รมว.ยุติธรรม สร้างความร่วมมือภาคประชาสังคมกับกรมพินิจฯ ป้องกันการกระทำผิดซ้ำ

รมว.ยุติธรรม สร้างความร่วมมือภาคประชาสังคมกับกรมพินิจฯ ป้องกันการกระทำผิดซ้ำ ฝากกรรมการสงเคราะห์-ภาคีเครือข่ายช่วยหาแนวทางพัฒนาเด็กและเยาวชน ชี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทุกอย่างจะสำเร็จ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23 พ.ย. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จัดโครงการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคม  กับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ

โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายธนวัชร นิติกาญจนา ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม นายวิทยา สุริยะวงค์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรัตน์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ข้าราชการจากหลายภาคส่วนในกระทรวงยุติธรรม และกรรมาการสงเคราะห์และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศร่วมงาน โดยก่อนการเปิดพิธี นายสมศักดิ์ ได้เดินเยี่ยมนิทรรศการ”ความร่วมมือการสงเคราะห์กับการแก้ไข ฟื้นฟู บำบัดเด็กและเยาวชน และสร้างโอกาสแก่เด็กและเยาวชนในการต่อยอดสู่อาชีพในอนาคต”

พ.ต.ท.วรรณพงษ์ กล่าวรายงานว่า การจัดโครงการในครั้งนี้ เพื่อยกระดับความร่วมมือของกรรมการสงเคราะห์และภาคีเครือข่ายทางสังคมในการเข้ามามีส่วนร่วมผลักดัน ส่งเสริม สนับสนุน และสร้างโอกาสแก่เด็กแล้วเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันการทำผิดซ้ำ โดยยกระดับขีดความสามารถในการบริหารงานของผู้บริหารทุกระดับให้มีความเข้าใจ

Advertisement

สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์กระบวนการทำงานด้านการบริหารเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ความสามารถในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามภารกิจของกรมพินิจฯ ซึ่งเป็นการสร้างประสบการณืเรียนรู้ การสร้างแรงจูงใจ และสร้างผลงานในการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนเสริมสร้างแนว ทางดำเนินการของกรรมการสงเคราะห์ที่สอดรับกับภารกิจของกรมพินิจฯให้รู้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง

จากนั้น นายสมศักดิ์ กล่าวเปิดโครงการและปาฐกถาพิเศษ “การส่งเสริมภาคีเครือข่าย ในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชน” ตอนหนึ่งว่า การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เด็กและเยาวชนอาจจะไม่สำเร็จหากไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย และกรรมการสงเคราะห์เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เด็กและเยาวชน รวมถึงการเตรียมพร้อมให้เด็กและเยาวชนมีความพร้อม

Advertisement

ทั้งอาชีพและการฝึกทักษะต่างๆให้พวกเขากลับคืนสังคมได้ตามปกติ การจัดโครงการนี้จะเป็นการยกระดับความร่วมมือ สร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่กระทรวงยุติธรรมดำเนินการในเรื่องของภาคเครือข่าย และแนวทางที่ควรรู้และควรปฏิบัติ รวมถึงสิ่งที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด บุคลากรทุกท่านเป็นสิ่งทีาสำคัญมากๆในการปรับพฤติกรรมและแนวคิดของเด็กและเยาวชน หากทำไม่ได้จะเกิดปัญหาตามมามากมาย ซึ่งเด็กและเยาวชนมีโอกาสที่จะทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตัวเลขของเด็กและเยาวชนที่กลับไปทำผิดซ้ำ ปีแรก 22% ปีที่สอง 13% ปีที่สาม 9% รวมแล้ว 43 % เป็นสิ่งที่น่าตกใจว่า 43% จะวนเวียนกลับมาตกนี้อีก และอีกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันอย่างกรมราชทัณฑ์ ตัวเลขผู้พ้นโทษกลับมาทำผิดประมาณ 33% และส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งหน่วยงานป้องกันยาเสพติดหลักตอนนี้คือ ป.ป.ส. ที่ร่วมกับ ทหารและตำรวจ ซึ่งปีหนึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งงบประมาณก็มาจากภาษีของประชาชน


ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้ปัญหายาเสพติดหมดไป ที่ผ่านมาเราทำลายยาเสพติดไปแล้ว อย่างยาบ้า 600 ล้านเม็ดมูลค่าต้นทุนประมาณ 300 ล้านบาท ยาไอซ์ประมาณ 17,000 กว่ากิโล แต่ยาที่ผลิตที่สามเหลี่ยมทองคำมีมูลค่ากว่า 60,000 ล้านเหรียญ ตีเป็นเงินไทยประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท ตนจึงมีแนวคิดการยึดทรัพย์ตัดวงจร ถ้าเราทำแบบเดิมปัญหายาเสพติดไม่มีทางลดได้เลย ซึ่งเมื่อยาเสพติดไม่หมดปัญหาอื่นๆก็ตามมาอีก

“ในฐานะที่ผมเป็นผู้บริหาร หากเรายังปล่อยให้เขากลับมาทำผิดอีกเหมือนเดิมคือ 44% ปัญหาก็จะเหมือนเดิม แนวทางที่ผมชอบคือ ศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ท่านเข้าใจแล้ว แต่การเข้าถึงนั้นเราจะทำอย่างไรให้ตัวเลขลดลงไป เด็กวันนี้อายุไม่เกิด 18 ปี ต้องอยู่บนโลกอีกหลายสิบปี ผมถามหลายคนบอกว่าเราต้องทำให้เขาเรียนหนังสือและมีงานทำ ดผมจึงได้มอบนโยบายไปยังกรมราชทัณฑ์และกรมพินิจ เราต้องฝึกทักษะอาชีพ และควรจะพูดภาษาอังกฤษได้ รวมถึงการหัดทำบัญชี จะได้รู้การวางแผนค่าใช้จ่าย ถ้าเราดูแลให้ดีๆผลกระทบในรูปแบบอื่นๆที่จะตามมาจะลดลงไปด้วย วันนี้เราต้องร่วมมือช่วยกันทำงานทุกภาคส่วนในกระทรวงยุติธรรมให้ทุกอย่างสำเร็จไปด้วยกัน”นายสมศักดิ์ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image