สกู๊ปหน้า 1 :  ‘กสทช.-ตร.’เตือนภัย ระวังตุ๋นออนไลน์

สกู๊ปหน้า 1 :  ‘กสทช.-ตร.’เตือนภัย ระวังตุ๋นออนไลน์

กลายเป็นปัญหาระบาดไปทั่วในสังคมไทยขณะนี้ คือการหลอกลวงผ่านระบบออนไลน์ที่มีผู้เข้าถึงได้มาก มาในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทั้งการส่งข้อความหรือเอสเอ็มเอสชักชวนให้ลงทุนผลตอบแทนสูง การกู้เงิน ซื้อสินค้าราคาถูก ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล เว็บพนันออนไลน์ แชร์ออนไลน์ หรืออย่างกรณีล่าสุด หลอกขายมือถือให้กับเยาวชน จนทำให้เด็กเครียดจัดเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิต

หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบเรื่องนี้อย่าง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะผู้กำกับดูแลกิจการออนไลน์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ พยายามหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้อย่างเต็มที่

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ประชาชนต้องเป็นคนร้องเข้ามาว่าเบอร์โทรศัพท์นี้มีการเชิญชวนการเล่นพนัน การกู้เงิน รวมไปถึงการหลอกลวงเรื่องต่างๆ แล้วส่งเบอร์มาที่สำนักงาน กสทช. จะมีการตรวจสอบแล้วส่งให้ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ หลังจากนั้นเมื่อพบว่าเบอร์นั้นเป็นเบอร์มิจฉาชีพจริง ก็จะส่งเบอร์ไปให้
โอเปอเรเตอร์ดำเนินการบล็อกต่อไป

นายไตรรัตน์กล่าวว่า ทางสำนักงาน กสทช.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ถ้ามีการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ก็จะส่งเรื่องไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมทั้งประสานงานไปยังกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือตำรวจไซเบอร์ ตรวจสอบอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้สำนักงาน กสทช.จะคอยกำชับกับทางโอเปอเรเตอร์ให้บล็อกเบอร์โทรศัพท์เอสเอ็มเอสที่สร้างความรบกวนกับประชาชน

Advertisement

นายไตรรัตน์กล่าวว่า ส่วนเรื่องการจะไปปิดบัญชีธุรกรรมทางการเงินของมิจฉาชีพคงเป็นหน้าที่ของตำรวจ อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงาน กสทช.จะช่วยประสานงานเรื่องต่างๆ ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เร็วที่สุด ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ก็ได้บล็อกเอสเอ็มเอสไปจำนวนมาก ทางมิจฉาชีพก็เกิดอาการผึ้งแตกรัง มีการเปลี่ยนวิธีการมาเป็นการโทรศัพท์แทน อยากให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ส่งเบอร์โทรศัพท์ คลิปเสียง มายังสำนักงาน กสทช. เพื่อให้มีการตรวจสอบ

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนเรื่องภัยออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ มาซ้ำเติมความเดือดร้อนประชาชนท่ามกลางโควิดแพร่ระบาด ได้สั่งการไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเด็ดขาด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สนองนโยบายพร้อมกำชับไปยังทุกหน่วยงานในสังกัด ให้สืบสวนปราบปรามจับกุมอาชญากรรมทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน อย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า ตร.ได้ประสานงาน กสทช. ทาง กสทช.ก็ได้สนองนโยบายของทางนายกรัฐมนตรีและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยการดำเนินการบล็อกเอสเอ็มเอสที่มีเนื้อหาชัดเจนว่าเป็นการหลอกลวง พนันออนไลน์ หรือลามกอนาจาร เพื่อประโยชน์ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะการฉ้อโกงออนไลน์ หรือการหลอกลวงทางออนไลน์ กำลังแพร่ระบาดในปัจจุบันและสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน

Advertisement

“สถิติการรับแจ้งของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) พบว่าตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วถึงปัจจุบัน จะมีการรับแจ้งกว่า 2,000 คดี เป็นการหลอกลวงด้านการเงินกว่า 1,000 คดี จากการวิเคราะห์ก็พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ประชาชนมีเวลาอยู่บ้าน มีโอกาสใช้สื่อสังคมออนไลน์ และประชาชนหันมาหารายได้เสริมกันมากขึ้น เมื่อพบเห็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง จึงอาจจะทำให้ไม่ได้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน และทำให้เกิดช่องว่างให้เหล่ามิจฉาชีพฉวยโอกาสในการกระทำความผิดได้” พ.ต.อ.กฤษณะกล่าว และว่า อย่างกรณีล่าสุดกรณีนาส แอพพ์ (Nas App) ตอนนี้มีผู้เสียหายมาลงทะเบียนกว่า 4,000 ราย และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 500 ล้านบาท ตอนนี้ก็ยังคงเปิดให้ลงทะเบียนผู้เสียหายอยู่ มีแนวโน้มว่าจะมีผู้เสียหายมาลงทะเบียนเพิ่มเติมอีก ทำให้ยอดมูลค่าความเสียหายโดยรวมน่าจะสูงขึ้นไปอีก
พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า เหล่ามิจฉาชีพก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์บ้านเมือง อย่างช่วงก่อนนี้มักจะส่งข้อความมาในลักษณะการได้รับสิทธิกู้เงินบ้าง การได้รับเงินช่วยเหลือบ้าง เป็นต้น แต่หลังจากประชาชนเริ่มรู้ทันจะเปลี่ยนรูปแบบข้อความ ล่าสุดปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ จะเป็นข้อความในลักษณะการนัดฉีดวัคซีนโควิด-19 เรียกว่าเข้ากับสถานการณ์มาก

รองโฆษก ตร.บอกว่า ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อจะได้รู้ทันกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพเหล่านี้ นอกจากนี้ก็ยังมีการหลอกขายสินค้าออนไลน์ที่เกิดขึ้นมากเช่นกัน จึงขอให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังให้มาก ส่วนเรื่องปัญหาในการจับกุม ส่วนมากผู้ต้องหาจะกระทำกันในรูปแบบขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจน และเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ใช้ส่งข้อความได้ลงทะเบียนไว้กับเครือข่ายโทรศัพท์ ก็มักจะไม่ใช่ผู้ใช้ตัวจริง แต่อาจจะเป็นการรับจ้างไปเปิดเบอร์มาให้เหล่ามิจฉาชีพใช้ บัญชีธนาคารก็เช่นกัน ส่วนมากก็มักจะเป็นบัญชีจ้างเปิด ทำให้การติดตามหรือการหาผู้ร่วมขบวนการตัวจริงนั้น อาจจะต้องใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานและสืบสวนสอบสวนพอสมควร

“ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดที่ประชาชนทำได้ก็คือการป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมทางการเงินหรือลงทุนออนไลน์ให้ผลตอบแทนสูงเกินไป หรือฟังดูง่าย ไม่ซับซ้อน หากพบเห็นข้อความที่น่าสงสัย ไม่รู้ที่มาที่ไป ก็ขอให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพและหลีกเลี่ยงไป

นอกจากนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิดสามารถแจ้งไปยังคอลเซ็นเตอร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” พ.ต.อ.กฤษณะกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image