นักอาชญาวิทยา เสนอ 7 ข้อ หยุดแพร่ระบาดโควิด พร้อมให้กล้าคิด กล้าตัดสินใจ ยึดผลประโยชน์ชาติ

จากกรณีการแพร่กระจายของโรคติดต่ออันตรายโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวซึ่งพักอาศัยและทำงานในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และเกิดการแพร่ระบาดไปยังจังหวัดอื่นในหลายพื้นที่นั้น

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า เป็นการสะท้อนสภาพสังคมไทยในหลายมิติทั้งเรื่องระบบการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว การลักลอบนำเข้าและใช้แรงงานจากคนต่างด้าว ความเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตนจากการใช้แรงงานผิดกฎหมายมากกว่าผลประโยชน์ของคนส่วนรวม ช่องโหว่ในการควบคุมพื้นที่ชายแดน การลักลอบค้าแรงงานผิดกฎหมาย และอาจรวมถึงขบวนการค้ามนุษย์ การทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่บางส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผลประโยชน์จากแรงงานต่างด้าว การป้องกันโรคระบาดในเชิงรุก และระบบสาธารณสุขในกลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างด้าวทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เป็นต้น ในประเด็นดังกล่าว ได้มีข้อเสนอที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

1.ควรมีการปิดกั้นพื้นที่ที่เป็นแหล่งแพร่กระจายของโรคให้เร็วที่สุด หรือที่เราเรียกกันว่าล็อคดาวน์ เหมือนกับที่การแพร่ระบาดของโรคในช่วงแรกที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ตัดสินใจอย่างรวดเร็วในการปิดกั้นพื้นที่ มิให้คนในออก คนนอกเข้า เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.การเร่งติดตาม ตรวจสอบบุคคลที่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ กลุ่มเสี่ยงต่างๆ และการเร่งสอบสวนเพื่อควบคุมโรคโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานต่างด้าว

Advertisement

3.การเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความจริงต่อสาธารณชนเกี่ยวกับตัวเลขผู้ติดเชื้อ และบุคคลกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ดังที่ทราบกันดีว่าผู้ได้รับเชื้อโควิด-19 ในช่วงแรกมักจะไม่แสดงอาการ ดังนั้น หากบุคคลเหล่านั้น ยังมีการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ จะส่งผลต่อการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น

4.การรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และขอความร่วมมือให้ทุกคนช่วยลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่นไทยชนะเมื่อไปทำกิจกรรม หรือเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องสร้างความมั่นใจให้ได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านั้นจะไม่ถูกเผยแพร่ หรือนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง

5.การเข้าถึงแรงงานต่างด้าวทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายเพื่อตรวจคัดกรอง และควบคุมโรค จัดให้มีระบบลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องแบบชั่วคราวโดยเร่งด่วน มิฉะนั้นแล้วหากแรงงานต่างด้าวเหล่านั้นติดเชื้อ อาจเป็นพาหะและเมื่อหลบหนีไปยังที่ต่างๆ จะยิ่งทำให้การควบคุมโรคเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

Advertisement

6.จัดตั้งอาสาสมัครระดับชุมชนนอกเหนือจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อช่วยกันในการติดตาม เฝ้าระวัง และดูแลบุคคลกลุ่มเสี่ยงต่างๆในระดับพื้นที่ เหมือนที่เราประสบความสำเร็จในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ในช่วงแรก ที่บางพื้นที่มีการการติดธงหน้าบ้านบุคคลที่ต้องถูกกักบริเวณและให้คนในชุมชนช่วยกันดูแล ซึ่งอาสาสมัครดังกล่าวอาจจะมีทั้งที่จัดให้มีค่าตอบแทนและจิตอาสา

7.ความกล้าตัดสินใจในระดับนโยบาย ที่ต้องมีความสมดุลย์ในมิติของงานด้านสาธารณสุข
ความมั่นคง ปลอดภัย ธุรกิจและการท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ตาม หากการแพร่กระจายของโรคไม่สามารถควบคุมได้ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการเดินทางของคนในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท้ายที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อคนทุกกลุ่มทั้งประเทศ ก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมามากยิ่งขึ้น

ประเด็นดังกล่าว สะท้อนการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข แรงงาน ภาคธุรกิจ และประชาชนทั้งในระดับนโยบาย และระดับพื้นที่ยังคงเป็นสิ่งท้าท้ายแนวทางการทำงาน และการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลปัจจุบันในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่กระนั้นก็ตาม การจัดการปัญหาดังกล่าวจะประสบความสำเร็จไม่ได้ ถ้าขาดการกล้าคิด กล้าตัดสินใจ โดยยึดผลประโยชน์ของคนในชาติเป็นสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image