“บิ๊กต๊อก”เผยนักโทษมีสิทธิตาม พ.ร.ฎ. พระราชทานอภัยโทษทั่วประเทศ 2 แสนคน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 10 สิงหาคม ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีรายชื่อผู้ต้องขังรายสำคัญ หรือ”บิ๊กเนม” ที่จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ 2559 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2559 และโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2559 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ว่าขณะนี้ตนยังไม่รับรายงานว่ามีรายชื่อผู้ต้องขังคนใดที่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ 2559 อย่างไรก็ตาม การพระราชทานอภัยโทษทุกครั้งคือการลดวันต้องโทษ เมื่อลดวันต้องโทษแล้ว ซึ่งถ้าผู้ต้องขังที่ได้รับการลดวันต้องโทษและครบกำหนดโทษที่ได้รับจนหมดแล้วก็จะได้รับการปล่อยตัวเลย ซึ่งเป็นอย่างนี้ทุกครั้งเป็นการลดวันต้องโทษ

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ทุกครั้งการพระราชทานอภัยโทษก็คือการลดวันต้องโทษ เช่น ได้รับการลดวันต้องโทษจาก 1 ใน 2 หรือ 1 ใน 3 เป็นต้น จากโทษที่ศาลได้สั่งตัดสินแล้ว ดังนั้น เมื่อมาคิดตามสัดส่วนการลดวันต้องโทษที่เขาได้รับแล้ว ถ้าวันที่เขาได้รับการลงโทษอยู่มันพอดีหรือน้อยกว่า เขาก็จะได้รับการปล่อยตัว ซึ่งตรงนี้คือผลที่เขาได้รับจากการลดวันต้องโทษ แต่บางคนยังเหลือโทษก็ต้องเป็นผู้ต้องขังต่อไป แต่ในขณะที่เป็นผู้ต้องขังจากโทษที่ได้รับการลดวันต้องโทษตาม พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ผู้ต้องขังบางคนอาจจะไปเข้าหลักเกณฑ์การพักโทษต่ออีก ก็จะมีการพิจารณากันอีกครั้งตามขั้นตอน แต่ถ้าผู้ต้องขังที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ก็ต้องเป็นผู้ต้องขังต่อไป แต่วันลงโทษก็น้อยลง

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวถึงกรณีนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ต้องขังคดีทุจริตการเลือกตั้ง ว่าจะได้รับสิทธิตาม พ.ร.ฎ. ดังกล่าวหรือไม่ ว่า หากเข้าตามหลักเกณฑ์ก็ดูกันไปตามขั้นตอน แต่ตนไม่ทราบว่าเขาเหลือวันต้องโทษเท่าไหร่ ซึ่งโทษที่เขาได้รับคือ 1 ปี 6 เดือน แต่ตนไม่ทราบว่าได้รับการลดวันต้องโทษเท่าไหร่ ซึ่งถ้าเขาได้รับการลดวันต้องโทษจากโทษที่เหลืออยู่จนหมดเลย เขาก็ต้องได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเลย ทั้งนี้ การคัดกรองและตรวจสอบรายชื่อผู้ต้องขังที่ได้รับสิทธิตามพ.ร.ฎ.ดังกล่าว มีกำหนดระยะเวลา 120 วันตามที่พ.ร.ฎ.ได้ระบุไว้

“ได้สั่งให้ปลัดกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้สำรวจไว้เลย มันไม่ได้เป็นเรื่องที่จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น เจะเห็นตัวเลขกลมๆของผู้ต้องขังที่ได้รับสิทธิดังกล่าวจากพ.ร.ฎ.นี้ ประมาณ 200,000 คน จากผู้ต้องขังทุกเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศกว่า 300,000 คน ซึ่งเราก็ต้องมานั่งดูกัน โดยคาดว่าการดำเนินการคงไม่ช้า พร้อมทั้งให้จัดเป็นกลุ่มว่ากลุ่มไหนได้ปล่อยตัวเลย ได้ลดวันต้องโทษ และไม่ได้รับสิทธิ ซึ่งเรื่องผมได้สั่งล่วงหน้าเป็นเดือนแล้ว เพราะเราทราบว่าปีนี้คงต้องมีพระราชกฤษฎีกานี้แน่นอน” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

Advertisement

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ที่ชัดเจนคือเราไม่ได้พิจารณาคดีข่มขืน คดีทุจริต มาตรา343 และคดียาเสพติด ซึ่งกลุ่มที่ศาลตัดสินว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติด ซึ่งน่าจะเป็นโทษตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่เราได้ทำกันมาอยู่แล้ว แต่เราปรับเรื่องคดีข่มขืน ซึ่งเป็นการสะท้อนความรู้สึกของสังคม แต่เราก็มองถึงความเป็นธรรมและอีกหลายเรื่องด้วย อีกทั้ง เราต้องตอบสังคมให้ได้ด้วยว่าทำไมจึงไม่ประหารชีวิต ซึ่งก่อนหน้านี้มันมีกระแสมาอย่างนี้ เราก็บอกว่าเราจะพิจารณาการพักโทษให้แล้วกัน เพราะถ้าพูดถึงเรื่องโทษประหารชีวิตมันเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับแก้ไขกฎหมาย แต่เรื่องอะไรที่กระทรวงยุติธรรมได้ดูแลก็คือเรื่องการพักโทษ โดยเราก็มองถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามมาตรา 14 ของพ.ร.ฎ.อภัยโทษ2559 ระบุว่า นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษในความผิดตามมาตรา276 วรรคสาม มาตรา277 มาตรา 277 ทวิ มาตรา 277 ตรี มาตรา280 มาตรา 285 และมาตรา 343 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image