สกู๊ปหน้า 1 :ผลได้-ผลเสีย คุมคอนเทนต์ ‘ออนไลน์’

สกู๊ปหน้า 1 :ผลได้-ผลเสีย คุมคอนเทนต์ “ออนไลน์”

เป็นอีกประเด็นต้องจับตา เมื่อ อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูข้อกฎหมายและศึกษากฎระเบียบการออกกฎหมาย เพื่อควบคุมเนื้อหาในสื่อออนไลน์และการนำเสนอในโซเชียลมีเดีย โดยพิจารณาจากต่างประเทศ เช่น อินเดีย เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงใช้ในประเทศไทย ก่อนเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป

เหตุผลหลักๆ ความว่า ปัจจุบันการสื่อสารปรับเปลี่ยนรูปแบบฉับไว ไม่ใช่แค่สื่อออนไลน์ แต่หมายรวมไปถึงแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก และคนที่มีผู้ติดตามในโลกออนไลน์จำนวนมาก กฎหมายที่มีอยู่ ทำให้การดำเนินการล่าช้า สวนทางกับความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พูดง่ายๆ คือ ออกฤทธิ์ช้า คล้ายกับว่าไม่ทันใจ

อย่างไรก็ตาม มีการย้ำว่า ที่กล่าวมานั้นเน้นไปที่ความเสียหายของ “ประชาชน” ลดความขัดแย้ง ลดคดีความ และลดข้อความที่ทำให้ประชาชนเสียหาย

คำถามที่ตามมา คือ “พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์” ที่มีอยู่ ยังไม่เพียงพอหรืออย่างไร และจงใจพุ่งเป้าไปที่ “คลับเฮาส์” หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา บทสนทนาจากบุคคลต่างแดนบางราย กลายเป็นทอล์ก ออฟ ไทยแลนด์หลายครั้งหลายครา

Advertisement

ประเด็นที่ว่านี้ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ “ไอลอว์” มีความเห็นว่า หากจะพูดถึงการควบคุมสื่อตามกฎหมาย ปัจจุบันมี 3 ช่องทางหลัก คือ 1.ใครทำผิดก็ดำเนินคดีกับคนนั้น 2.ควบคุมทางผู้ให้บริการ กล่าวคือหากเห็นว่าใครผิดก็ให้ผู้ให้บริการลบ และ 3.บล็อกโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่มีอยู่ ก็ครบทั้ง 3 ช่องทางแล้ว ส่วนการดำเนินคดี จะเร็วหรือช้า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัว พ.ร.บ. แต่ขึ้นอยู่กับว่าตำรวจและเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการอย่างไรต่างหาก

“มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมายตัวใหม่เลย ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หากเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความมั่นคง ก็จะมีประกาศคำสั่งให้ลบภายใน 24 ชม. ซึ่งผมเองก็คิดว่ามันเร็วไปเสียด้วยซ้ำ และเรื่องของการบล็อกเองโดยเจ้าหน้าที่รัฐก็มีหลายช่องทาง แต่การบล็อกเองต้องขออำนาจจากศาล หากว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพ์ เช่น ตำรวจ หรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เห็นว่า ต้องบล็อกอันไหน ก็ให้รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเห็นชอบ และนำเรื่องไปยื่นต่อศาล พื้นฐานกฎหมายเป็นแบบนี้ หากใครจะตีความว่าเครื่องมือที่มีอยู่ไม่เพียงพอ หรือไม่รวดเร็ว ก็แล้วแต่คุณ แต่โดยปกติ พ.ร.บ.คอมพ์ตอนนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาอะไร เพียงติดในเรื่องของการจับกุมดำเนินคดีที่มีการเขียนความผิดของผู้ให้บริการค่อนข้างกว้าง และเข้มงวดมากเป็นพิเศษ” ยิ่งชีพอธิบาย

ก่อนเล่าย้อนที่มาของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ซึ่งออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2550 อันมีที่มาจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ก่อนที่จะมีการแก้ไขครั้งเมื่อปี 2559 และประกาศใช้ปี 2560 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติเช่นเดียวกัน

Advertisement

“ทุกคนที่ลงมติและเป็นกรรมาธิการพิจารณาเห็นชอบ พล.อ.ประยุทธ์ก็แต่งตั้งเองทั้งหมด มันจะขาดเหลืออะไร ทั้งหมดก็อยู่ในมือเขาตั้งแต่แรก ถ้าเขาคิดว่าสิ่งที่เขียนเองไม่พอ มันก็เป็นงานของเขาหมดเลยที่จะเพิ่มเติมหรือแก้ไขอะไร แต่ในเรื่องของวิธีการที่ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปศึกษากฎระเบียบการออกกฎหมาย เพื่อควบคุมเนื้อหาในสื่อออนไลน์ และการนำเสนอในโซเชียลมีเดีย หากทำงานในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา เพื่อตอบสนองต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และหลักสากล ผมก็เห็นว่ามันไม่ได้มีปัญหาอะไร” ผู้จัดการไอลอว์กล่าว

จากแง่มุมกฎหมาย มาลองดูความเห็นในประเด็น “สื่อออนไลน์” กันบ้าง ผศ.ดร.ฉลองรัฐ เฌอมาลย์ชลมารค ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า สื่อออนไลน์มีทั้งข้อดีและข้อด้อย รวมถึงข้อจำกัด กฎหมายต้องมีการปรับปรุงเรื่อยๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องพิจารณาว่าปัจจุบันสื่อออนไลน์มีปัญหาเรื่องอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม หากมีการควบคุมมาก จะทำให้สื่อมวลชนทำงานไม่สะดวก ทั้งเรื่องของการตรวจสอบหรือการนำเสนอข้อมูลที่จำเป็นต่อสังคม โดยเฉพาะการเข้าไปค้นข้อมูลเชิงลึกหรือการรายงานข่าวให้ทันต่อเหตุการณ์ นอกจากนี้ ต้องพิจารณาบริบทสังคมไทยและต่างประเทศถึงความเหมือนและแตกต่างด้วย

“เช่นกรณีที่อยากให้ไปดูของอินเดีย เราก็ต้องพิจารณาว่าอินเดียมีจุดเด่นอะไรในข้อกฎหมาย และมีข้อด้อยตรงไหน หมายความว่าถ้าไปดูประเทศไหนเป็นต้นแบบ ก็ต้องดูว่ามีความคล้ายคลึงของประเทศของเราหรือไม่ ถ้าเราเอาจากประเทศที่ประชาธิปไตยมากๆ มาเป็นต้นแบบและมาผสมกับประเทศเพื่อนบ้าน และก็ต้องปรับหยิบข้อดีข้อด้อยมาใช้” ผศ.ดร.ฉลองรัฐแนะ

สำหรับประเด็นเรื่อง “ข่าวปลอม” อาจารย์ฉลองรัฐมองว่า ผู้รับข่าวสารในประเทศมีความรู้เท่าทันสื่อและวิเคราะห์ข่าวต่างๆ ได้พอสมควร แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีเรื่องของข่าวปลอมหรือข่าวที่ไม่มีข้อมูลที่เป็นจริงมานำเสนอ ซึ่งรัฐต้องเข้ามาควบคุมหรือจัดการให้เหมาะสม แต่ขณะเดียวกันข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอก็อาจคำนึงถึงเรื่องของความรวดเร็วแต่มีกรณีที่น่าสนใจคือข่าว “ลุงพล” ซึ่งมีการนำเสนอข่าวยืดเยื้อเป็นปี นำไปสู่การแบ่งพวก ระหว่างกลุ่มที่เป็นแฟนคลับกับกลุ่มที่ต่อต้าน เกิดความขัดแย้งทางสังคมขึ้นมา

“กรณีข่าวลุงพล เราต้องยอมรับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบที่เกิดจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนบางแห่ง ที่ทำให้กระแสข่าวดราม่า ประเด็นนี้อาจจะนำไปสู่รัฐบาลอาจคิดว่าควรจะมีการปรับปรุงเรื่องการดูแลสื่อ ก็ต้องดูด้วยว่ารัฐบาลจะจัดการอย่างไร เพื่อให้มีมาตรฐาน ขณะเดียวกันต้องคำนึงด้วยว่าประชาชนมีสิทธิพื้นฐานที่จะได้รับรู้ข่าวสารสื่อมวลชนมีสิทธิที่จะนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่จะนำมาเผยแพร่สู่ประชาชน หากกฎหมายที่จะออกมาควบคุมการทำงานของสื่อมากเกินไป ซึ่งอาจจะทำให้ไปปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารของประชาชน กฎหมายฉบับนั้นก็อาจจะไม่ได้รับการยอมรับ และอาจมีการท้วงติงจากนานาชาติได้ว่าเป็นกฎหมายที่ปิดกั้นการนำเสนอข่าวสาร ถ้ารัฐบาลไม่แก้ไขกฎหมายยุคนี้เลย ก็จะไม่ทันความก้าวหน้า ไม่ทันเทคโนโลยีที่พัฒนาไป แต่ก็ต้องคำนึงถึงสิทธิประชาชนของการรับรู้ข่าวสาร และบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะต้องทำงานได้อย่างอิสระและไม่ถูกจำกัดมากจนเกินไป” ผศ.ดร.ฉลองรัฐกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image