“พล.ต.อ.ชัยยง”แจงให้10ตร.ชุดปราบยาสงขลา กลับรับราชการ หลังสอบไม่ผิดวินัยร้ายแรง ยันไม่ป้องคนผิด

พล.ต.อ.ชัยยง กีรติขจร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ชัยยง กีรติขจร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.)รับผิดชอบงานวินัย ชี้แจงกรณีลงนามคำสั่ง ตร.ที่ 231/2559 ลงวันที่ 22 เมษายน 2559 ลงโทษ พ.ต.ท.ธเนศ พงษ์รอด สว.สส.กก.สส.บก.ภ.จว.สงขลา หัวหน้าชุดปราบปรามยาเสพติด บก.ภ.จว.สงขลา พร้อมพวก รวม 10 นาย ฐานผิดวินัยไม่ร้ายแรง และให้กลับเข้ารับราชการ หลังถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยร้ายแรง ตามคำสั่ง ตร.ที่ 187/2558 ลงวันที่ 3 เมษายน 2558 จากกรณีนายตำรวจทั้ง 10 นาย ทำการจับกุมนายธีระพัฒน์ เสรีเกียรติดิลก อายุ 33 ปี ผู้ต้องหายาเสพติด พร้อมยาไอซ์ และถูกคุมตัวไว้ในเซฟเฮาส์แห่งหนึ่ง ก่อนจะพบศพนายธีระพัฒน์ ผูกคอตาย อย่างมีเงื่อนงำ โดยผลชันสูตรแพทย์นิติเวช โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ พบซี่โครงด้านขวาของนายธีระพัฒน์ หัก 4 ซี่ และปอดฉีกขาด

พล.ต.อ.ชัยยง กล่าวว่า สำหรับกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 นายธีระวัฒน์ เสรีเกียรติดิลก บิดาของธีระพัฒน์ ร้องขอความเป็นธรรมต่อศูนย์ดำรงค์ธรรม จ.สงขลา ว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 พ.ต.ท.ธเนศ กับพวก ร่วมกันจับกุมนายธีระพัฒน์ พร้อมยาไอซ์ จากนั้นนำตัวไปควบคุมไว้ที่บ้านเลขที่ 28 หมู่ 5 ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ตั้งแต่วันที่ 7 – 9 มีนาคม 2558 แต่ไม่ได้นำตัวส่งพนักงานสอบสวน ก่อนจะพบว่านายธีระพัฒน์ ผูกคอเสียชีวิตในห้องควบคุม จากการตรวจชันสูตรพลิกศพนายธีระพัฒน์ พบว่า มีกระดูกซี่โครงหัก4ซี่ ปอดมีรอยฉีกขาด 2 เซนติเมตร ทำให้ทางญาติติดใจสงสัยสาเหตุการเสียชีวิต และเชื่อว่าผู้เสียชีวิตถูกเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมซ้อมทรมานจนเสียชีวิต

พล.ต.อ.ชัยยง กล่าวต่อว่า ต่อมาตนได้ลงนามในคำสั่ง ตร. ที่ 187/2558 ลงวันที่ 3 เมษายน 2558 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตำรวจทั้ง 10 นาย โดยให้ พล.ต.ต.จักรกฤษศณ์ สิงห์ศิลารักษ์ รองจเรตำรวจ (สบ7) เป็นประธานคณะกรรมการ พร้อมมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน คณะกรรมการสอบสวนใช้เวลาเกือบ 1 ปี ก่อนจะเสนอผลการสอบสวนมายังตน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสำนวนการสอบสวน พบว่าพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ปรากฏไม่มีประเด็นให้สอบสวนต่อ หรือสั่งเป็นอย่างอื่นได้ ไม่มีข้อเท็จจริง หรือหลักฐานบ่งชี้นายตำรวจทั้ง10นาย กระทำผิดวินัยร้ายแรง แต่การที่ผู้ต้องหาเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของตำรวจตรงนี้ถือว่าเป็นความบกพร่องในการทำงาน ขณะเดียวกันกรณี พ.ต.ท.ธเนศ ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มาตรา 14 เจ้าหน้าที่ที่มีบัตรเจ้าพนักงานป.ป.ส.สามารถนำตัวผู้ต้องหาไปควบคุมได้ 3 วัน เพื่อสืบสวนขยายผลผู้ต้องหา แต่กรณีนี้กลับไม่รายงานต่อเลขาธิการ ป.ป.ส.ตามระเบียบ ถือเป็นความผิด แต่ไม่ถึงขั้นความผิดวินัยร้ายแรง ฉะนั้นเมื่อพยานหลักฐาน และข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบพบเป็นเช่นนี้ เราต้องให้ความเป็นธรรมกับตำรวจด้วย ขณะที่ในส่วนของคดีการเสียชีวิตเป็นเรื่องคดีอาญาก็ว่ากันไปตามกระบวนการ ขณะนี้คดีอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.

พล.ต.อ.ชัยยง กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีคำสั่งศาลจังหวัดสงขลาที่ไต่สวนถึงสาเหตุการเสียชีวิตของนายธีระพัฒน์ โดยระบุว่าเสียชีวิตเพราะสมองขาดอากาศ จากการกดทับบริเวณลำคออันเกิดจากการทำร้ายของผู้อื่น ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริงใหม่ ได้รับหลังจากมีคำสั่งให้ตำรวจทั้ง 10 นาย กลับเข้ารับราชการ แม้ศาลจะมีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 แต่คำสั่งศาลดังกล่าวมาถึงตนเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559 จึงได้ส่งสำเนาคำสั่งศาลไปยัง อนุฯ ก.ตร.วินัยฯ ล่าสุด พล.ต.อ.วินัย ทองสอง รองผบ.ตร.ในฐานะประธาน อนุฯ ก.ตร.วินัย มีคำสั่งให้รอสำนวนคดีอาญา หากผลการสอบสวนคดีอาญา ระบุว่าตำรวจทั้ง 10 นาย มีความผิดจริง การพิจารณาโทษทางวินัยจะเปลี่ยนไปด้วย โดยโทษอาจเป็นให้ออกจากราชการ หรือไล่ออกจากราชการ นอกจากนี้ได้ส่งคำสั่งศาลไปยัง สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.ในฐานะผู้ที่รับผิดชอบสอบสวนคดีอาญา เพื่อนำคำพากษาดังกล่าวไปประกอบการสำนวนการสอบสวนด้วย

Advertisement

พล.ต.อ.ชัยยง กล่าวด้วยว่า การพิจารณาเรื่องนี้เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา ยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ ไม่มีการช่วยเหลือนายตำรวจทั้ง 10 นาย อย่างแน่นอน อีกทั้งตนเองไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวกับตำรวจทั้ง 10 นาย ที่ผ่านมาตำรวจเหล่านี้ไม่เคยวิ่งเต้นให้ตนช่วยเหลือ เพราะในแวดวงตำรวจจะทราบดีว่าตนเป็นคนอย่างไร กรณีนี้จึงเป็นการสั่งการไปตามอำนาจหน้าที่ในฐานะที่รับผิดชอบงานวินัย เป็นคำสั่งตามหน้างานที่รับผิดชอบ ยืนยันไม่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image