ผอ.นิติวัชร์เเนะเเก้พรบ.โรคติดต่อ ให้’คกก.’มีมาตรการรับมือโควิดทันการณ์ แผนไปทางเดียวกัน

“ธนกฤต”ผอ.นิติวัชร์ อัยการเเนะ เเก้ไขพรบ.โรคติดต่อ กำหนดให้คกก.โรคติดต่อต้องมีมาตรการรับมือโควิด ทันการณ์เหมาะสมชัดเจน มีแผนปฏิบัติงานป้องกันโรคติดต่อร้ายแรงไปเเนวทางเดียวกัน ชี้บทบัญญัติรับมือโรคติดต่อกระจายไปกฎหมายหลายฉบับ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีอุปสรรค ขาดประสิทธิภาพ ไม่มีแนวทางชัดเจน บางกรณีโทษเบาเกินไป

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม  ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ผู้อำนวยการ สำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุดได้โพสต์ให้ความเห็นกฎหมายข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. โรคติดต่อ ความว่า

ตามที่เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการของร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 นั้น ผมขอให้ความเห็นส่วนตัวทางวิชาการในประเด็นข้อกฎหมาย เพื่อเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. โรคติดต่อ เฉพาะที่เป็นประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้

1. ปัญหา พ.ร.บ. โรคติดต่อ ไม่มีบทบัญญัติในการรับมือกับโรคติดต่อที่มีลักษณะร้ายแรงและมีความรุนแรง ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 เป็นการเฉพาะ

อำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 14 (1) และ (2) ของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย แนวทางปฏิบัติและแผนปฏิบัติการในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่มีลักษณะเป็นการทั่วไป
ไม่เหมาะสมกับกรณีที่เกิดโรคติดต่อที่มีลักษณะร้ายแรงและแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรุนแรงและรวดเร็วอย่างโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19

Advertisement

จึงควรมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. โรคติดต่อ โดยบัญญัติให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีหน้าที่ต้องกำหนดนโยบาย แนวทางปฏิบัติและแผนปฏิบัติการในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่มีลักษณะร้ายแรงและแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เช่นอย่างกรณีของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ไว้เป็นการเฉพาะด้วย เพื่อรับมือกับโรคติดต่อที่มีลักษณะร้ายแรงเช่นเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตข้างหน้า

2. ปัญหา พ.ร.บ. โรคติดต่อ ไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จะต้องกำหนดทิศทาง แนวทาง และแผนปฏิบัติการ ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่มีความรุนแรงและสามารถแพร่กระจายไปทั่วประเทศได้ ให้เป็นไปในแนวทางและทิศทางเดียวกัน

ทำให้พบว่าการป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่สามารถแพร่กระจายไปทั่วประเทศได้ของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ในบางครั้งมีลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างทำ ขาดการประสานการทำงานให้เป็นไปในแนวทางและทิศทางเดียวกัน หลาย ๆ จังหวัด มีมาตรการในการป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่แตกต่างกัน ทั้งที่ประชาชนมีการเดินทางไปมาในระหว่างจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศ

Advertisement

ดังนั้น จึงควรมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. โรคติดต่อ โดยกำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ต้องกำหนดทิศทาง แนวทาง และแผนปฏิบัติการ ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่มีความรุนแรงและสามารถแพร่กระจายไปทั่วประเทศได้อย่างเช่นโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ให้เป็นไปในแนวทางและทิศทางเดียวกัน ภายใต้การควบคุมและกำกับดูแลของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ

3. บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดต่อกระจายไปอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ

ในปัจจุบัน ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ประเทศไทย
มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่สามารถนำมาบังคับใช้ได้หลายฉบับ คือ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และในกรณีที่มีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นก็สามารถนำพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาใช้บังคับได้

อย่างไรก็ดี ตามที่มีการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องการแพร่ระบาดของโรคติดต่อนี้กระจัดกระจายไปอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ อาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ เกิดปัญหาและอุปสรรคทำให้ไม่ได้รับความสะดวก อีกทั้งไม่มีแนวทางและทิศทางในการบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจน

ดังนั้น หากได้มีการรวบรวมเอาบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดต่อที่อยู่ในกฎหมายหลายฉบับให้ไปรวมไว้อยู่ในกฎหมายฉบับเดียว คือ พ.ร.บ. โรคติดต่อ โดยมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ในส่วนที่บกพร่อง ไม่สมบูรณ์ ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ก็จะทำให้การกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในการป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดต่อตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ มีความครอบคลุม สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนด้วย

เช่น อาจนำเอาอำนาจตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีที่มีโรคระบาดร้ายแรง เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 มาบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. โรคติดต่อ และกำหนดมาตรการรับมือกับโรคติดต่อในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการสาธารณสุขให้มีความครอบคลุม ครบถ้วน และเหมาะสมกับการรับมือกับการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง และอาจนำเอาอำนาจตาม พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการใช้ทรัพย์สิน เครื่องมือ เครื่องใช้ วัสดุ อุปกรณ์ ยานพาหนะ อาคาร สถานที่ ของหน่วยงานรัฐอื่นและเอกชนได้ตามที่จำเป็น เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดต่อ มาบัญญัติรวมไว้อยู่ใน พ.ร.บ. โรคติดต่อด้วย

เช่นตามกฎหมายของประเทศฝรั่งเศสได้บัญญัติมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดต่อไว้ในประมวลกฎหมายการสาธารณสุข (Code de la Santé Publique) ซึ่งให้อำนาจคณะรัฐมนตรีออก รัฐกฤษฎีกาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการสาธารณสุขเมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินด้านโรคติดต่อเกิดขึ้น โดยให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการกำหนดมาตรการในการรับมือกับโรคติดต่อในสถานการณ์ฉุกเฉินไว้หลายประการ เช่น การจำกัดหรือห้ามการเดินทางของยานพาหนะหรือบุคคล การปิดสถานที่ การห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ การกักตัวผู้เป็นโรคติดต่อ การควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็น ให้อำนาจในการใช้บริการและทรัพย์สินที่จำเป็นเพื่อรับมือและต่อสู้กับโรคติดต่อ รวมทั้งมีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการสาธารณสุขเนื่องจากโรคติดต่อไว้ เช่น การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ การอุทธรณ์คำสั่งต่อศาล เป็นต้น รวมทั้งมีการกำหนดบทลงโทษในกรณีที่ฝ่าฝืนข้อห้ามที่กำหนดไว้ในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ด้วย

4. ปัญหา พ.ร.บ. โรคติดต่อไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อ และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ในการใช้เครื่องมือ เครื่องใช้ วัสดุ อุปกรณ์ ยานพาหนะ อาคาร สถานที่ ของหน่วยงานรัฐอื่นและเอกชน เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดต่อ

โดยที่บทบัญญัติของ พ.ร.บ. โรคติดต่อ มีลักษณะเป็นการป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดต่อ จึงไม่มีมาตรการรองรับการที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีความจำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือ เครื่องใช้ วัสดุ อุปกรณ์ รวมทั้งอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ ที่เป็นของหน่วยงานของรัฐอื่นและเอกชน ในการป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดต่อ ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อไม่ได้รับความสะดวก เกิดความล่าช้า และทำให้มีความจำเป็นที่อาจจะต้องนำ พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ซึ่งรองรับมาตรการในการใช้ทรัพย์สินดังกล่าวนี้ไว้มาบังคับใช้ควบคู่กันไปด้วย

ดังนั้น จึงควรมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. โรคติดต่อ โดยกำหนดให้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อ และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการโรคติดต่อ ในการใช้เครื่องมือ เครื่องใช้ วัสดุ อุปกรณ์ ยานพาหนะ อาคาร สถานที่ ของหน่วยงานรัฐอื่นและเอกชนได้ตามที่จำเป็น เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดต่อ ซึ่งจะทำให้การป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดต่อได้รับความสะดวกรวดเร็ว โดยไม่มีความจำเป็นต้องไปใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ที่เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการที่จะใช้ทรัพย์สินต่าง ๆ ดังกล่าว เมื่อมีโรคระบาดอันเป็นสาธารณภัยเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้การป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดต่อเกิดอุปสรรคความล่าช้าได้

5. ปัญหาบทกำหนดโทษในบางกรณีเบาเกินไป

บทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ในบางกรณีมีอัตราโทษที่เบาเกินไป เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 49 กำหนดว่าในกรณีผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการด้านวิชาการ หรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา 18 หรือคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตามมาตรา 22 (6) หรือคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครตามมาตรา 28 (6) หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 45 (1) ให้มาให้ถ้อยคำหรือแจ้งข้อเท็จจริงหรือทำคำชี้แจง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น เป็นอัตราโทษที่ต่ำเกินไป ไม่เหมาะสมกับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่มีการแพร่ระบาดและเป็นอันตรายแก่สาธารณชนได้ ดังนั้น จึงควรมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยกำหนดอัตราโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดให้สูงขึ้นเพื่อความเหมาะสม

6. ปัญหาองค์ประกอบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติยังขาดผู้แทนจากหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง

หากพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่เป็นหัวหน้าของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 11 แล้ว จะพบว่ายังขาดหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่สำคัญที่มีความเกี่ยวข้อง กรณีมีโรคติดต่อที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือกรมการท่องเที่ยว และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจทำให้การติดต่อประสานงานและการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดต่อที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ประสบปัญหาอุปสรรคและความไม่คล่องตัวได้

ดังนั้น จึงควรมีการแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ
ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 11 โดยควรกำหนดให้มีหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ
ที่มีความสำคัญเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือกรมการท่องเที่ยว และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image