‘ไมตรี สุเทพากุล’ ผู้พิพากษาไทยคนเเรก รับเชิญนั่ง กก.ที่ปรึกษาผู้พิพากษา องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

ไมตรี สุเทพากุล

‘ไมตรี สุเทพากุล’ ผู้พิพากษาไทยคนเเรก รับเชิญนั่ง กก.ที่ปรึกษาผู้พิพากษา WIPO องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

เมื่อวันที่ 22 กันยายน นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ WIPO ภายใต้การกำกับขององค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลความตกลงระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญา บริหารจัดการข้อพิพาท และระบบอำนวยความสะดวกในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของผู้พิพากษาทั่วโลกในการบริหารจัดการปัญหาข้อกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีภาคีสมาชิก 193 ประเทศ เเละมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ได้เชิญตัวแทนศาลยุติธรรมประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO)

โดยมี นายไมตรี สุเทพากุล ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการที่ปรึกษาผู้พิพากษาขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Advisory Board of Judges) ในวาระปี 2563-2564 อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนศาลยุติธรรมและประเทศไทย

สำหรับคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้พิพากษาขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกนี้ ประกอบด้วยกรรมการ 15 คน ซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่มีความรู้และประสบการณ์จากหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยทำงานในรูปแบบคณะกรรมการมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกัน เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้ทันสมัยภายใต้พลวัตการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยคำนึงถึงบริบทด้านกฎหมาย และสภาพสังคมของประเทศภาคีสมาชิก

Advertisement

ทั้งนี้ จึงถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีตัวแทนปฏิบัติหน้าที่ในองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เพื่อส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งพัฒนาระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทย และยกระดับมาตรฐานคำพิพากษาของศาลไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล     

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไมตรี ประธานศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ สำเร็จการศึกษาปริญาตรี นิติศาสตรบัณทิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2521 (รุ่นที่ 18) และเศรษฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสำเร็จการศึกษาเนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 31 จากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ขณะที่ได้ศึกษาต่อต่างประเทศ ด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา Master of Laws และ Postgraduate Diploma ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน นอกจากนี้ยังได้รับทุน British Chevening และทุน Humphrey Fellow จากมูลนิธิ Fulbright ศึกษางานที่ศาลอุทธรณ์สหพันธรัฐ (United States Court of Appeals for the Federal Circuit) และสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐอเมริกา (United States Patent and Trademark Office’s : USPTO) เป็นเวลา 1 ปีด้วย

ประสบการณ์การทำงาน นายไมตรี มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งการบริหารงานศาล และการพิจารณาพิพากษาคดีทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี โดยเริ่มรับราชการเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา (รุ่นที่ 23) ปี พ.ศ.2525 และได้รับความก้าวหน้า ดำรงตำแหน่งของการปฏิบัติงานผู้พิพากษาสูงขึ้นตามลำดับชั้น ซึ่งในปี พ.ศ.2538ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสงขลา และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา

Advertisement

เริ่มสะสมประสบการณ์เข้าสู่การปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษา พิจารณาพิพากษาคดีศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ในปี พ.ศ.2541 กระทั่งได้รับแต่งตั้ง เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ปี พ.ศ.2551 ก่อนจะเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ในแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ ศาลฎีกา ปี พ.ศ.2556 จากนั้นปี พ.ศ.2561 จนถึงปัจจุบัน นายไมตรี ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่ง ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ (ประธานศาลฯ คนที่ 2 นับจากศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เริ่มจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2559) ซึ่งการดูแลบริหารจัดการด้านคดีนั้น มีแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ ด้วย
ได้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 15 และหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง จากสถาบันวิทยาลัยตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 10

ยังมีประสบการณ์ความรู้ความสามารถเป็นอาจารย์บรรยายวิชากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ณ สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 ถึงปัจจุบันด้วย 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image