อ่านตรงนี้ โฆษกศาลเผยใครเป็นผู้เสียหายคดีอาญา มีสิทธิอะไรบ้าง

โฆษกศาลเปิดเผยใครเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา มีสิทธิอะไรบ้าง หลัง ปธ.ศาลฎีกายกระดับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้เสียหายทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 64 จากกรณีที่ นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในคดีอาญาในศาลทั่วประเทศที่อาคารศาลอาญา

อ่านศาลยกระดับศูนย์คุ้มครองผู้เสียหายคดีอาญา คดียังไม่ถึงศาลเข้าให้ข้อมูลก่อน ประกอบพิจารณาคดีศาลชั้นต้น

นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้ให้ความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับประเด็นเรื่องใครเป็นผู้เสียหายทางคดีอาญา และผู้เสียหายมีสิทธิอะไรบ้าง ว่า

Advertisement

“ผู้เสียหาย” ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) หมายถึง “บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดทางอาญาฐานใดฐานหนึ่ง…”
มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้
1. มีการกระทำความผิดทางอาญาฐานใดฐานหนึ่งขึ้น
2. เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดนั้น
3. ไม่เป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด

ผู้เสียหายมีสิทธิอะไรบ้าง

1.สิทธิร้องทุกข์และถอนคำร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ
2.สิทธิในการฟ้องคดีอาญาและถอนฟ้องคดีอาญา
3.สิทธิในการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
4.สิทธิในการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ
5.สิทธิที่จะยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการ
เป็นโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
6.สิทธิคัดค้านการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา หรือจำเลยในกรณีที่ศาลรับฟ้องแล้ว
7.สิทธิที่จะไม่ต้องตอบคำถามโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งอาจทำให้ผู้เสียหายในฐานะพยานถูกฟ้องคดีอาญา
8.สิทธิในการรับรู้ความคืบหน้าของคดีและผลของคำพิพากษา
9.สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นและข้อกังวลใจต่อศาล
10.สิทธิขอให้ศาลตั้งทนายความให้
11.สิทธิขอให้จัดให้มีการยืนยันหรือชี้ตัวผู้กระทำผิดในสถานที่
ที่เหมาะสมและมิให้ผู้เสียหายถูกมองเห็น
12.สิทธิในการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอม ข้อพิพาทเพื่อเยียวยาค่าเสียหาย
เเละอื่น ๆ

Advertisement

โครงการนี้ศาลยุติธรรมได้จัดตั้ง “ศูนย์กลางข้อมูลผู้เสียหาย” ให้เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลและความประสงค์ในการใช้สิทธิทางศาลของผู้เสียหาย ซึ่งสามารถแจ้งสิทธิได้โดยสะดวกตั้งแต่แจ้งความดำเนินคดีโดยไม่ต้องรอให้มีคดีมาถึงศาลก่อน

ทั้งนี้ ผู้เสียหายสามารถให้ข้อมูลตามแบบแสดงความประสงค์ได้ตาม 4 ช่องทาง ดังนี้ 1. กรอกแบบแสดงความประสงค์ส่งไปยังศูนย์กลางข้อมูลผู้เสียหาย ทางเว็บไซต์ https://cios.coj.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

2. แจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในคดีอาญาประจำศาลชั้นต้นทุกแห่งที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั่วราชอาณาจักร เช่น ศาลอาญา ศาลจังหวัด ศาลแขวง ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด โดยไม่จำกัดว่าเป็นศาลที่มีเขตอำนาจหรือไม่ ในวันและเวลาราชการ

3. ดาวน์โหลดและพิมพ์แบบแจ้งความประสงค์จากเว็บไซต์ของศาลยุติธรรม https://cios.coj.go.th กรอกข้อความแล้วจัดส่งทางไปรษณีย์มาที่ “ศูนย์กลางข้อมูลผู้เสียหาย” ที่อยู่ สำนักกิจการคดี อาคารศาลอาญา ชั้น 6 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร 02 512 8138

4. กรณีที่มีการยื่นคำร้องขอผัดฟ้อง ฝากขัง หรือยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายสามารถแสดงความประสงค์ในการใช้สิทธิที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ของศาลดังกล่าว เพื่อความรวดเร็ว ในวันและเวลาราชการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 2564 เป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image