วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ปฏิรูปกฎหมาย (ตอนที่1)

ในช่วงที่ข้าราชการประจำจำนวนพอสมควร ต้องถูกกำหนดให้ทำงานจากที่บ้าน หรือ work from home นั้น
ปรากฏว่าสามารถสร้างผลผลิตเรื่องการปรับปรุงและสร้างกฏหมายกลางออกมาสำเร็จ

ต้องขอแสดงความชื่นชม และขอแสดงความยินดีกับประชาชนที่ ผลิตภาพด้านนี้ ในที่สุดคลอดออกมาทีละอย่างทีละเรื่องจนได้

เรื่องแรก

ในที่สุดก็มี พระราชกฤษฎีกาการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต พ.ศ.2564 คลอดออกมา
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/035/T_0033.PDF

Advertisement

แปลว่าผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาต ที่ออกมาตามกฏหมาย 11 ฉบับ อันได้แก่ ใบอนุญาตสถานพยาบาลสัตว์
ใบอนุญาตขายเมล็ดพันธุ์ควบคุม ใบอนุญาตจัดตั้งสุสานและฌาปนสถาน ใบอนุญาตตลาด ใบอนุญาตสถานที่สะสมอาหารหรือจำหน่ายอาหารขนาดไม่เกิน 200 ตารางเมตร ใบอนุญาตขายสินค้าในทางสาธารณะ ใบอนุญาตสถานพยาบาล ใบอนุญาตประกอบกิจการควบคุมตามกฏหมายน้ำมันเชื้อเพลิง ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ใบอนุญาตผลิต นำเข้า หรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอาง ฯลฯ ซึ่งท่านผู้อ่านตรวจสอบได้ตามบัญชีแนบท้ายพระราชกฤษฏีกาของบทความนี้เพิ่มเติม

ถ้าท่านมีใบอนุญาตนั้นๆ อยู่แล้ว และกำลังจะต้องไปต่ออายุใบอนุญาต

Advertisement

พระราชกฤษฎีกานี้กำหนดว่านับแต่ 22 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

ท่านจ่ายค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตปุ๊บ

ให้ถือว่าใบอนุญาตนั้นๆ ของท่านได้รับการต่ออายุเลย

ไม่ต้องรอให้เรียก หรือยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตนั้นอีก

การชำระค่าธรรมเนียม ให้ถือเป็นการแทนการยื่นขอต่อใบอนุญาต

แถมการจ่ายค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาตนี้

ก็ยังกำหนดให้ชำระทางออนไลน์ได้เลยด้วย จะไปจ่ายผ่านธนาคาร จ่ายผ่านศูนย์บริการร่วม จุดบริการรับชำระ หรือจ่ายทางออนไลน์ หรือจะไปที่กรมกองที่เคยต้องไปต่ออายุใบอนุญาตนั้นๆอย่างเดิมก็เลือกเอาตามสะดวก

ตัวใบอนุญาตที่ต่อแล้วก็ให้หน่วยราชการสามารถส่งกันทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เลย

อันนี้เป็นการออก “กฏหมายกลาง” บังคับให้มีผลต่อกฏหมาย “กรม” อื่นอีก 11 ฉบับเป็นการประเดิมก่อน

ในอนาคต อยากเสนอให้พิจารณาเอาเรื่องการต่ออายุใบอนุญาตประกอบการโรงภาพยนตร์ โรงแรม ใบอนุญาตธุรกิจนำเที่ยวและใบอนุญาตมัคคุเทศก์เข้าไปเพิ่มในบัญชีแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ต่อไป

เพราะนี่เป็นเรื่องต่ออายุใบอนุญาต ไม่ใช่การขอใบใหม่

ข้อมูลสถานที่ตั้ง ขนาดที่ตั้ง หลังคา ทางเข้าออก ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร
และถ้าจะเปลี่ยนแปลงต่อเติมอาคารก็มีเรื่องกฏหมายควบคุมอาคารจัดการอีกทางหนึ่งอยู่แล้ว

หน่วยงานที่รับค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาต ต้องออกใบต่ออายุใบอนุญาตให้ ถ้ายังไม่ออก พระราชกฤษฎีกานี้บอกว่าเราก็ใช้ใบเสร็จรับเงินที่ชำระค่าธรรมเนียมนั่นแหละเป็นเสมือนใบอนุญาตที่ต่ออายุออกไปได้เลยเป็นการชั่วคราว

แจ๋วมากครับ

คำนับหนึ่งที

เรื่องนี้เป็นฝีมือริเริ่มของคณะกรรมการพัฒนากฏหมาย ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ตานี้ดูเรื่องที่สองที่คลอดออกมาสำเร็จ อันเป็นการปรับปรุงปฏิรูปกฏหมาย

นั่นคือการออกพระราชกำหนดแก้ไขอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จาก 7.5% เหลือ 3% และอาจมีบางกรณีที่จะไปถึง 5% ได้แล้วแต่เรื่อง จากเดิม เอะอะสงสัยอะไรก็ดอกเบี้ย 7.5% ไว้ก่อน และบัดนี้ยังได้แก้ไขวิธีคิดดอกเบี้ยโดยไม่ให้มีดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย และผิดนัดชำระงวดใดก็คิดดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่มเฉพาะจากงวดที่ผิดนัดนั้นเท่านั้น ไม่งั้นถือว่าโมฆะ ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนมากจะพอรับทราบจากข่าวสาธารณะแล้ว และคงจะได้ฟังการอภิปรายอีกแยะในการถ่ายทอดการประชุมสภาเมื่อพระราชกำหนดนี้ต้องมาขอความเห็นชอบเพื่อแปลงร่างจากพระราชกำหนดเป็นพระราชบัญญัติที่รัฐสภาตามกติกา

เป็นงานปฏิรูปกฏหมายที่เจ๋งมากชิ้นที่สอง

คำนับอีกที

นี่ยกมาพอหอมปากหอมคอก่อน

ยังมีเรื่องให้ชวนแก้กฏหมายอีกหลายเรื่องครับ

น้อยคนจะตระหนักว่า การที่ป้าขี่จักรยานแล้วเอาเด็กนักเรียนนั่งซ้อนท้ายไปส่งทุกวันนั้น เป็นการกระทำที่ผิดพระราชบัญญัติการจราจรทางบก 2522 !!

เพราะมาตรา 83 (5) ระบุว่ามิให้ขับขี่จักรยานในทางเดินรถ ไหล่ทาง หรือแม้แต่ทางที่จัดไว้ให้สำหรับจักรยาน โดยมีการบรรทุกบุคคลอื่น นอกจากจะเป็นสามล้อบรรทุกคน!!

เหวอมั้ยครับ?

และก็คงมีคนไม่รู้อีกตั้งแยะ ว่าการปั่นจักรยานเคียงคู่ขนานคุยกันหนุงหนิงไปเรื่อยระหว่างทาง เกินสองคันนี่ก็ผิดกฏหมายฉบับเดียวกัน ในมาตรา83 (2) เพราะระบุว่า มิให้ขี่จักรยานขนานกันเกินสองคัน!!

แต่มีข้อยกเว้นให้ ถ้าขี่ขนานกันสักสามคันในทางที่จัดไว้ให้สำหรับจักรยาน

กฎหมายอย่างนี้ ผมเดาว่าตำรวจจราจรคงไม่เคยใช้จับกุมเอาผิดใคร เพราะรังแต่จะสร้างดราม่าให้โดนรุมสวดเปล่าๆ

แต่ว่าตามตัวบท ใครฝ่าฝืนมาตรา 83 คือขี่ซ้อนท้ายส่งหลานก็ดี ขี่สามคันขนานคุยกันกันไป มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ตามมาตรา148

นี่ปรากฏตามความในพระราชบัญญัติเชียวนาครับ

ถ้าไหนๆจะมีการปฏิรูปประเทศด้านกฏหมายและรัฐธรรมนูญ2560 ซึ่งกำหนดในมาตรา 77 ให้รัฐยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหหมายที่ “หมดความจำเป็น” หรือ ”ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์” หรือที่เป็นอุปสรรคต่อ ”การดำรงชีวิต” หรือ “การประกอบอาชีพ”

เรามาช่วยกันเชียร์ให้จัดการกับมาตราข้างบนเสียด้วยดีไหม

บางท่านอาจบอกว่าปล่อยๆ ไปก็ได้ ในเมื่อมาตรานั้นๆ ไม่เคยถูกใช้อยู่แล้ว

แต่ในโลกที่กิจการที่เน้นเรื่องความยั่งยืนต่างๆกำลังรับกระแสการตรวจสอบความถูกต้องในการกำกับกิจการให้ทำตามระเบียบกฏหมายอย่างครบถ้วนเคร่งครัด

ดังนั้น ตัวบทที่ล้าสมัย หรือไม่ได้ใช้ปฏิบัติแต่ก็คาไว้จะกลายเป็นภาระให้ต้องอธิบายอีกมากมาย

และในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 ก็ระบุให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะดำเนินการยกเลิกปรับปรุงกฏหมายที่ล้าสมัยอยู่แล้ว ก็น่าจะทำซะในช่วงโควิดขังเราให้อยู่บ้าน ช่วยชาติ แก้ไขกติกางานกระดาษทั้งหลายให้ลดลงให้มากๆเสียเลย

ลดเวลา ลดขั้นตอน ตัดทอนการทุจริต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image