“ชำนาญ”อดีต ปธ.เเผนกคดีศาลฎีกายื่นร้อง ปปช.เอาผิด ก.ต.ศาลอุทธรณ์ ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นปฏิบัติหน้าที่

“ชำนาญ”อดีต ปธ.เเผนกคดีศาลฎีกายื่นร้อง ปปช.เอาผิด ก.ต.ศาลอุทธรณ์ ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ผิด
ระเบียบฯช่วยหาเสียงเลือกตั้ง ก.ต.คนนอกในไลน์”สภาตุลาการ”

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 64 นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์” อดีต ปธ. แผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกายื่นคำร้องถึงประธานคณะกรรมการปราบปราม การทุจริตเเห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร้องเรียนการกระทำของเจ้าพนักงานรัฐหนังสือ ลงวันที่ 9 มิ.ย. ความว่า

ข้อเท็จจริงคดีนี้สำนักงานศาลยุติธรรมได้ประกาศรับสมัครบุคคลเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ต.คนนอก)ตามมาตรา 36 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ลงวันที่ 23 ธ.ค.63 โดยกำหนดระยะเวลาการรับสมัครระหว่างวันที่24 ธ.ค.63- 4 ม.ค.64 ซึ่งมีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจำนวน 4 คน ได้แก่ หมายเลข 1.นายวรสิทธิ์ โรจนพานิช 2.นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา 3.ศ. ดร. ไผทชิต เอกจริยกรและ 4.นายจำนง เฉลิมฉัตร

ซึ่งต่อมาผลการลงคะแนนปรากฏว่าหมายเลข 3ศ. ดร.ไผทชิต เอกจริยกรและหมายเลข 4.นายจำนง เฉลิมฉัตร เป็นผู้ได้รับการเลือกในการเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ นั้นห้ามมิให้มีการหาเสียงโดย พรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2553มาตรา 17วรรคสี่บัญญัติว่า

“ให้ถือว่าการกระทำใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการหาเสียงเพื่อให้ข้าราชการตุลาการลงคะแนนหรืองดเว้นลงคะแนนเลือกบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการใด ๆ เป็นการไม่ถือและปฏิบัติตามจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ” อันมีผลกระทบต่อการพิจารณาโยกย้ายแต่งตั้งการเลื่อนตำแหน่งและวินัยของข้าราชการตุลาการตามมาตรา 17และมาตรา 62

Advertisement

โดยมีประกาศกำหนดให้ในการดำเนินการเลือกก.ต.นั้น สำนักงานศาลยุติธรรมเท่านั้นที่เป็นหน่วยงานกลางในการแนะนำตัวมีหน้าที่เผยแพร่ประวัติการรับราชการ ผลงานและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของผู้มีสิทธิรับเลือกที่มีความประสงค์ให้เผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้มีสิทธิอย่างเสมอภาครวดเร็วและเป็นธรรม ดังนั้นการกระทำใด ๆ ของข้าราชการตุลาการอันมีลักษณะเป็นการหาเสียงตามประกาศนี้เพื่อให้ข้าราชการตุลาการอื่นลงคะแนนหรืองดเว้นลงคะแนนเลือกบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการใด ๆ จึงเป็นการไม่ถือและปฏิบัติตามจริยธรรมของข้าราชการตุลาการและเป็นการกระทำผิดวินัยข้าราชการตุลาการตาม พรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2553 มาตรา 13 วรรคสี่ประกอบมาตรา 62 นอกจากนี้ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกรรมการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ.2561 ข้อ 29อันเป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการเลือก ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิในครั้งนี้ ยังได้เน้นย้ำหลักการห้ามหาเสียงไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามผู้สมัครกระทำการใด ๆ หรืออาศัยผู้ใดกระทำการอันมีลักษณะเป็นการหาเสียงเพื่อให้ข้าราชการตุลาการลงคะแนนหรืองดเว้นลงคะแนนเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิทั้งนี้ให้นำหลักเกณฑ์การห้ามหาเสียงเลือกกรรมการหรืออนุกรรมการใด ๆ ตามมาตรา 17วรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลมหากผู้สมัครฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติเข้ารับการรับเลือกเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความหมายว่าการเลือก ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิในครั้งนี้ไม่อาจมีการหาเสียงเพื่อให้ลงคะแนนหรืองดเว้นลงคะแนนใด ๆ ให้แก่ผู้มีสิทธิรับเลือกได้

แต่ปรากฏว่าในการเลือก ก.ต. บุคคลภายนอกครั้งนี้มีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวโดยการโพสต์ข้อความลงในแอปพลิเคชันไลน์กลุ่มต่างๆซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้ใดลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรายใดรายหนึ่งและงดเว้นลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรายใดรายหนึ่ง โดยปรากฏว่ามีแอปพลิเคชั่นไลน์หนึ่งซึ่งมีผู้พิพากษาเป็นสมาชิกมากกว่าหนึ่งพันคนชื่อ“ สภาตุลาการ” มีผู้ใช้ชื่อโปรไฟล์ว่า“ j29 Anuruk” อยู่ในกลุ่มไลน์ดังกล่าวด้วยและมีการกระทำในลักษณะเป็นการหาเสียงอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและเป็นการไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ

โดยผู้ใช้ไลน์ดังกล่าวเป็น ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิขั้นศาลอุทธรณ์มีหน้าที่ควบคุมดูแลและลงโทษผู้กระทำผิดข้อห้ามของกฎหมายหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมของข้าราชการตุลาการแล้วในการเลือก ก.ต.ศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ

Advertisement

จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดหน้าที่และอำนาจโดยตรงของตุลาการท่านนั้น ซึ่งเป็น ก.ต. ในขณะนั้นในการที่จะดูแลกระบวนการในการเลือกก.ต.คนนอก ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยบริสุทธิ์ยุติธรรมแก่ผู้สมัครทุกคนและวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติของผู้สมัคร

โดยพรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543มาตรา 17วรรคสี่บัญญัติ ให้ถือว่าการกระทำใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการหาเสียงเพื่อให้ข้าราชการตุลาการลงคะแนนหรืองดเว้นลงคะแนนเลือกบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการใด ๆ เป็นการไม่ถือและปฏิบัติตามจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ และข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ.2561ข้อ 24บัญญัติว่าห้ามผู้สมัครกระทำการใด ๆ หรืออาศัยผู้ใดกระทำการอันมีลักษณะเป็นการหาเสียงเพื่อให้ข้าราชการตุลาการลงคะแนนหรืองดเว้นลงคะแนนเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิทั้งนี้ให้นำหลักเกณฑ์การห้ามหาเสียงเลือกกรรมการหรืออนุกรรมการใด ๆ ตามมาตรา 17 วรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม และวรรคสองบัญญัติว่า หากผู้สมัครฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติเข้ารับการรับเลือกเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ

ดังนั้นการห้ามหาเสียงหรืออาศัยผู้อื่นหาเสียงย่อมอาจมีผลทำให้ผู้สมัครขาดคุณสมบัติและอาจทำให้กระบวนการในการเลือก ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิในครั้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายได้หากพิจารณาได้ความว่ามีการหาเสียงในการเลือกครั้งนั้นซึ่งเป็นข้อห้ามตามกฎหมาย และบุคคลที่จะต้องทำการวินิจฉัยว่ากระบวนการในการเลือก ก.ต. และคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับเลือกขัดต่อข้อ 29 วรรคสองของข้อบังคับของประธานศาลฎีกาก็คือ ก.ต.ตามที่พรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 37วรรคสามกำหนดหน้าที่และอำนาจไว้

ดังนั้นตุลาการท่านดังกล่าวซึ่งเป็น ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิชั้นศาลอุทธรณ์อยู่ในขณะนั้นย่อมมีหน้าที่และอำนาจโดยตรงที่กฎหมายกำหนดให้เป็นผู้ใช้อำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติและกระบวนการในการเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิในครั้งนี้ แต่กลับปรากฏว่าตุลาการท่านดังกล่าว พบเห็นว่ามีผู้โพสต์ข้อความหรือเอกสารหาเสียงเพื่อให้ลงคะแนนให้ผู้สมัครรายหนึ่งรายใดหรือโพสต์ข้อความในลักษณะที่เป็นผลเสียหายแก่ผู้สมัครรายใดในไลน์กลุ่มดังกล่าวอันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายและจริยธรรมข้าราชการตุลาการ
นอกจาก จะไม่ห้ามปรามมิให้กระทำ หรือดำเนินการทางวินัยข้าราชการตุลาการดังกล่าว ทั้งที่เป็น ก.ต.และมีอาวุโสสูงอยู่ในไลน์กลุ่ม กลับกระทำการอันมีลักษณะเป็นการหาเสียงให้แก่ผู้สมัครหมายเลข3เเละ4 เสียเอง หลายครั้งตามเอกสารหน้าจอไลน์

การกระทำของบุคคลดังกล่าวซึ่งนอกจากจะเป็นผู้พิพากษาที่จะต้องปฏิบัติตาม พรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมแล้วยังเป็น ก.ต. ซึ่งเป็น“ เจ้าหน้าที่ของรัฐ” และเป็น“ เจ้าพนักงานของรัฐ” ตามบทนิยามมาตรา 4แห่ง พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 การกระทำเป็นการไม่ถือและปฏิบัติตามจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ
ที่บัญญัติให้ข้าราชการตุลาการต้องยึดถือและปฏิบัติตามการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ย่อมเป็นการกระทำความผิดวินัยประการสำคัญ
บุคคลดังกล่าวรู้ดีว่าตนซึ่งเป็น ก.ต. มีหน้าที่และอำนาจที่จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือก ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิและกระบวนการในการเลือก ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิครั้งนี้ ตามพรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม

แต่กลับปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยไม่ตักเตือนหรือดำเนินการทางวินัยแก่บุคคลในไลน์กลุ่มดังกล่าว และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยกระทำผิดวินัยเสียเองโดยการหาเสียงให้แก่ผู้สมัครหมายเลข 3และหมายเลข 4 ซึ่งเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้สมัครรายอื่นเพราะจะเป็นการทำให้ผู้สมัครหมายเลข 1และหมายเลข 2เสียเปรียบ

การกระทำดังกล่าวอาจเข้าลักษณะเป็นความผิดตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ที่บัญญัติว่า“ เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด … ” กฎหมายและประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมที่ห้ามข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมกระทำการใดอันเป็นการหาเสียงต่อข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมอื่นนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและบริสุทธิ์โปร่งใสในการเลือกก.ต.เนื่องจากคณะก.ต.มีอำนาจในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายและลงโทษทางวินัยของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 36(3 ) ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สมัครซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมไม่มีโอกาสเข้ามาหาเสียงหรือโต้แย้งแสดงเหตุผลในกรณีที่มีการให้ข้อมูลที่เป็นผลเสียหายแก่ตนหากยอมให้ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมคนใดคนหนึ่งหาเสียงให้แก่ผู้มีสิทธิรับเลือกคนใดได้ย่อมเป็นการได้เปรียบเสียเปรียบแก่ผู้สมัครอื่นที่ไม่มีข้าราชการตุลาการสนับสนุน นอกจากนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 198 บัญญัติให้ การบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับผู้พิพากษาศาลยุติธรรมต้องมีความเป็นอิสระและดำเนินการโดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม” ก็เพื่อคุ้มครองหลักความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ เนื่องจากอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีมีผลต่อสิทธิหน้าที่และเสรีภาพของบุคคลการแต่งตั้งโยกย้ายและการลงโทษทางวินัยข้าราชการตุลาการจึงต้องกระทำโดยคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระซึ่งนอกจากจะเป็นอิสระจากการแทรกแซงจากภายนอก

การที่ ก.ต. ซึ่งอยู่ในตำแหน่งกระทำผิดวินัยหาเสียงให้แก่ผู้สมัครรายใดรายหนึ่งเพื่อให้บุคคลที่ตนประสงค์จะให้เข้ามาเป็น ก.ต. นั้นได้รับเลือกเป็น ก.ต. เสียเองทั้งที่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้กระทำยิ่งอาจมีปัญหาเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์. เนื่องจาก ก.ต. ต้องเป็นผู้วินิจฉัยเรื่องกระบวนการในการเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิและคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่ามีบุคคลอื่นในไลน์กลุ่มอื่นโพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกันอันเข้าลักษณะเป็นการหาเสียงเพื่อให้ข้าราชการตุลาการลงคะแนนให้ผู้สมัครหมายเลข 3เเละ4 ให้เป็น ก.ต. บุคคลภายนอก
ซึ่งหากยอมให้มีการกระทำในลักษณะหาเสียงช่วยผู้สมัคร ก.ต. บางรายในไลน์กลุ่มต่างๆได้ย่อมจะเป็นการส่งเสริมให้มีการสร้างเครือข่ายอิทธิพลและทำลายระบบการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะให้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริงด้วยเหตุสำคัญดังกล่าวจึงจำเป็นต้องป้องกันและปราบปรามมิให้มีการกระทำเช่นนี้จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดำเนินการตามกฎหมาย

นายชำนาญยังได้เเนบเอกสารหลักฐานเป็น สำเนาหนังสือสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมหลักเกณฑ์การห้ามหาเสียงเลือกกรรมการหรืออนุกรรมการใด ๆ , สำเนาหนังสือสำนักงานศาลยุติธรรมพร้อมสำเนาประกาศ ก.ต.เรื่องแนวทางพิจารณาเกี่ยวกับจริยธรรมในการหาเสียง,เอกสารจากหน้าจอไลน์จำนวน69เเผ่น ,เอกสารจากหน้าจอไลน์แสดงการโพสต์ข้อความของผู้ใช้ชื่อโปรไฟล์ไลน์ว่า j29 Anuruk จำนวน 11แผ่น ,เอกสารจากหน้าจอไลน์กลุ่มต่างๆที่มีบุคคลอื่นโพสต์ข้อความอันเข้าลักษณะเป็นการหาเสียงให้แก่ผู้สมัคร ก.ต. จำนวน 19 แผ่น ประกอบคำร้องด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image