เปิดใจ! อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รับมือโควิดระบาดหนักในคุก

เปิดใจ! อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีราชทัณฑ์ รับมือโควิดระบาดหนักในคุก

ท่ามกลางสถานกาณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ในหลายเรือนจำ ส่งผลผู้ต้องขังจำนวนมากในหลายเรือนจำ ติดโควิด และกรมราชทัณฑ์ ถูกตั้งคำถามว่า ทำไมที่ผ่านมา ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขผู้ต้องขังที่ติดเชื้อ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์  อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ชี้แจ้ง ประเด็นข้อสงสัย และมาตรการรับมือแก้ปัญหา กับสถานการณ์โควิด ในเรือนจำ ผ่านเพจประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์

  นายอายุตม์ ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน ระลอกที่ 3 ค่อนข้างรุนแรง สาเหตุหนึ่งเนื่องจากเรือนจำมีการรับผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกวัน ซึ่งผู้ต้องขังใหม่เหล่านั้นมีโอกาสติดเชื้อมาจากภายนอกค่อนข้างสูง จึงได้มีการตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมราชทัณฑ์ (ศบค.รท.) เพื่อรวบรวมข้อมูลจากเรือนจำและทัณฑสถานที่พบการเชื้อติดผู้ต้องขังหลักๆ ซึ่งมีทั้งสิ้น 12 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เชียงใหม่ และเรือนจำจังหวัดนราธิวาส

ขณะนี้ได้มีการตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งใช้พื้นที่ในแดนเรือนจำคลองเปรม รวมทั้งใช้แดนพยาบาลเดิมภายในเรือนจำคลองเปรมเป็นโรงพยาบาลสนามด้วย เพื่อรองรับผู้ต้องขังที่ติดเชื้อตามกลุ่มสี เขียว เหลือง แดง

Advertisement

นายอายุตม์ กล่าวอีกว่า สำหรับเรือนจำสีเขียวที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ ได้กำชับสั่งการให้เตรียมความพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของตัวเองไว้ เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินหากมีผู้ติดเชื้อเข้ามาภายในเรือนจำ ในขณะเดียวกัน ศบค.รท.จะได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ จากเรือนจำต่าง ๆ ทั้งผู้ติดเชื้อที่หายแล้วและยังรักษาตัวอยู่ โดยได้กำหนดให้เรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศเฝ้าระวังและเข้มงวดตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข

ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานก็ให้ตรวจ swab ทุก 7 วัน ขณะที่เรือนจำที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อจะมุ่งเน้นเฝ้าระวังกลุ่มผู้สูงอายุว่ามีอาการไอ มีน้ำมูก หายใจหอบเหนื่อยหรือไม่ หากมีก็จะนำมาตรวจ swab ก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อภายในเรือนจำ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามมาตรฐานทางกรมราชทัณฑ์ได้มีการประสานกับกระทรวงสาธารณสุข โดยได้รับความอนุเคราะห์จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค สนับสนุนวัคซีนให้กับเรือนจำและทัณฑสถานเพื่อฉีดให้ผู้ต้องขังทั่วประเทศ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้เตรียมการฉีดวัคซีนตามแผนและนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมต่อไป

เมื่อเร็วๆนี้ได้มีการนำร่องฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษมีนบุรี ซึ่งเป็นการนำร่องแห่งแรกของประเทศ โดยเป็นการฉีดวัคซีนซิโนแวค จากการฉีดมาแล้วไม่พบผู้ต้องขังที่มีอาการผิดปกติ ซึ่งเรือนจำต่อไปที่จะได้รับการฉีดวัคซีนคือ เรือนจำกลางสมุทรปราการและจะทยอยฉีดให้กับเรือนจำที่ไม่มีผู้ติดเชื้อหรือมีน้อยต่อไปจนครบทุกเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศอย่างเร็วที่สุด

 

  • สถานการณ์การระบาดยังไม่น่าไว้วางไจ

แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า ตอนนี้ยังไม่ไว้วางใจถึงแม้ตัวเลขการรักษาจะเริ่มหายและยอดผู้ติดเชื้อจะน้อยลง แต่จะมีการตรวจผู้ที่ไม่ติดเชื้อรอบที่ 2 และรอบที่ 3 ด้วย เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าสามารถจะแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อมารักษาตัวได้อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นเมื่อมีการตรวจเพิ่มจึงเป็นธรรมดาที่ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นจากการตรวจซ้ำกับคนที่ไม่พบเชื้อตั้งแต่ต้น เนื่องจากเรือนจำมีพื้นที่คับแคบ ผู้ต้องขังและเรือนนอนค่อนข้างแออัด จึงมีความกังวลว่าจะทำให้ติดได้ง่าย ถึงแม้กรมราชทัณฑ์จะกำหนดให้สวมหน้ากากอนามัยหรือแมสก์ตลอด 24 ชั่วโมง

“แต่ในทุก ๆ วันผู้ต้องขังต้องอาบน้ำ รับประทานอาหาร ซึ่งก็ได้เน้นย้ำให้แยกกันรับประทานอาหาร ห้ามรวมกลุ่ม กรณีมีผู้ต้องขังไอขณะรับประทานอาหารก็มีข้อแนะนำให้ใส่แมสก์ปิดปากทันที จากนั้นให้ไปล้างมือแล้วกลับมารับประทานใหม่ ส่วนการอาบน้ำก็ได้เพิ่มเรื่องการเติมคลอรีนเข้าไปเพื่อช่วยในเรื่องการฆ่าเชื้อ พร้อมกับให้ผู้ต้องขังล้างมือบ่อย ๆ”

 

  • ยืนยันกรมราชทัณฑ์ไม่มีการปิดข้อมูล

“ต้องกราบเรียนว่ากรมราชทัณฑ์ไม่ได้มีการปิดข้อมูลแต่อย่างใด การคีย์ข้อมูล ต้องกราบเรียนว่าผู้ที่ตรวจพบเจอเป็นผู้ที่มีข้อมูลอยู่แล้ว และเนื่องจากว่าในระยะที่ผ่านมาเราตรวจ 100 % เพราะฉะนั้นตัวเลขก็สูงขึ้นตามสถิติ และการรายงานต่าง ๆ ทางเรือนจำรายงานต่อ ศบค.จังหวัดอยู่แล้ว ขอยืนยันไม่ได้มีการปิดตัวเลขตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์แต่อย่างใด”

นอกจากนี้ ศบค.รท. ที่กรมราชทัณฑ์ตั้งขึ้นเป็นศูนย์ที่ทำหน้าที่รายงานตัวเลขทุกวันในเวลา 09.00 น. และจะมีการแถลงข่าวในส่วนของกรมราชทัณฑ์ สำหรับต่างจังหวัดเได้สั่งการให้เรือนจำติดยอดจำนวนผู้ติดเชื้อ และแจ้งทางญาติเพื่อความสบายใจว่าญาติของท่านติดเชื้อในระดับสีใด เช่น สีเขียว สีเหลือง สีแดง ซึ่งได้แจ้งให้เรือนจำทั่วประเทศดำเนินการตามนี้ เพื่อให้พี่น้องญาติผู้ต้องขังเกิดความสบายใจ และเชื่อมั่นในระบบการรักษาของกรมราชทัณฑ์

  • มาตรการตรวจโควิดเชิงรุก 100 %

ในพื้นที่กรุงเทพมหานครตั้งเป้าตรวจเชิงรุก 100 % และมีการตรวจซ้ำผู้ต้องขังครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ทุกคน ส่วนเจ้าหน้าที่ก็มีการตรวจ 100% ทุกคน โดยเจ้าหน้าที่มีการตรวจ swap ทุก 7 วัน เพราะต้องปฏิบัติงาน 24 ชม. และต้องมีการเข้า-ออกตลอด ซึ่งจะช่วยให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือนจำที่มีผู้ต้องขังติดเชื้อ มีการแนะนำเจ้าหน้าที่ให้สวมชุด PPE สวมหน้ากาก สวมเฟซชิลด์ รวมทั้งผู้ที่ขับรถส่งอาหารในเรือนจำก็ต้องใส่ชุด PPE สวมหน้ากากอนามัยให้เรียบร้อย  รีบส่งและรีบออกทันที

“ต้องกราบเรียนว่าเราใช้ทุกวิถีทางคือตรวจให้เร็ว เมื่อเจอแล้วต้องเอ็กซเรย์ปอดให้เร็ว ให้ยาเร็ว เพื่อไม่ให้เชื้อลงปอด อันนี้คือหลักการที่ปฏิบัติ  ส่วนมาตรการอื่นเราได้แนะนำเรือนจำในต่างจังหวัด หรือเรือนจำที่มีผู้ต้องขังติดเชื้อให้รับประทานสมุนไพร อาทิ ฟ้าทะลายโจร ต้มน้ำขิงดื่มแทนน้ำเปล่า เป็นต้น จะช่วยให้ผู้ต้องขังมีความแข็งแรงมากขึ้น

“กรณีการดูแลเจ้าหน้าที่ตามหลักปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์เราใส่ใจขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นหากมีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อเป็นหน้าที่ของผู้บัญการเรือนจำที่จะต้องดูแลเจ้าหน้าที่และครอบครัวอย่างดีที่สุด เพื่อให้รักษาหายโดยเร็ว”

  • ทีมศิริราชช่วยเตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนาม

นายอายุตม์ ระบุว่า ต้องขอบคุณผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือกรมราชทัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์และศิษย์ของศิริราชพยาบาล และเจ้าหน้าที่ทหาร ที่มาช่วยประสานกับทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อให้การรักษาผู้ต้องขังดีขึ้น เนื่องจากบุคลากรทางแพทย์มีจำนวนจำกัด โรงพยาบาลก็ต้องรองรับผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นได้มีการปรับปรุงระบบการรักษาให้ดีขึ้น เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง โดยไม่ต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลภายนอก ส่วนในกรณีจำเป็นเร่งด่วนจริง ๆ ก็จะมีการประสานกับโรงพยาบาลภายนอกเพื่อส่งตัวต่อไป ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลกรุงเทพมหานคร ศิริราช รามาธิบดี พระมงกุฎ โรงพยาบาลตำรวจ และอื่น ๆ อีกหลายแห่ง

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้รับการช่วยเหลือจากหลายภาคส่วนเป็นจำนวนมาก ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนที่ร่วมบริจาคสิ่งของ อุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ที่กรมราชทัณฑ์  เรือนจำ ทัณฑสถานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้กำลังใจกรมราชทัณฑ์

 

  • ดูแลผู้ต้องขังเหมือนญาติ

“ขอให้ความมั่นใจว่า กรมราชทัณฑ์จะดูแลผู้ต้องขังที่ติดเชื้อและผู้ต้องขังที่ไม่ติดเชื้ออย่างดีที่สุด ผู้ต้องขังที่อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ก็เปรียบเสมือนญาติเราเอง เราอยู่ในลักษณะบ้านหลังใหญ่มีผู้ต้องขังกว่า 310,000 คน มีเจ้าหน้าที่ 13,000 คน ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังคือผู้ที่อยู่ร่วมกัน เพราะเราอยู่ใกล้ชิดกันตลอด 24 ชม.อยู่แล้ว กรมราชทัณฑ์จะไม่ละเลยเรื่องสิทธิต่าง ๆ ความสูญเสียต่าง ๆ ทางกรมราชทัณฑ์ต้องดูแลรักษาพยาบาลทุกอย่าง ขอให้ความมั่นใจในเรื่องนี้

“แม้ว่าบุคลากรกรมราชทัณฑ์จะมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นพยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค เจ้าหน้าที่แพทย์ ก็ทำงานอย่างเต็มที่สุดความสามารถ ต้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำทำงานด้วยความยากลำบาก เป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำ เสี่ยงภัย อันตราย ไม่น่าอภิรมย์ ถ้าเลือกได้เจ้าหน้าที่คงไม่มาทำงานในคุกในตาราง แต่เนื่องจากว่าเราทำงานด้วยความเสียสละ

เพราะฉะนั้นเราต้องทำงานอย่างดีที่สุดเพื่อปกป้องสังคม ถึงแม้ผู้ต้องขังจะถูกลงโทษแล้ว การลงโทษของผู้ต้องขังเป็นการตัดโอกาสจากสังคมเพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น  ฉะนั้นช่วงที่เขาอยู่กับเราต้องดูแลอย่างดีที่สุดตามหลักมาตรฐาน และเรื่องการมีใจให้กับผู้ต้องขัง ยืนยันกรมราชทัณฑ์จะดูแลผู้ต้องขังอย่างดีที่สุดเสมือนญาติของตัวเอง”

  • ราชทัณฑ์ยึดหลักสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ

สำหรับความแออัดในเรือนจำ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นมาตรการที่กรมราชทัณฑ์ดำเนินการมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน มีนโยบายในการแก้ปัญหาความแออัดของนักโทษในเรือนจำอยู่แล้ว ทั้งนโยบายการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ ซึ่งกรมราชทัณฑ์จะขยายคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการพักโทษสูงขึ้นจาก 5 ปี เป็น 7 ปี และกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ผู้สูงอายุ เป็นต้น

นโยบายของกรมราชทัณฑ์เราปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิต่าง ๆ ของผู้ต้องขัง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ตามข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) หรือข้อกำหนดกรุงเทพที่ดูแลผู้ต้องขังหญิง เพราะฉะนั้นทางเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศได้นำนโยบายเหล่านี้ไปปฏิบัติ แต่ต้องเรียนว่าการแก้ปัญหาความแออัดก็ต้องได้รับการประสานงานจากศาลยุติธรรมด้วย ซึ่งได้รับการประสานกลับมาอย่างดีในการปล่อยตัวชั่วคราว การกักตัว หรือกองทุนยุติธรรมให้กับผู้ต้องขังที่ยากจนในการใช้ประกันตัว”

ในฐานะผู้นำหน่วย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ขอให้กำลังใจผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนที่เป็นทั้งลูกเป็นทั้งน้องในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ

  • แนะฟังข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ระวังข่าวปลอม Fake News

เช่นเดียวกับกรณีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านออนไลน์ว่า “มีการพบโควิด สายพันธุ์แอฟริกา เกิดขึ้นเป็นคลัสเตอร์ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส” ต้องยอมรับว่าสร้างความสับสนให้กับสังคมอยู่ไม่น้อยหลังเกิดเหตุความเข้าใจทางกรมราชทัณฑ์จึงทำการชี้แจงเร่งด่วนตอบโต้ทัน ป้องกันความเข้าใจผิดในสังคมและญาติผู้ต้องขัง และต้องขอเรียนว่ากรมราชทัณฑ์ได้แจ้งต่อผู้บัญชาการเรือนจำทุกแห่งให้ตรวจสอบข้อมูลทุกอย่างและต้องรวดเร็วว่าเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็ต้องรีบชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบอย่างถูกต้อง ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อในเรื่องข้อมูลที่ไม่จริง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image