ดีเอสไอ แจ้งข้อหาลักทรัพย์อีก 4 ราย อายัดเพิ่ม 600 ล้านบาท คดีสหกรณ์ฯคลองจั่น

 เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 2 กุมภาพันธ์  ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการ สำนักการสอบสวน เป็นประธานการประชุมคณะพนักงานสอบสวน เพื่อพิจารณาคำสั่งของนายนภดล บุญศร อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ในคดีพิเศษที่ 146/2556 คดีสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวะกุล ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร และพ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ โดยมีประเด็นสำคัญในการพิจารณาฐานความผิดของกลุ่มผู้รับเช็คจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯคลองจั่น ประกอบด้วย กลุ่มวัดพระธรรมกาย กลุ่มบริษัท เอส ดับบลิวโฮลดิ้ง จำกัด กลุ่มสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี กลุ่มสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรัฐประชา นายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ และกลุ่มญาติธรรม โดยใช้เวลาในการประชุมประมาณ 2 ชั่วโมง


พ.ต.ท.สมบูรณ์ แถลงภายหลังการประชุม ว่า ตามที่สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 ดีเอสไอ ได้ส่งสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมคดีพิเศษที่ 146/2556 ซึ่งเป็นคดีระหว่างนายพิษณุ ชีวะสิทธิ์ ผู้กล่าวหา กับนายศุภชัย กับพวกรวม 6 คน ผู้ต้องหาในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ของสหกรณ์ฯคลองจั่น  กว่า 13,000 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา นายนภดล ได้มีหนังสือแจ้งให้อธิบดีดีเอสไอดำเนินการ คือ 1.แจ้งข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างและร่วมกันปอมแปลงเอกสารสทธิและใช้เอกสารสิทธิแก่นายศุภชัย, น.ส.ศรัณยา มานหมัด นายลภัส โสมคำ และนายกฤษฎา มีบุญมาก ส่งให้พนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไป 2.ให้พนักงานสอบสวนไปสอบสวนเพิ่มเติมกรณีนางทองพิน กันล้อม และบุคคลอื่น ร่วมกันลงลายมือชื่อกับนายศุภชัย ส่งจ่ายเช็คของสหกรณ์ฯคลองจั่น หากพบว่ามีส่วนร่วมก็ให้ดำเนินคดี

” 3.สั่งไม่ฟ้องนายจิรเดช วรเพียรกุล และนายวัฒน์ชนนท์ ข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์ตามที่พนักงานสอบสวนชุดเดิมมีความเห็นทางคดีไป แต่ให้พิจารณาความผิดฐานรับของโจรหรือฐานฟอกเงิน เนื่องจากผู้ต้องหาไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ฯ เป็นเพียบผู้รับเช็ค จึงไม่เข้าข่ายความผิดฐานยักยอกทรัพย์ และ 4.ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีฟอกเงินกับนายศุภชัย และผู้ที่รับเช็คอื่นๆ นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบพบทรัพย์สินของนายศุภชัยเพิ่มเติม 3 รายการ คือ 1.เป็นของนายสุวิทย์ ฤทธิสรณ์ ซึ่งเป็นผู้ลงชื่อรับเช็คของสหกรณ์ฯคลองจั่น ประมาณ 168 ล้านบาท และนำไปซื้อที่ดินทำเป็นรีสอร์ทมีมูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท 2.เป็นที่ดินที่ ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 1,984 ไร่ โดยมีนางบุญชอบ บุญจันทึก เป็นผู้รับเงินจากสหกรณ์ฯคลองจั่น 367 ล้านบาท ไปซื้อที่ดินในส่วนนี้ และ 3.เป็นที่ดินที่จ.มหาสารคาม 3 ไร่เศษ 23 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้พนักงานสอบสวนจะดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินเหล่านี้ทั้งหมด รวมกว่า 600 ล้านบาท”พ.ต.ท.สมบูรณ์กล่าว

ด้าน พ.ต.ท.ปกรณ์ กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาฐานความผิดของกลุ่มผู้ที่รับเช็คจากนายศุภชัย  878 ฉบับ มูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท ทางพนักงานสอบสวนได้แบ่งการดำเนินการตรวจสอบเป็น 7 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มนิติบุคคลที่มีมูลหนี้, กลุ่มวัดพระธรรมกาย, กลุ่มสหกรณ์อื่นๆ, กลุ่มผู้ต้องหาและที่อยู่ข่ายผู้ต้องหา, กลุ่มบุคคลธรรมดาที่รับเช็ค และกลุ่มนายหน้าค้าที่ดิน และกลุ่มนิติบุคคลที่ไม่มีมูลหนี้ ทั้งนี้ เนื่องจากที่ประชุมจะพิจารณาดำเนินคดีเกี่ยวกับฟอกเงินและรับของโจรในกลุ่มบุคคลและนิติบุคคลที่ไม่มีมูลหนี้ ได้แก่กลุ่มวัดพระธรรมกาย กลุ่มผู้ต้องหาที่อยู่ในเครือข่าย กลุ่มคนธรรมดาที่รับเช็คโดยไม่มีมูลหนี้ และกลุ่มนิติบุคคลที่ไม่มีมูลหนี้ ซึ่งตรงนี้เราจะพิจารณาสอบสวนหากการกระทำผิดต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของคดีฟอกเงินนี้จะต้องดำเนินการสอบสวนก่อน หากพบว่ามีปริมาณมากทางพนักงานสอบสวนอาจจะต้องแยกออกเป็นคดีต่างหาก เพราะก่อนหน้านี้ดีเอสไอเคยทำคดีฟอกเงินไว้แล้ว

Advertisement

ผู้สื่อถามว่าเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับเช็คหรือไม่ พ.ต.ท.ปกรณ์ กล่าวว่า กรณีของวัดพระธรรมกายอยู่ในกลุ่มของผู้รับเช็คในส่วนที่ไม่มีมูลหนี้ โดยเป็นเงินที่ได้รับจากการบริจาค  120,000 ล้านบาท  ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนจะพิจารณาตามข้อเท็จจริง โดยไม่มีการเร่งรัดให้มีการตรวจสอบเพื่อให้ทันในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะใช้ระยะเวลาในการสอบสวนเท่าไหร่ พ.ต.ท.สมบูรณ์ กล่าวว่า คาดว่าจะใช้เวลาสอบสวนระยะหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image