เหยื่อแชร์ฟอเร็กซ์ ลงทุนค่าเงินตปท. แห่ร้อง”ดีเอสไอ” โดนหลอกลงทุน สูญกว่า300ล้าน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 25 สิงหาคม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนผู้เสียหายแชร์ฟอเร็กซ์ (forex) ประมาณ 50 คน เข้าร้องทุกข์ต่อ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ เพื่อเอาผิดกับบริษัท ทริลเลียน เวนเจอร์ (trillion venture) และคนร้ายที่หลอกให้ร่วมลงทุนฟอเร็กซ์ในรูปแบบต่างๆ

นายสามารถ กล่าวว่า วันนี้มีกลุ่มผู้เสียหาย 2 กลุ่ม เดินทางมาร้องทุกข์ที่ดีเอสไอ กลุ่มแรกเป็นการลงทุนแชร์ฟอเร็กซ์ เป็นแชร์เกี่ยวกับการร่วมลงทุนค่าเงินต่างประเทศกับบริษัท ทริลเลียน เวนเจอร์ โดยมี นายชาลี อัง ชาวมาเลเซีย เป็นประธานบริษัทและก่อตั้งบริษัทแม่ตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี 2557 เปิดบริษัทอ้างทำธุรกิจ มีผลกำไรตอบแทนส่งผลให้นักลงทุนเกิดความสนใจ รวมทั้งมีการตั้งบริษัทอีกหลายสาขาในประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และประเทศไทย มีการเปิดงานแจกรถยนต์ จึงทำให้มีบุคคลหลงเชื่อจำนวนมาก

นายสามารถ กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย ตั้งออฟฟิศอยู่ที่ อโศก ทาวเวอร์ ชั้น 18 เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือแก่นักลงทุน โดยอ้างผลตอบแทนตามแพคเกจหลายระดับ อีกทั้ง มีการเชิญชวนให้ 1บุคคลแนะนำคนรู้จักอีก 3 คนมาร่วมลงทุนด้วย ทำให้ขยายเครือข่ายไปอีกหลายเท่าตัว สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างและล่าสุดบริษัทได้ปิดกิจการลงแล้ว ขณะนี้มีผู้เสียหายกว่า 250 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 300 ล้านบาท

นายสามารถ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้เสียหายอีกกลุ่มถูกหลอกอ้างเทรดฟอเร็กซ์ จ่ายผลตอบแทนเป็นรายเดือน กลุ่มนี้ใช้ความสนิทสนมมาหลอกให้ร่วมลงทุนผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ โดยตัวแทนผู้เสียหายเล่าว่ารู้จักกับเพื่อนคนหนึ่ง พร้อมแนะนำวิธีการเล่นให้ จากนั้นกลางปี 2558 ได้ร่วมลงทุน100,000 บาท และได้ผลตอบแทนร้อยละ 20 ต่อเดือนมาตลอด ต่อมาช่วงปลายปี 2558 เพื่อนแนะนำให้ไปลงทุนกับนายบัญญัติ (สงวนนามสกุล) อ้างว่าเป็นผู้เทรดฟอเร็กซ์โดยตรงกับต่างประเทศ กระทั่งปี 2559 เริ่มมีปัญหาขาดทุนและสุดท้ายนายบัญญัติไม่จ่ายค่าตอบแทนอีกเลย กรณีนี้มีผู้เสียหายกว่า 10 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 5 ล้านบาท

Advertisement

ด้าน นายอธิวัฒน์ ศุภศิริวรากิตติ์ หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า มีคนรู้จักมาแนะนำให้ลงทุนกับบริษัทดังกล่าว เนื่องจากเป็นนักลงทุนอยู่แล้ว จึงไปฟังบรรยายถึงโครงสร้างการลงทุนกับบริษัทที่ตั้งอยู่ย่านอโศก ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและตัดสินใจลงทุนก้อนแรกจำนวนไม่มากช่วงกลางปี 2557 และได้เงินตอบแทนตามแพคเกจมาตลอดทำให้เพิ่มเงินลงทุนมากขึ้น จนกระทั่งเดือนมิถุนายน 2558 บริษัทอ้างว่ามีปัญหาโปรกเกอร์ขาดทุนจึงจ่ายเงินไม่ได้ จากนั้น เริ่มปิดตัวลงและไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย ความเสียหายส่วนตัวประมาณ 6 ล้านบาท

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ผู้เสียหายเดินทางมายื่นเอกสารจำนวนมากเกี่ยวกับการถูกหลอกให้ร่วมลงทุนฟอเร็กซ์ แต่แยกเป็น 2 กรณี โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบรายละเอียดของพยานหลักฐานก่อนว่าเข้าข่ายคดีพิเศษหรือไม่ หากไม่เข้าเงื่อนไขจะส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการต่อไป ทั้งนี้การกระทำผิดลักษณะดังกล่าวคล้ายแชร์ลูกโซ่ มีการหลอกผู้เสียร่วมลงทุนและมีการใช้เทคโนโลยี เช่น เล่นผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์มาเรียกร้องความสนใจ โดยการหลอกแชร์ลูกโซ่นั้นกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากไปหลอกเงินของประชาชนทำให้ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ดีเอสไอ ให้ความสำคัญและเร่งปราบปรามเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image