหม่ แต่กรณีนี้ตนเห็นพิรุธในความอินโนเซนส์

ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด

ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด กล่าวว่า การดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ สำหรับประเทศไทยเป็นระบบ civil law ตามภาคพื้นยุโรป แต่สำหรับประเทศอังกฤษเรียกว่าการดำเนินคดีโดยประชาชน เช่น ตนถูกตีศีรษะที่ประเทศอังกฤษ ทุกคนสามารถฟ้องคนที่ตีหัวได้ แต่ของเราเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งมีหลักการตรวจสอบ และทุกฝ่ายมีหน้าที่ตรวจสอบความจริง ประเทศไทย แม้แต่ศาลเองก็ไม่ทำงาน อาทิ มาตรา 131 ในการสอบสวนให้รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่จะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับข้อหา พิสูจน์ให้เห็นความผิด หรือความบริสุทธิ์ โดยต้องพิสูจน์ให้ถึงแก่น, การตรวจสอบความจริงในคดี ทุกฝ่ายมีหน้าที่ทำ ตรวจสอบ 2 เรื่องคือ 1.เรื่องที่กล่าวหากัน และ 2.ความจริงของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเราทำเล่นๆ กระบวนการยุติธรรมเรายังไม่ทำให้ถูกกฎหมาย

ศ.ดร.คณิต กล่าวว่า กฎหมายภายหลังมีการปฏิรูป ในรัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งได้ร่วมผลักดันให้ศาลออกหมายจับ-หมายค้น เพื่อให้ศาลตรวจสอบแน่ชัดว่าสมควรออกหรือไม่ ซี่งเราปฏิบัติผิดกันอย่างมาก เช่น การปล่อยตัวชั่วคราว การเข้าใจผิดทำให้เกิดการทำมาหากินในอาชีพ สร้างความเสียหายตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน รัฐยังเอาบริษัทประกันภัยมาหากินในกระบวนการยุติธรรมไทยอีกด้วย ตนไม่ได้พูดเรื่องทุจริต เพราะเพียงทำให้ความจริงปรากฏได้ก็แย่แล้ว ศาลต้องทำตัวแบบ master of ceremonies ถ้าเราจะโทษ อยากจะโทษระบบศึกษาที่ทำให้เป็นปัญหากันทุกวันนี้ เรื่องการขอความเป็นธรรม ในข้อนี้สมัยที่ตนเป็นอัยการสูงสุด เมื่อ 23 พ.ย.37 ต่างกับสมัยปัจจุบันที่มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นอีกมาก แก้สิ่งที่ถูกต้องออกไป ทำให้เกิดปัญหาขึ้น

“การทำงานของอัยการ กับ ตำรวจ ไม่ใช่การตรวจสอบอำนาจซึ่งกันและกัน ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ทั้งในมหาวิทยาลัยด้วยว่าไม่ใช่แค่การตรวจสอบและถ่วงดุล แต่มิติที่ถูกต้องคือทำงานร่วมกัน ช่วยเหลืออัยการและการสั่งคดี เป็นอำนาจของอัยการที่ส่งไปให้จังหวัด หรือหน่วยงานต่างๆ กล่าวคือ อัยการสูงสุดมีอำนาจในการมอบหมาย เช่นนี้จึงมีอำนาจสูงสุดที่จะเรียกคืนอำนาจ หน้าที่ที่มอบหมายนั้นกลับคืนได้ กฎหมายเราดี แค่เราไม่เข้าใจระบบที่ถูกต้อง ก็ปฏิบัติกันแบบผิดๆ ถูกๆ สร้างความเสียหายให้บ้านเมือง ประเทศเรามีปัญหามาก ศาลก็ไม่แอคทีฟ ทำให้มีศาลฎีกา สำหรับนักการเมืองเกิดขึ้น เพราะ อ.บวรศักดิ์ บอกว่าศาลเราไม่แอกทีฟเลย มีแต่แพสซีฟ จึงตั้งศาลใหม่ เพื่อให้แอคทีฟเหมือนศาลอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ศ.ดร.คณิตกล่าว

ศ.ดร.คณิตกล่าวว่า สังคมไทยกับฝรั่งต่างกันมาก ไทยไม่มีการตรวจสอบโดยประชาชน ซึ่งตอนนี้มาแรง กระบวนการยุติธรรมจึงต้องระมัดระวัง บ้านเราใช้คนเยอะโดยไม่เกิดประโยชน์ กระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่นมีประสิทธิภาพอย่างมาก พูดกันตรงๆ คนญี่ปุ่นหน้าบาง แต่คนไทยหน้าหนา จำนวนผู้พิพากษา ตำรวจ พนักงานอัยการ ทั้งประเทศเขาน้อยกว่าเรามาก แต่ประชากรมีมากกว่าเรา 2 เท่า เกาหลีเกิดทุจริตมากเช่นกัน ปาคจุงฮี ยึดอำนาจ สิ่งแรกที่ทำคือปราบคอร์รัปชั่น ซึ่งทำได้อยู่หมัด แล้วค่อยพัฒนาประเทศ พูดกันตรงๆ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอนยึดอำนาจบอกท่านจะปราบคอร์รัปชั่น มีสักเรื่องหรือไม่ ท่านบอกจะปฏิรูปตำรวจ ตนก็รอฟัง ก็ไม่เห็นมีเหมือนกัน นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นในบ้านเรา กฎหมายเราดี นักกฎหมายเราก็ว่าความไปตามผู้มีอำนาจ และไม่ทำอะไร ตนไม่ได้บอกว่าที่ไหนไม่ทุจริต หรือไม่สุจริต แต่จะต้องมีการตรวจสอบกัน เรื่องเกิดเช่นนี้จะทำอย่างไร เราต้องทำให้ถูกหลัก ซึ่งผู้ที่จะมีบทบาทสูงสุดคือมหาวิทยาลัย เพราะมีความเป็นกลาง

“การเป็นอัยการ หน้าที่สำคัญ คือ เป็น Stimulator กระตุ้นให้คนทำงาน แต่เรานั่งวางเฉยกันหมด ผมไม่รู้จะพูดอย่างไร หลังจากวันนี้แล้ว สถาบันการศึกษา จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ น่าจะต้องดู เราไม่เอาจริงเอาจังในกระบวนการยุติธรรม ตอนที่ตอนเป็นอัยการสูงสุดในแนวทางปฏิบัติราชการ ผมได้ทำตามนี้ โดยตั้งสถาบันกฎหมายอาญา เพราะเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายของบ้านเราอ่อนมาก ซึ่งสมัยนี้สถาบันเหล่านี้ยังมีอยู่ แต่ไม่ทำอะไร นอนเฉยๆ ส่วนเรื่องนักศึกษาออกมา ผมได้แต่ภาวนาว่า อย่าให้เกิดความรุนแรงขึ้น” ศ.ดร.คณิตกล่าว

นิติธร แก้วโต ทนายความ

ด้านนายนิติธร แก้วโต ทนายความ เผยว่า จากประสบการณ์ส่วนตัว ในการว่าความคดีอาญา หลักการคือจับให้ได้ก่อนว่าพูดจริงหรือโกหก ก่อนที่อีกฝ่ายจะไปจับผิดลูกความของเรา หากสอบสวนแล้วพบว่าเป็นดำ ขาว หรือเทา ถ้าดำจะให้รับสารภาพเพื่อที่โทษหนักจะได้เป็นเบา ถ้าเป็นสีเทาก็มีช่องทางจะสู้ได้ แต่กรณีนี้ไม่แนะนำให้นำพยานหลักฐานเข้าสู่สำนวน เพราะจะเป็นดาบ 2 คม หากยื่นให้เห็นแผลหรือช่องโหว่ในคดี โดยคำสั่งจะมี 2 รูปแบบคือ พนักงานสอบสวนไปสอบสวนใหม่ กับไม่ผิดจริง จึงไม่สั่งฟ้อง ส่วนแบบขาวจะแนะนำให้ส่งพยานหลักฐานทั้งปวง ที่อยู่ในสำนวนมาพิสูจน์ความผิด หรือความบริสุทธิ์ ซึ่งมีหลายคดีที่ไม่ผิด แต่สั่งฟ้อง เพราะกลัวโดยร้องเรียน

“กรณีที่มีการกลั่นกรองโดยพนักงานอัยการ คนกระทำความผิดไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างแน่นอน คนจนมีสิทธิหรือไม่ หากกรณีนี้เกิดขึ้นกับคนจน จะได้รับสิทธิแบบนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับคนถือกฎหมาย ว่าจะไปทิศทางใด ณ วันนี้เราปฏิรูปกฎหมายให้ดีขนาดไหน ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันแค่ไหน แต่ระบบในเมืองไทยยังเป็นระบบอุปถัมภ์ จะแก้ตรงไหน ต่อให้ออกฎหมายมาดี แต่คนใช้กฎหมายไม่มีความยุติธรรม อะไรจะเกิดขึ้น” นายนิติธรกล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image