บุกคลินิกโบท็อกซ์สยองย่านห้วยขวาง ลูกค้าร้องหน้าเบี้ยว รวบหมอเก๊อ้างจบจากเกาหลี

 

เมื่อเวลา16.00น.วันที่19สิงหาคม นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมพ.ต.ท.อภิชัย ไลออน รอง ผกก.4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)และเจ้าหน้าที่กองกฎหมายกรม สบส. ร่วมกันเข้าตรวจสอบ คลินิกแห่งหนึ่งบนถนนเทียนร่วมมิตร แขวงและเขตห้วยขวาง กทม. ใกล้สถานีรถไฟใต้ดินศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่เข้าใช้บริการว่าหลังจากฉีดโบท็อกซ์เข้าไปแล้วทำให้หน้าเบี้ยว และเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง

ทั้งนี้จากการเข้าตรวจสอบคลินิกดังกล่าว พบเป็นอาคารพานิชย์ชั้นเดียว มีลักษณะการเปิดเป็นคลินิกเสริมความงาม มีการแบ่งพื้นที่เป็นห้องเพื่อไว้รองรับลูกค้าที่มาใช้บริการ โดยมีน.ส.พิชญนันท์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ28ปี รับเป็นเจ้าของและผู้ให้บริการ นอกจากนี้ยังพบหลอดใส่เลือด 23 หลอด เครื่องปั่น 2 เครื่อง ยาเวชภัณฑ์แผนปัจจุบันหลายรายการที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน อย. เจ้าหน้าที่จึงเก็บของทั้งหมดไว้เป็นหลักฐาน

สอบสวนน.ส.พิชญนันท์มาส ทราบว่าเป็นผู้ดูแลและเป็นผู้ให้บริการกับลูกค้า เปิดให้บริการมาประมาณ6-7 เดือนแล้ว โดยน.ส.พิชญนันท์ อ้างว่าได้เรียนจบแพทย์จากประเทศเกาหลี ด้านการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วพบว่าไม่เป็นความจริง โดยวิธีการให้บริการคือจะทำการเจาะเลือดของผู้เข้าใช้บริการมาปั่นแยกตะกอนออกจากเลือด และนำเลือดมาฉีดใต้ผิวหนังเพื่อเสริมความงามให้ดูอ่อนเยาว์ขึ้น ซึ่งทางร้านได้มีการสื่อสารเพื่อจูงใจให้คนเข้ามาใช้บริการว่ากำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้

Advertisement

บุกจับคลินิกเถื่อน

ด้านนาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวว่าการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการรับรอง ซึ่งขณะนี้ทาง สบส. กำลังผลักดันร่างพระราชบัญญัติเซลล์บำบัดเพื่อใช้ในการรักษาโรคให้มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการรักษาโรคอย่างมีคุณภาพและเป็นไปตามหลักวิชาการ ประชาชนมีความปลอดภัย จึงอยากฝากถึงผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายในการเปิดสถานบริการความงาม และผู้เข้าใช้บริการต้องดูว่า1.สถานบริการที่เข้าใช้บริการมีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการในที่ที่เห็นได้ง่าย 2.สถานพยาบาลจะต้องติดป้ายชื่อ ประเภทและลักษณะการให้บริการของสถานบริการรวมทั้งเลขที่ใบอนุญาต11หลัก 3.พนักงานภายในสถานบริการจะต้องติดป้ายชื่อพร้อมรูปถ่าย และเลขที่ใบอนุญาตของแพทย์ผู้ทำการรักษา หากพบเบาะแสหรือสถานบริการต้องสงสัยสามารถแจ้งสายด่วน สบส.ได้ตลอด24 ชั่วโมง

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหา “ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาต, จำหน่ายยาแพทย์แผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาติ, จำหน่ายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา และทำการปิดการดำเนินงานของคลินิกดังกล่าวทันที

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image