เปิดคำตัดสินศาลฎีกา สั่ง”ท่านมุ้ย”ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ล้มละลาย พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

จากกรณีมีประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา เรื่องศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 ให้ ม.จ.ชาตรี เฉลิมยุคล หรือท่านมุ้ย อายุ 74 ปี ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ลูกหนี้ เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว และศาลได้กําหนดนัดไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย ณ ศาลล้มละลายกลาง ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะแขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 เวลา 09.30 น.เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้แล้ว มีสิทธิไปฟ้องการไต่สวนและซักถามลูกหนี้ที่ศาลได้ หรือจะมอบฉันทะเป็นหนังสือให้ผู้หนึ่งผู้ใดไปแทนก็ได้ นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานถึงรายละเอียดคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดีหมายเลขแดง 1392/2554 ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ม.จ.ชาตรี เรื่องล้มละลาย สรุปว่าคดีนี้บริษัทโจทก์ ยื่นฟ้องว่า เดิมจำเลยเป็นหนี้ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) จำนวน 10,096,068.48บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 16.5 ต่อปีของเงินต้น 7 ล้านบาท ตามมูลหนี้ในคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในคดีหมายเลขแดง 21264/ 2539 จำเลยตกลงชำระเงินและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีกับธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้เดิม หากผิดนัดยอมให้ยึดทรัพย์ จำนอง ออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดด้วย หลังจากศาลมีคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เดิมได้นำเจ้าพนักงานเข้าบังคับคดียึดทรัพย์ จำนอง ออกขายทอดตลาดได้เงิน 3,070,000 บาท

ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2544 ธนาคารเป็นเจ้าหน้าที่เดิมได้โอนสิทธิเรียกร้องเรื่องนี้ให้กับบริษัทสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด แล้ว เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2547 บริษัท บริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัดได้โอนกิจการและสิทธิเรียกร้องทั้งหมดให้แก่บริษัทโจทก์ โดยคำนวณถึงวันฟ้อง จำเลยจะมีหนี้ค้างชำระต่อโจทก์รวม 22,032,463.32 บาท ซึ่งจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว โจทก์จึงให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย

โดยจำเลยให้การว่า การโอนหนี้ระหว่างบริษัทโจทก์กับบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรีจำกัดไม่ชอบ เนื่องจากการบังคับคดีตามคำพิพากษาเป็นสิทธิเฉพาะตัวของเจ้าหน้าที่บริษัทโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและจำเลยมีทรัพย์สิน สิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอก มีมูลค่ามากกว่าหนี้ของบริษัทโจทก์ไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว อีกทั้งจำเลยมีธุรกิจรับสร้างภาพยนตร์มีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้กับบริษัทโจทก์ได้ กรณีจึงมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย จึงขอให้ยกฟ้อง

Advertisement

ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 พิพากษายกฟ้อง บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิทฯ

โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลฎีกา โดยศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด และบริษัทที่ผลิตภาพยนตร์ แต่ทางนำสืบไม่ได้แสดงให้เห็นว่าบริษัทที่จำเลยถือหุ้นอยู่นั้น มีกำไรขาดทุนหรือหนี้สินอย่างไร และที่จำเลยอ้างว่าบริษัท ที่ผลิตภาพยนตร์นั้นมีสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างผลิตภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3 ยุทธหัตถี ค่าจ้างรวม 270 ล้านบาทนั้น เห็นว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาระหว่าง บริษัทผลิตภาพยนตร์ กับบริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทผลิตภาพยนตร์ถือเป็นนิติบุคคล ต่างหากต่างจากจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นโดยบริษัทย่อมมีเจ้าหนี้และลูกหนี้ของตัวเอง ดังนั้น สิทธิที่จะเรียกร้องตามสัญญาจ้างสร้างภาพยนตร์ย่อมเป็นสิทธิของบริษัท ไม่ใช่สิทธิของจำเลย

ส่วนที่จำเลยอ้างว่ามีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาว่าจ้างผลิตภาพยนตร์ระหว่างจำเลย กับนายสมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ หรือเสี่ยเจียง จำนวน 30 ล้านบาท ตามสัญญาว่าจ้างผลิตภาพยนตร์นั้นเห็นว่า ตามสัญญาดังกล่าวจำเลยจะได้รับเงินเมื่อดำเนินการครบถ้วนตามสัญญาแล้ว แต่ปรากฏว่างานที่จำเลยได้ทำไปแล้วนั้นเป็นเพียงการค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เขียนบทภาพยนตร์ มีมูลค่าประมาณ3ล้านบาทเท่านั้น และไม่ปรากฏว่าจำนวนเงินดังกล่าว ผู้ว่าจ้างจะต้องชำระหนี้ให้กับจำเลยอีกเพียงใด เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ต่างๆที่จำเลยเป็นหนี้ตามคำพิพากษาตั้งแต่ปี 2539 แล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้กระทั่งเจ้าหนี้เดิมนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ จำนองออกขายทอดตลาด ย่อมแสดงให้เห็นถึงการที่จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาจึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ จึงต้องฟังว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และหลังจากที่ได้มีการโอนหนี้ต่อมากระทั่งบริษัทโจทก์เป็นผู้รับโอน จำเลยก็ไม่ได้ชำระหนี้ในส่วนที่ขาด หรือติดต่อขอประนอมหนี้แต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์บริษัทโจทก์ฟังขึ้น จึงพิพากษากลับให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image