“บิ๊กต๊อก”โชว์ผลงานยธ.1ปีแก้กม.421ฉบับ ปรับคุก- คุมประพฤติ-ขับเคลื่อนยุติธรรมชุมชน

ช่วงสายๆ วันที่ 13 มกราคม ณ ลานอเนก ประสงค์ อาคารศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นคอนเวนชั่นฮอลล์ย่อมๆ ตั้งเวทีจัดโพเดียม บางสัดส่วนออกบูธ แสดงผลงานหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม

ถึงเวลา 10.00 น. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายธวัชชัย ไทยเขียว นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายวิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ นางกรรณิการ์ แสงทอง อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ นายณรงค์ รัตนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พร้อมทั้งผู้บริหารของกระทรวงยุติธรรมเข้าร่วมแถลงผลงานของกระทรวงในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา

พล.อ.ไพบูลย์ ในฐานะเจ้ากระทรวงไม่รอช้า ขึ้นโพเดียมร่ายยาวทันที เริ่มต้นจากปัญหาในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาว่าพบอะไรบ้าง

“รัฐบาลนี้กำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ 20 ปี เมื่อเข้ามาบริหารกระทรวงยุติธรรม จึงต้องมาดูว่าอะไรคือปัญหาที่จะต้องดำเนินการในกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี ปัญหาที่พบ คือ 1.เราไม่สามารถนำงานบริการของรัฐไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงได้ 2.หน่วยงานของกระทรวงยุติธรรมหลายกรมเป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาล แต่เราไม่สามารถนำหน่วยงานเหล่านี้ไปบูรณาการทำงานกับหน่วยอื่นได้ เช่น ป.ป.ส. ป.ป.ท. หรือกรมคุมประพฤติ ต้องอาศัยหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยกันดำเนินงานในลักษณะนี้ 3.กระทรวงยุติธรรมมีหน่วยงานใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น ดีเอสไอ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.) กรมคุ้มครองสิทธิฯ เป็นต้น

Advertisement

“บางหน่วยงานไม่มีกฎหมาย ไม่มีกรอบการทำงานที่ชัดเจน จึงต้องดูว่าเราจะทำอย่างไร และ 4.หน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมขาดความเชื่อถือจากประชาชน เช่น ดีเอสไอถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองของแต่ละฝ่ายแต่ละด้าน กรมคุมประพฤติก็ยังเป็นหน่วยงานที่ไม่สามารถฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดได้เลย ยังมีอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการให้เข้าถึงประชาชนได้ เนื่องจากหลายกรมไม่มีหน่วยงานท้องถิ่น คาดว่าภายในปี 2559 จะเห็นการขยายตัวของกระบวนการยุติธรรมระดับจังหวัด ที่จะเข้าไปถึงชุมชนและตำบล

เมื่อบอกถึงปัญหาที่พบแล้ว พล.อ.ไพบูลย์จึงจัดกรอบการทำงานของกระทรวงใหม่ เพื่อให้ทุกหน่วยทำงานร่วมกันได้ กระทรวงยุติธรรมจึงจัดกรอบขึ้น 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการอำนวยยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 2.ด้านการสร้างสังคมแห่งความปลอดภัย 3.ด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 4.ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 5.ด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ และ 6.ด้านการพัฒนากฎหมายของประเทศ

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ไพบูลย์เน้นย้ำว่า ขณะนี้พยายามให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับการทำงาน เพื่อสามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง โดยปัจจุบันกระทรวงกำลังทำ พ.ร.บ.ศูนย์ยุติธรรมชุมชน ซึ่งศูนย์ยุติธรรมชุมชนเป็นศูนย์ที่มีประโยชน์ต่อประชาชน เป็นการทำงานของภาคประชาชนอย่างแท้จริง โดยจะทำเรื่องการไกล่เกลี่ยระดับชุมชน ประชาชนจะเข้ามามีบทบาทดำเนินการเอง ที่ผ่านมาพวกเขาก็ทำกันอยู่แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ทั้งนี้หมายรวมถึงการรับรู้สิทธิของตัวเอง และเรื่องกฎหมายต่างๆ เป็นต้น

Advertisement

“นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมยังมีในส่วนของกฎหมายอื่นๆ อีกที่เราพยายามแก้ไข เช่น กฎหมายล้มละลายของกรมบังคับคดี ผมมองว่ากรมบังคับคดีจะเป็นอีกกรมที่ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศด้วย” พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

ต่อมาเป็นงานของกลุ่มสร้างสังคมปลอดภัย พล.อ.ไพบูลย์บอกว่า กลุ่มของการสร้างสังคมแห่งความปลอดภัย ทำให้เชื่อมั่นว่ากรมราชทัณฑ์ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มียาเสพติด และไม่มีผู้มีอิทธิพลในเรือนจำ เราได้ขอให้ภาคเอกชนเข้าไปร่วมดำเนินการกับเรา รวมถึงเปิดให้สื่อมวลชนเข้าไปดูแลได้ การจัดซื้อจัดจ้าง ขยายให้ภาคเอกชนเข้าไปแข่งขันกันได้อย่างเสรี

“นอกจากนี้ยังเปิดเรือนจำให้เป็นที่รับรู้ของทุกคนได้สิ่งที่เราจะทำต่อไป คือ ทำอย่างไรจะแก้ปัญคนล้นคุกได้ เรื่องนี้ต้องสร้างกันทุกกระทรวง ต้องร่วมมือกัน กรมราชทัณฑ์ มีภาพลักษณ์ของแดนสนธยาและแหล่งเผยแพร่วิชาโจร ผมได้เข้ามาแก้ไขด้วยการจัดให้มีเรือนจำความมั่นคงสูง เรือนจำปกติ หรือเรือนจำระดับกลาง และเรือนจำชั่วคราว หรือโครงสร้างเบา เพื่อฝึกวิชาชีพให้ผู้ที่ใกล้พ้นโทษและได้รับการพักโทษ ผมอยากทำให้ทุกคนมองเห็นว่า คนที่พ้นโทษไปจะเข้าไปอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างไร และจะเกิดความปลอดภัยจริงหรือไม่ ซึ่งกรมคุมประพฤติจะเข้ามารับช่วงดูแลต่อ แต่ละปีจะมีผู้เข้าสู่ระบบ 300,000-400,000 คน มีการหลบหนี 40,000-50,000 คน ถือเป็นอันตรายต่อสังคม

“หลังจากนี้ขอให้สังคมจับตากรมคุมประพฤติ เพราะต่อไปจะมีบทบาทในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น หากมีการตัดสินคดีสำคัญอื่นๆ หรือคดีเด็ดขาด จะมีการใช้มาตรการอื่นแทนการจำคุกซึ่งเป็นหลักสากลที่ใช้กันในหลายประเทศ รวมถึงงานด้านยาเสพติด ต้องยอมรับว่าในชุมชนยังมีการค้าและการเสพ โดยจะมีมาตรการป้องกัน ปราบปราม และฟื้นฟูผู้ติดยาให้เข้าไปถึงระดับชุมชน การแก้กฎหมายยาเสพติดคืบหน้ามากแล้ว รับรองว่าจะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมแน่นอน เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่เป็นสิ่งสำคัญที่กระทรวงยุติธรรมต้องดำเนินการ คาดว่าภายใน 2 เดือนจะนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมยอมรับและชี้แจงให้ทุกคนเข้าใจต่อไป

“นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมยังมียุทธศาสตร์ในการบูรณาการแก้ไขกฎหมายทั้งระบบ ที่ผ่านมามีการเสนอแก้ไขกฎหมาย 421 ฉบับ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการใช้แรงงานเรือประมง ทำให้ไทยมีปัญหาถูกกีดกันการค้า ส่วนหนึ่งเกิดจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และกฎหมายที่ล้าสมัย จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางเข้าไปประสานงานเพื่อจัดระบบการแก้ไขกฎหมายของทุกกระทรวง” พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

มาถึงช่วงสุดท้ายของการแถลงข่าว เมื่อถามถึงพอใจการดำเนินการของกระทรวงยุติธรรมในรอบ

1 ปีที่ผ่านมาหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์บอกว่า พอใจหรือไม่ ไม่เคยประเมินตัวเอง แต่อยากให้ทุกคนประเมินตนมากกว่า เพราะไม่รู้ว่ามีอะไรบ้างที่เป็นข้อผิดพลาดหรือไม่ผิดพลาดบ้าง

อย่างไรก็ดี พล.อ.ไพบูลย์ให้คำมั่นว่า “จะวางรากฐานให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image