ข้อคิดเห็น ‘อัยการ’ อย่าแค่ส่งคนผิดเข้าคุก คืนทรัพย์ ‘เหยื่อ’ ด้วย

ข้อคิดเห็น ‘อัยการ’ อย่าแค่ส่งคนผิดเข้าคุก คืนทรัพย์ ‘เหยื่อ’ ด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมากองบังคับการปราบปรามจัดแถลงผลปฏิบัติการตรวจค้นพื้นที่ในคดีฉ้อโกงประชาชนมูลค่านับพันล้าน

โดยเข้าจับกุมผู้เกี่ยวข้องในเป้าหมาย 9 จุด ทั้งใน กทม.และปริมณฑล จับกุมผู้ต้องหาได้ 4 ราย เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ข้อหา “ฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน”

ต่อมาผู้ต้องหาระดับใหญ่ที่พากันเข้ามอบตัวอีก 2 ราย คือ ประสิทธิ์ เจียวก๊ก ประธานกรรมการบริหารบริษัทในเครือเอ็มกรุ๊ป และ กิตติศักดิ์ เย็นนานนทน์ รองประธานเครือเอ็มกรุ๊ป ทั้งหมดถูกฝากขังชั่วคราว และยังคงให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผู้บังคับการกองปราบปราม กล่าวว่า ผู้ต้องหาเครือข่ายนี้มีพฤติการณ์จัดตั้งบริษัทขึ้นมาหลายแห่ง หลอกชักชวนให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักลงทุนร่วมลงทุนหลายรูปแบบ อ้างผลตอบแทนสูง

Advertisement

ช่วงแรกทำทีจ่ายเงินค่าตอบแทนจริง เพื่อหลอกให้ตายใจก่อนมีการนำเงินมาลงทุนเพิ่ม จากนั้นเริ่มบ่ายเบี่ยงไม่จ่ายเงินหรือคืนเงินลงทุนให้ และขาดหายการติดต่อไปในที่สุด มีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อนับพันราย มูลค่าความเสียหายกว่าพันล้านบาท

“จากการตรวจสอบทรัพย์สินของเครือข่ายนั้น ตำรวจกองปราบปรามพบว่ามีการยักย้ายถ่ายเทไปตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีข่าวผู้เสียหายเข้าแจ้งความ ทำให้ทรัพย์ที่เหลืออยู่ในบัญชีมีไม่มากโดยฝ่ายสืบสวนไล่ตรวจสอบว่ามีผู้ให้การช่วยเหลือยักย้ายถ่ายโอนทรัพย์สินหรือช่วยในการกระทำผิดอีกเป็นใครบ้าง”

วีระชาติ ศรีบุญมา ผู้อำนวยการสถาบันฝึกอบรมการสอบสวนชั้นสูง สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ศึกษาประวัติของคดีฉ้อโกงประชาชน ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจในคดีทำนองนี้ว่า เริ่มตั้งแต่คดีแม่ชม้อยที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2520-2528 ต้องถือว่าเป็นความผิดพลาดทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของรัฐบาล ขณะนั้นที่บริหารงานเศรษฐกิจล้มเหลว จนทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือกต้องพึ่งพาการหารายได้รวดเร็วมากกว่าการฝากเงินในธนาคาร

Advertisement

นางชม้อยอาศัยช่องว่างนี้หลอกลวงประชาชนที่มีความโลภ อยากได้ผลประโยชน์มาก โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง และรัฐบาลไม่ได้ให้ความรู้กับประชาชนเรื่อง Financial Literacy (ความรู้ด้านการเงิน) แม่ชม้อยใช้จุดอ่อน 2 ปัจจัยนี้ ระดมเงินจากประชาชนในรูปการณ์แชร์น้ำมัน มีผู้เสียหายจำนวนกว่า 13,000 คน มูลค่าเงินกว่า 4 พันล้านบาท

รัฐบาล ณ ขณะนั้นแก้ไขโดยพยายามออกกฎหมาย พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินอันเป็นการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เพื่อมาดำเนินคดีเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน

“จากนั้นก็มีคดีเทียบเคียงกับคดีลักษณะนี้จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นคดีราชาเงินทุน หลอกลวงประชาชนให้มาฝากเงินแล้วก็ไม่คืน คดี OD Capital คดีแชร์กาแฟ Black คดีหลอกขายรถซุปเปอร์คาร์ และอื่นๆ อีกมากมาย

จากประวัติศาสตร์หลายๆ คดี เหล่านี้ เราพบว่าเบื้องหลังเหล่านี้มีผู้มีอิทธิพล คนมีสี นักการเมือง ข้าราชการ เกี่ยวข้องทั้งสิ้น แต่ที่สำคัญคดีเหล่านี้ปรากฏว่า เราปล่อยให้ตำรวจ พนักงานสอบสวน ทำคดีตามลำพัง เพื่อเอาคนผิดเข้าคุกเข้าตะราง”

“วีระชาติ” กล่าวต่อว่า ในฐานะที่มีประสบการณ์จากการทำคดีเหล่านี้ พบว่าคดีอาจจะประสบความสำเร็จเอาคนหลอกลวงเข้าคุก แต่อีกด้านหนึ่งที่สำคัญอย่างมากคือการติดตามทรัพย์สินหรือเงินที่ประชาชนถูกหลอกลวงมาคืนผู้เสียหาย

คดีเหล่านี้ตำรวจ หรือ พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการที่ฟ้องคดี ถือว่าไม่ใช่หน้าที่โดยตรงแม้กฎหมายจะเขียนให้ผู้ต้องหาต้องชดใช้เงินแก่ผู้เสียหาย กอปรกับในปัจจุบันได้มีกฎหมายฟอกเงินให้อำนาจสำนักงาน ปปง. มีอำนาจติดตามทรัพย์สินคืนจากผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชน แต่การกระทำตามกระบวนการดังกล่าวเป็นการกระทำแบบเดิมๆ เห็นว่าไม่มีทางประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุผล ดังนี้

1.การติดตามทรัพย์สินคืน ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนให้ความสำคัญลำดับรองมากกว่าการเอาคนผิดเข้าคุก

2.หน่วยงานดูแลเรื่องฟอกเงิน ได้รับเรื่องล่าช้า จนมีการโยกย้ายทรัพย์ไปที่อื่น

3.ผู้ต้องหาใช้กระบวนการฟอกเงินผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่

4.กระบวนการยุติธรรมไทยไม่ได้พัฒนาการทำงานอย่างบูรณาการ

“วีระชาติ” ยังกล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็นผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยที่ติดตามทรัพย์สินคืนจากผู้บริหารสถาบันการเงินที่ทุจริต ได้เงินคืนจากต่างประเทศกว่า 6 พันล้านบาท คดี FOREX คดี Non Bank เถื่อน และคดีอื่นๆ จึงอยากเสนอความเห็น กล่าวคือ

1.คดีนี้มีการฉ้อโกงประชาชนผ่านสหกรณ์ ผู้มีอำนาจกำกับดูแลสหกรณ์ต้องให้ความสำคัญและคอยติดตามพร้อมสนับสนุนการทำงานของตำรวจ เหมือนที่ตนอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เราต้องสนับสนุนทั้งงบประมาณและกำลังคนทำงานร่วมกัน อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รัฐบาลต้องลงมาดูแลอย่างจริงจัง

2.หน่วยงานที่เป็น Regulator หรือผู้กำกับดูแล ต้องเชิญหน่วยงานที่คาดว่าผู้ต้องหาทั้งหมด ทั้งคนมีสี และไม่มีสี จะนำเงินที่หลอกลวงไปฟอกเงิน คือ

2.1 ถ้าเป็นเงิน ก็เชิญผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ชมรม Compliance และธนาคารแห่งประเทศไทย

2.2 ถ้าเป็นทองคำ ต้องเชิญสมาคมค้าทองคำ พร้อมทั้งกรมมสรรพากร

2.3 ถ้าเป็น Cryptocurrency ต้องเชิญสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัล สมาคมฟินเทคประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้าน Startup และสำนักงาน ก.ล.ต.

“ขอย้ำ ต้องทำงานทันที เดี๋ยวนี้ ด้านคดีความก็ปล่อยตำรวจทำงานไป พบการฟอกเงิน สำนักงาน ปปง.จะดำเนินการได้ทันที เมื่อพบการฟอกเงินไปยังต่างประเทศ สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 หรือดำเนินการ MLAT (สนธิสัญญาความร่วมมือทางอาญา) ได้ทันที

และข้อ 3 จากการติดตามข่าว เชื่อว่าเรื่องนี้ต้องมีการกระทำส่วนหนึ่งส่วนใด ซึ่งตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 พนักงานสอบสวนควรรีบมีหนังสือขอให้ท่านอัยการสูงสุดมอบหมายให้พนักงานอัยการมาร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนตั้งแต่ต้นทันที เพื่อจะได้วางรูปคดีและติดตามทรัพย์สินทันที

“หวังว่าคดีนี้จะเป็นตัวอย่างในทุกคดี หากได้ปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวข้างต้นและสิ่งที่คาดหวัง และอยากให้เกิด คือ การดำเนินคดีทุกๆ คดีในโลกดิจิทัลจะประสบความสำเร็จ ต้องประกอบด้วย หน่วยงาน 4 ฝ่าย(ดูภาพประกอบ)

“ท้ายนี้ อยากฝากรัฐบาลและหน่วยงานทุกองค์กรของภาครัฐ ต้องสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ด้านการเงิน Financial Literacy และเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่าปล่อยเพียงลำพังเฉพาะหน่วยงานที่กำกับดูแลประชาสัมพันธ์ ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันอย่างบูรณาการ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าความโลภคือภัยร้ายของประชาชน รัฐบาลอาจจะสนับสนุนภาคเอกชน ห้างร้านเอกชน ใครมีโครงการให้ความรู้กับประชาชน เรื่องเหล่านี้สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image