กองปราบปรามร่วมกับกรมศิลปากรลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าโบราณวัตถุ พบโบราณวัตถุคล้ายปืนใหญ่ 7 กระบอก

กองปราบปรามร่วมกับกรมศิลปากรลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าโบราณวัตถุ พบโบราณวัตถุคล้ายปืนใหญ่ 7 กระบอก

เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผบก.ป. สั่งการให้ พ.ต.อ.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ ผกก.1 บก.ป. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ป. เข้าทำการตรวจค้น ร้านค้าที่มีการจำหน่าย และเก็บรักษาโบราณวัตถุ จำนวน 3 จุด ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 2 จุด และพื้นที่ จ.นนทบุรี จำนวน 1 จุด

สืบเนื่องจาก เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับปราบปราม (บก.ป.) ได้รับแจ้งจากเพจเฟซบุ๊ก “กองปราบปราม” ให้ช่วยตรวจสอบเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่ง ซึ่งมีการขายสินค้าประเภทโบราณวัตถุลักษณะคล้ายปืนใหญ่ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีการประกาศขายกันอย่างโจ่งแจ้ง ปรากฏข้อความชวนเชื่อให้ผู้คนทั่วไปเกิดความสนใจและมีการจำหน่ายในราคาที่ค่อนข้างสูง เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก. 1 บก.ป. จึงได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า ร้านดังกล่าวมีการประกาศขายโบราณวัตถุจริง และเปิดร้านจำหน่ายสินค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีการเก็บรักษาสินค้าไว้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ จ.นนทบุรี จากนั้นได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุญาตศาลออกหมายค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 แห่ง เพื่อเข้าทำการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่

Advertisement

ต่อมาวันที่ 15 กันยายน เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ป. ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้ทำการตรวจค้นร้านค้าที่มีการจำหน่าย และสถานที่เก็บรักษาโบราณวัตถุฯ จำนวน 3 จุด ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 2 จุด และพื้นที่ จ.นนทบุรี จำนวน 1 จุด โดยเมื่อไปถึงได้พบกับนายยืนยง สงวนนามสกุล แสดงตัวเป็นเป็นเจ้าของสถานที่ทั้งหมด และพาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมทำการตรวจค้น ผลการตรวจค้นพบโบราณวัตถุลักษณะคล้ายปืนใหญ่ทั้งสิ้น 7 กระบอก และยังตรวจพบมีการขายสินค้าประเภทอื่นๆ อีกด้วย

จากการสอบสวนนายยืนยง ให้การรับว่าตนเป็นผู้ครอบครองปืนใหญ่ของกลางทั้งหมด โดยตนได้ติดต่อซื้อมาจากคนรู้จัก ก่อนนำเข้ามาจากต่างประเทศ กำหนดราคาตามขนาด ซึ่งกระบอกเล็กขายในราคาประมาณ 50,000 – 100,000 บาท และกระบอกใหญ่ขายในราคา 100,000 – 200,000 บาท มีหน้าร้านบริเวณถนนบรมราชชนนี แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ เปิดมานานกว่า 8 ปี ส่วนกรณีที่พบโบราณวัตถุลักษณะคล้ายปืนใหญ่ปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดียนั้น เป็นบุคคลอื่นที่ช่วยโปรโมตขายสินค้าทางออนไลน์ให้

Advertisement

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้ทำการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า โบราณวัตถุลักษณะคล้ายปืนใหญ่ทั้งหมด เป็นวัตถุที่ทำเทียม เลียนแบบขึ้นมา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะนำไปตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์เพื่อยืนยันอีกครั้ง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ ยังตรวจสอบพบว่าร้านค้าดังกล่าวไม่ได้ทำการขออนุญาตทำการค้าตามกฎหมาย

เบื้องต้นพฤติการณ์ของนายยืนยงเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 19 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงคุมตัวนายยืนยงส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image