ศาลอุทธรณ์เพิ่มคุก อดีตพระพรหมสิทธิ จาก 36 เดือนเป็น 48 เดือน ปรับ36,000 บาท

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เพิ่มโทษ อดีตพระพรหมสิทธิ ธงชัย อีกกระทง ร่วมทุจริต งบ พศ. จากคุก 36 เดือนเป็น48 เดือน ปรับ 36,000 โดย โทษจำคุกคงรอลงอาญาไว้ 2 ปี

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดี ทุจริตการจัดสรรเงินงบประมาณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) คดีหมายเลขดำ อท.251/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายพนม ศรศิลป์ อายุ 61ปี อดีตผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.) , นายชยพล พงษ์สีดา อายุ 65ปี อดีตรอง ผอ.สำนักงาน พศ. , นายณรงค์เดช ชัยเนตร อดีต ผอ.กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา , นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี อายุ 51ปี อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา , พระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข หรือนายธงชัย สุขโข อายุ 65ปี อดีตพระราชาคณะเจ้าคณะรอง และอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร , อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ , ทำ , จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ร่วมกันเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่น โดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย , เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต , เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,157 ประกอบมาตรา 83,86,91

โดยคดีนี้ อัยการยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 29 ต.ค.58 – 22 ก.ค.59 พวกจำเลย ได้เบียดบังเอาเงินงบประมาณ ของสำนักงาน พศ.ประจำปี 2559 จำนวน 69,700,000 บาท (จากวงเงินงบประมาณประจำปี 2559 จำนวน 5,360,188,000 บาท) ไปเป็นประโยชน์ของตน โดยใช้ วัด เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดรับโอนเงิน ด้วยการให้ วัด โดยเจ้าอาวาส เสนอโครงการเพื่อรับเงินสนับสนุนที่เบียดบังมา จากที่ได้มีการพิจารณาอนุมัติโครงการเงินอุดหนุนในโครงการอบรมคุณธรรม จริยธรรม จำนวน 37,200,000 บาท และโครงการศูนย์กลางเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา จำนวน 32,500,000 บาท ซึ่งวัดสระเกศฯ ได้รับอนุมัติเงินไปเพียงวัดเดียว โดยเมื่อวันที่ 11 เม.ย.61 “พ.ต.ท.พงศพร พราหมณ์เสน่ห์” ผอ.สำนักงาน พศ.ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งมีการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนตามกฎหมาย ซึ่งมีคำขอท้ายฟ้อง ขอศาลให้มีคำสั่งจำเลยที่ 1-5 ร่วมกันคืนเงินหรือใช้เงินจำนวน 69,700,000 บาท คืนแก่สำนักงาน พศ. ผู้เสียหาย

ซึ่งศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาลงโทษ จำเลยที่ 1 จำคุก 2 ปี 12 เดือน , จำเลยที่ 2-4 จำคุกคนละ 3 ปี 18 เดือน ส่วนจำเลยที่ 5 ให้จำคุก 36 เดือน และปรับ 27,000 บาท แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกนั้นให้รอการลงโทษ (รอลงอาญา) ไว้มีกำหนด 2 ปี

Advertisement

ต่อมาอัยการโจทก์ และจำเลยที่ 5 ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2-4 มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ตามฟ้องข้อ 2.3 อีกกระทงหนึ่ง จำคุกจำเลยที่ 2-4 คนละ 2 ปี โดยลดโทษให้จำเลยที่2-4 คนละหนึ่งในสี่ คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 2-4 มีกำหนดคนละ 4 ปี 24 เดือน

จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 ตามฟ้องข้อ 2.3 อีกกระทงหนึ่ง จำคุกมีกำหนด 1 ปี 4 เดือนและปรับ 12,000 บาท โดยลดโทษให้หนึ่งในสี่จึงจำคุกจำเลยที่ 5 เป็น 12เดือนและปรับ 9,000 บาท เมื่อรวมกับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 5 ทั้งสิ้น 48 เดือนและปรับ 36,000 บาท ซึ่งนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Advertisement

โดยส่วนของจำเลยที่ 5 นั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 5 มานั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ศาลอุทธรณ์ฯ มีคำพิพากษาแก้โทษจำเลยที่ 5 ให้จำคุก 48 เดือนและปรับ 36,000 บาท โดยระบุว่านอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เท่ากับว่าโทษจำคุกดังกล่าวยังคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาชั้นต้น คือให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีนี้หากคู่ความจะยื่นฎีกา ก็จะต้องเป็นการขออนุญาตฎีกา ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559

โดยมาตรา 42 กำหนดว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นที่สุด หากคู่ความประสงค์จะฎีกาต้องปฏิบัติตามมาตรา 44 ที่กำหนดให้ผู้ฎีกาต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณาพร้อมกับคำฟ้องฎีกาด้วย

ซึ่งเหตุที่ศาลฎีกาจะพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้ ระบุไว้ใน มาตรา 46 คือต้องเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยซึ่งรวมถึงปัญหาดังต่อไปนี้
(1) ปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ
(2) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกันหรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา
(3) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน
(4) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขัดกับคำพิพากษา หรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่น
(5) เมื่อจำเลยต้องคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต
(6) เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วอาจมีผลเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
(7) ปัญหาสำคัญอื่นตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image