′บิ๊กต๊อก′เตรียมประกาศแผนที่′โซนนิ่ง′ 69 จังหวัด กำหนดพื้นที่เฝ้าระวังเด็กแว้น9 จว.

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 14 มกราคม ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการประสานกำกับติดตามผลการดำเนินงานตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 22/2558 (ศอ.กต.) ครั้งที่ 1/2559 เพื่อติดตามการแก้ปัญหาเด็กแว้น สถานบริการที่กระทำผิดกฎหมาย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม เช่น นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัด ยธ. นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กรมการปกครอง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมกิจการเด็กและเยาวชน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยใช้เวลาในการประชุมประมาณ 2 ชั่วโมง

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวภายหลังการประชุมว่า เนื่องจากวันที่ 22 มกราคมนี้ จะครบกำหนดตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ต้องดำเนินการในแต่ละเรื่อง ดังต่อไปนี้ 1.นิยามคำว่าใกล้สถานศึกษา ซึ่งเรามอบให้กรมสรรพสามิตเป็นผู้กำหนดสถานบริการ สถานที่ขายสุราใกล้สถานศึกษา โดยสรุปว่า ในวันนี้ได้กำหนดออกมาเป็นแผนที่ใกล้สถานศึกษาเรียบร้อยแล้ว 3 เขตพื้นที่การศึกษา คือ อุดมศึกษา อาชีวศึกษา และมัธยมศึกษา ซึ่งเราจะเสนอครม.ให้รับทราบ เพื่อจะได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ประชาชนได้ทราบต่อไป และยังสามารถสอบถามข้อมูลไปยังกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดได้ด้วย ทั้งนี้ อีก 2 พื้นที่ คือ ประถมศึกษา และอนุบาล ทางศอ.กต. จะเร่งดำเนินการ แต่ต้องขอครม.ขยายระยะเวลาดำเนินการออกไปก่อน

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า สำหรับอนุบาลนั้น จะอยู่ในเกณฑ์ที่จะขออนุมัติครม.ในเรื่องการผ่อนผัน เพราะทราบว่าไม่เป็นปัญหาเท่าไรนัก และอนุบาลก็มีจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้กระทบต่อระบบเศรษฐกิจการค้าขาย และจากการฟังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็เห็นพ้องกันว่า เด็กระดับอนุบาลไม่เป็นปัญหา จึงจะขอผ่อนผันออกไประยะหนึ่ง 2.การจัดโซนนิ่ง ของกระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่จะครบกำหนดในวันเดียวกัน ซึ่งสรปุว่า มีการจัดโซนนิ่งเรียบร้อยแล้ว 69 จังหวัด ส่วนอีก 8 จังหวัด ซึ่งรวมถึงกทม.ด้วย ยังไม่เรียบร้อย จึงต้องขอขยายเวลาจาก ครม. เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเมื่อนายกรัฐมนตรีรับรองแล้ว มท.จะต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งจะเป็นเรื่องของการประกอบธุรกิจ สถานบริการ จึงต้องใช้ความรอบคอบ และ 3.รวบรวมเด็กนอกสถานศึกษา ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ มท. ที่ประชุมเห็นว่า เป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของ พม. อยู่แล้ว จึงนำเรื่องนี้ออกไป และไม่ใช่หน้าที่ของ ศอ.กต.

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับสถานที่บริการใกล้สถานศึกษา คือ 1.ในกรณีที่โรงแรมเปิดใหม่ แล้วอยู่ในเขตใกล้สถานศึกษาที่เรากำหนดไว้จะอนุญาตหรือไม่ เพราะกฎหมายโรงแรมให้มีสถานที่บริการลักษณะนี้ตั้งอยู่ภายในโรงแรมได้ และ 2.ร้านจำหน่ายสุราประเภทขายส่ง หากอยู่ในเขตที่เรากำหนดไว้จะอนุญาตหรือไม่ ซึ่งเราได้พิจารณาว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อแก้ไขไม่ให้เยาวชนเข้าไปร้านค้าปลีกในการดื่ม อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความรอบคอบ จึงให้กลับไปหารือกันอีกครั้ง

Advertisement

“เจตนารมณ์แล้ว ร้านค้าส่งก็ไม่ขัดเจตนารมณ์ แต่โรงแรมขัดเจตนารมณ์ แต่โรงแรมเป็นสถานที่การท่องเที่ยวอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะกฎหมายฉบับนี้ถ้าเราควบคุมอะไรได้มันก็จะดี” รมว.ยุติธรรม กล่าว

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวด้วยว่า สำหรับการแก้ปัญหาการแข่งรถในทาง ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นว่า ไม่สามารถระงับยับยั้งทุกจุดได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ แต่เราได้กำหนดพื้นที่ที่อันตรายและพื้นที่เฝ้าระวังไว้ทั้งหมด 9 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มภาคกลาง ที่เกิดเหตุเป็นประจำ อีกเรื่องคือ การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดตามคำสั่งคสช.ที่ 22/2558 แต่มีบางหน่วยงานที่ยังใช้กฎหมายยังไม่เข้มแข็งเท่าไรนัก ซึ่งต้องขอความร่วมมือด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า การจัดโซนนิ่งห่างจากสถานศึกษาจะมีการกำหนดอย่างไร พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า จะมีการทำเป็นแผนที่ และกำหนดเขตถนนอย่างชัดเจน ซึ่งโซนนิ่งมี 2 ส่วน คือ โซนนิ่งของสถานบริการ และโซนนิ่งใกล้สถานศึกษา ซึ่งกรณีใกล้สถานศึกษาเราจะมีแผนที่กำหนดให้อย่างละเอียด ทั้งนี้ เราคงไม่ขีดชัดทุกซอกทุกซอย แต่จะมีเขตถนนที่ชัดเจน และลักษณะภูมิประเทศที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เตรียมจะเสนอเข้า ครม. ก่อนวันที่ 22 ม.ค.นี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image