ภาคีนักกฎหมายสิทธิฯ จี้ ตร.หยุดสลายการชุมนุม ย้ำเหตุใช้ความรุนแรงกับ ปชช.ฟันแพ่ง-อาญา-วินัย

ภาคีนักกฎหมายสิทธิฯ จี้ ตร.หยุดสลายการชุมนุม ไม่คุมตัวผู้ถูกจับไว้นอกสถานที่ตาม กม.รับรอง รับผิดชอบการกระทำ ทั้งทางแพ่ง-อาญา-วินัย

จากกรณี “ราษฎร” จัดกิจกรรม “นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วานนี้ (13 กุมภาพันธ์) ภายหลังยุติการชุมนุมได้เกิดเหตุปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม โดยโลกทวิตเตอร์ร่วมกันแชร์คลิปและภาพ พร้อมข้อความที่ระบุว่าทีมแพทย์อาสาโดนกระทืบบาดเจ็บสาหัส รวมถึงวิจารณ์กรณีที่ผู้ชุมนุมถูกตำรวจรุมควบคุมตัวด้วยความรุนแรงนั้น

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องหยุดการสลายการชุมนุมของประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และไม่ควบคุมตัวผู้ถูกจับนอกสถานที่ที่กฎหมายรับรองไว้

ออกแถลงการณ์ระบุว่า เมื่อเวลา 21.30 น. ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ที่บริเวณถนนหน้าพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมฝูงชนได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมสาธารณะของกลุ่มผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันในนามราษฎร “นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน” โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังและอาวุธต่อประชาชนทำให้มีประชาชนที่ได้บาดเจ็บถูกส่งไปยังโรงพยาบาล จำนวน 5 ราย

Advertisement

ในจำนวนนี้มีประชาชนที่ถูกกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ยิงเข้าที่ปาก จนทำให้ฟันหัก และทีมงานแพทย์อาสาที่ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายโดยการถูกรุม (กระทืบ) ทำร้ายอย่างรุนแรง การ์ดของผู้ชุมนุมถูกยิงเข้าที่ช่องท้อง อาการหนัก บาดเจ็บสาหัสเข้า ICU ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหละหลวมของเจ้าหน้าที่ในการปกป้องและรักษาความสงบเรียบร้อย

อ่านข่าว : ชมภาพชุดชุมนุม ‘นับหนึ่งถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน’

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้จับกุมประชาชน รวม 11 คน ไปที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (บก.ตชด.ภาค 1) โดยในจำนวนนี้หลายคน อาทิ ผู้หญิง 1 คน และคนไร้บ้าน 1 คน ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมแต่อย่างใด ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังบังคับและทำร้ายด้วย อีกทั้งหลังจากจับกุมแล้วเจ้าหน้าที่ได้นำผู้ต้องหาไปควบคุมที่ บก.ตชด.ภาค 1 และดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการชุมนุม

Advertisement

จากสถานการณ์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติโดยมิชอบด้วยกฎหมายสำคัญ สองประการ คือ

ประการแรก การสลายการชุมนุมต่อประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญจะกระทำไม่ได้ กล่าวคือ การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนเพื่อแสดงออกและเรียกร้องต่อรัฐบาลให้หยุดคุกคามและปล่อยตัวผู้ถูกดำเนินคดี จากการออกใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ถือเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่พึงกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44 ประชาชนผู้ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมต้องไม่ถูกมองและหรือถูกกระทำโดยรัฐเยี่ยงอาญชกร และรัฐมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่ 21 ที่รัฐจะใช้อำนาจและกำลัง เพื่อจำกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้ และเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักการดูแลการชุมนุม คือ ต้องรักษาชีวิตของผู้ที่อยู่ในสถานที่ชุมนุมทุกคน อีกทั้งการจับกุมหรือทำร้ายใช้กำลังกับแพทย์หรืออาสาแพทย์ในที่ชุมนุมจะกระทำไม่ได้ไม่ว่าด้วยกรณีใดๆ

พฤติการณ์การสลายการชุมนุมที่ใช้กำลังความรุนแรงจนมีผู้ได้รับอันตรายตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศรับรองไว้ ทั้งยังไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเรื่องการสลายการชุมนุมตามหลักสากล

ประการที่สอง การควบคุมตัวหรือสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากสถานที่ดังกล่าวไม่ใช่ที่ทำการของพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนและท้องที่ที่เกิดเหตุ คือ สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องนำตัวผู้ต้องหาไปดำเนินการสอบสวนในสถานที่ทำงานของตนเอง ตามความในประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 83 ที่บัญญัติว่า

“ในการจับนั้น เจ้าพนักงาน หรือราษฎร ซึ่งทำการจับ ต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับนั้นว่าเขาต้องถูกจับ แล้วสั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับ พร้อมด้วยผู้จับ เว้นแต่ สามารถนำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบได้ ในขณะนั้นให้นำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดังกล่าว…”  ถือเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ

จากเหตุการณ์ข้อเท็จจริงข้อกฎหมายและกติการะหว่างประเทศที่กล่าวมาข้างต้น ภาคีฯขอเรียกร้องให้รัฐบาล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับปฏิบัติการปฏิบัติดังนี้

1.ยุติการใช้อำนาจที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การความคิดเห็น และการชุมนุมโดยสงบของประชาชน โดยต้องอำนวยความสะดวกให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ และปกป้องความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุมโดยทันที

2.การจับกุม ควบคุมตัว ผู้เข้าร่วมชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายแเละกติกาสากลระหว่างประเทศที่รัฐไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอย่างเคร่งครัด และต้องนำตัวผู้ต้องหาไปดำเนินการสอบสวนยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับเท่านั้น

อ่านข่าว : เปิด 11 รายชื่อ ถูกรวบคาม็อบ #13กุมภาฯ

3.รัฐต้องดำเนินการให้หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน รับผิดชอบการกระทำดังกล่าว ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย เพื่อไม่สร้างวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด และป้องปรามป้องกันไม่ให้มีการกระทำของเจ้าหน้าที่เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

4.เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ เป็นอิสระ และปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อผดุงความยุติธรรมและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของบุคคลกลุ่มใด ต้องพิทักษ์สันติราษฎร์ ดูแลความสงบเรียบร้อย ปกป้องความปลอดภัยให้แก่ประชาชนและผู้ชุมนุม จะต้องไม่มองประชาชนและผู้ชุมนุมเป็นศัตรูที่จะต้องจัดการ ตลอดจนต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ เป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจบงการของผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจออกคำสั่งที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

เพื่อเกียรติภูมิและความศักดิ์สิทธิของกฎหมายของระบอบประชาธิปไตย
ภาคีนักฎหมายสิทธิมนุษญชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image