เปิดใจ อธิบดีดีเอสไอคนใหม่ “ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์” เน้น 7 คดีหลัก

“ไตรยฤทธิ์” อธิบดีดีเอสไอ แถลงนโยบาย ปี65 “มิติใหม่แห่งการสอบสวนคดีพิเศษ” เน้น 7 คดีหลักเร่งทำให้สำเร็จ ยันขับเคลื่อนตามหลักนิติธรรมให้ความเป็นธรรมต่อสังคม เชื่อข้าราชการเติมเต็มศักยภาพทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่1 ตุลาคม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีการจัดงานแถลงนโยบายกรมสอบสวนคดีพิเศษปี 2565 “มิติใหม่แห่งการสอบสวนคดีพิเศษ” โดยนายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พ.ต.ท.สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.อ.อัครพล บุณโยปัษฎัมภ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้บริหารเข้าร่วมงาน

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

นายไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า วันนี้ตนได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ  จึงขอสื่อสารไปยังพี่น้องประชาชน นับตั้งแต่วันนี้เราจะเร่งดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมาขึ้น ภายใต้การนำของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล เราจะเร่งรัด 7 คดีที่เป็นเป้าหมายพิเศษ คือ 1.คดีรถหรู ที่ยังค้างอยู่ 1,428 คัน มูลค่า 9,800 ล้านบาท 2.คดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ที่เราจะเน้นการยึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติด 3.ขบวนการฉ้อค่าภาษีรัฐหรือการค้าของเถื่อน ยังค้าง 6 คดี มูลค่า178,000 ล้านบาท 4.คดีเวปไซต์พนันออนไลน์ ที่แพร่ระบาดจำนวนมาก มูลค่าความเสียหาย 900,000 ล้านบาท 5.คดีการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ให้คนไทยถือกรรมสิทธิ์แทน โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวค้างอยู่ 12 คดี มูลค่า 46,000 ล้านบาท 6.การฮั้วประมูล การจัดซื้อจัดจ้าง ค้างอยู่3 คดี มูลค่า 7,000 ล้านบาท และ7.การบุกรุกพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติ นี่คือสิ่งที่เราจะเร่งรัดเพราะมูลค่าความเสียหายมากมายเหลือเกิน

ADVERTISMENT

 

ADVERTISMENT

นายไตรยฤทธิ์ ยังกล่าวว่า การขับเคลื่อนงานด้านคดีพิเศษ ในทุกเรื่องมีกระบวนงานที่ขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ ตามระเบียบกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าด้วยการบริหารงานคดีพิเศษ อย่างชัดเจน มีกระบวนงานควบคุม ตรวจสอบ และเร่งรัดให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้อย่างมาตรฐานในการควบคุม กำกับดูแล มีท่านรองอธิบดีซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์การทำงานสูง เป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนงานให้สำเร็จ ลุล่วงไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในฐานะอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีความรับผิดชอบฐานะพนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ขอยืนยันว่าในทุกคดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษจะอยู่บนพื้นฐานของพยานหลักฐานเป็นสำคัญ ทุกคดีถือว่ามีความสำคัญและจะต้องขับเคลื่อนไปตามหลักนิติธรรม ขอยืนยันจะใช้หลักนิติธรรมมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรม เป็นความกล้าในการดำเนินคดีพิเศษอย่างเป็นมาตรฐานในทุกคดี ที่อยู่ในความรับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นคดีใดก็ตาม

นายไตรยฤทธิ์ กล่าวอีกว่า เรื่องการบังคับสูญหายและทรมาน ทราบเบื้องต้นว่ามีเรื่องที่อยู่ระหว่างการสืบสวน 2 เรื่องจะได้เข้าไปตรวจสอบและติดตามการดำเนินการต่อไป สำหรับร่างกฎหมายอยู่ระหว่างการดำเนินการของฝ่ายนิติบัญญัติตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย แนวทางในการปฏิบัติงานเรื่องนี้ ต้องขอเรียนว่ากรณีการบังคับให้สูญหายและทรมาน เป็นเรื่องที่สำคัญการดำเนินการสืบสวนสอบสวน

ต้องมีการบูรณาการกับทุกภาคส่วนในการแสวงหาพยานหลักฐาน และให้ความสำคัญกับพยานหลักฐาน โดยจะนำหลักนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานในคดีพิเศษให้มีความมั่นคง โปร่งใส เชื่อถือได้ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการสืบสวนสอบสวนคดีพิศษให้เกิดประสิทธิภาพ หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นลำดับต้นๆ โดยจะสร้างหน่วยนวัติกรรมทางเทคโนโลยี ขึ้นมาสืบสวนสอบสวน ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างจริงจัง

อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า กรณีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิด ตามกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน ป.ป.ช. กรมสอบสวนคดีพิเศษในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจะได้ร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช. ในการดำเนินการกรณีดังกล่าวให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นส่วนราชการ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการป้องกัน ปราบปราม อาชญากรรมพิเศษตามหน้าที่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และคนอาจจะมองว่าเราเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ในฐานะอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

เราจะนำมาตรฐานสากลตามเกณฑ์หลักนิติธรรมขององค์การสหประชาชาติ มาเป็นมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านคดีพิเศษ ในทุกคดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษจะอยู่บนพื้นฐานของพยานหลักฐานเป็นสำคัญ ทุกคดีถือว่ามีความสำคัญและจะต้องขับเคลื่อนไปตามหลักนิติธรรม จึงขอยืนยันจะใช้หลักนิติธรรม มาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมเป็นความกล้าในการดำเนินคดีพิเศษอย่างเป็นมาตรฐานในทุกคดี ที่อยู่ในความรับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นคดีใดก็ตาม

“หลายคนอาจมองว่าดีเอสไอเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2 แต่เรามีความเป็นสหวิชาชีพ มีข้าราชการที่มีที่มาแตกต่างกันรวมทั้งข้าราชการตำรวจ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หลากหลาย เป็นสหวิทยาการ ที่นำมาบูรณาการการทำงานคดีพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตนเคยเป็นนายแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ ประกอบกับได้รับราชการในดีเอสไอมาก่อน

ในตำแหน่งรองอธิบดี และมีโอกาสได้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีโอกาสร่วมงานกับท่านผู้บริหารที่มาจากตำรวจมาระยะหนึ่ง ถือว่าสามารถสอดคล้องส่งเสริมเติมเต็มศักยภาพของกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เป็นอย่างดียิ่ง นอกจากนี้เราเพิ่มอุปกรณ์ต่างๆที่ทันสมัยและพัฒนาบุคคลากร จึงไม่รู้สึกกังวลแต่อย่างใด เหมือนได้กลับบ้านมากกว่า เชื่อว่าเราจะทำได้สำเร็จ ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจ”นายไตรยฤทธิ์ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image