สธ.ร่างสัญญาซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ แล้ว รอเอฟดีเอขึ้นทะเบียน คาดเข้าไทย พ.ย.นี้

สธ.ร่างสัญญาซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ แล้ว รอเอฟดีเอขึ้นทะเบียน คาดเข้าไทย พ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้มีการติดตามเรื่องการพัฒนายารักษาโรคโควิด-19 ในหลายตัว รวมถึงยาโมลนูพิราเวียร์(Molnupiravir) ด้วย มีการเจรจากันอยู่ตลอด ซึ่งล่าสุดผลการศึกษาระยะที่ 3 ของยาดังกล่าวได้ผลดี อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกา หากขึ้นทาง อย. สหรัฐฯ แล้ว เบื้องต้นจากการเจรจรากันก่อนหน้านี้ ทางผู้ผลิตฯ จะมีการกันจำนวนยานี้สำหรับการรักษาผู้ป่วยจำนวน 2 แสนคน ให้กับประเทศไทย ขณะนี้กรมการแพทย์อยู่ระหว่างการร่างสัญญาซื้อขายคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จแล้วน่าจะเสร็จในสัปดาห์นี้

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากบริษัทจะขึ้นทะเบียนกับอย.สหรัฐฯ ได้แล้ว ยังต้องมีการมาขึ้นทะเบียนนำเข้ายาดังกล่าวกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทยด้วย อาจจะเป็นปลายเดือนนี้ หรือต้นเดือนหน้า จึงคาดการณ์ว่ายาโมลนูพิราเวียร์ Molnupiravir น่าจะมาปลายเดือนพ.ย. หรือต้นเดือน ธ.ค. 2564 ส่วนเรื่องราคานั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากมีการเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูลกันเอาไว้ เพราะเป็นข้อมูลที่มีผลต่อการขายในแต่ละประเทศ ซึ่งไม่เท่ากัน

“สัญญานี้จะมีผลต่อเมื่อ อย.สหรัฐฯ ขึ้นทะเบียน หากไม่ขึ้นทะเบียนให้ใช้ฉุกเฉินก็ถือว่าสัญญานี้เป็นโมฆะ แต่เราพูดคุยและติดตามกันมาตลอด สัญญาน่าจะเสร็จสัปดาห์นี้ พออย.สหรัฐ ขึ้นทะเบียนแล้วเราก็สามารถทำสัญญากันได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่าเมื่อนำยาดังกล่าวเข้ามาแล้วจะมีการใช้อย่างไร ช่วยเสริม หรือทดแทนยาฟาวิพิราเวียร์ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เดี๋ยวผู้เชี่ยวชาญจะมีการหารือข้อสรุปกัน เพราะผลการศึกษาของยานี้เพิ่งออกมา ก็ต้องเอาข้อมูลไปให้ผู้เชี่ยวชาญดู และทบทวนข้อมูลทั้งหมด

Advertisement

เมื่อถามย้ำหลักการใช้ยาดังกล่าว นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ยาดังกล่าวจะใช้ในผู้ป่วยอาการน้อย อาการปานกลาง 1 คน ใช้ 40 เม็ด นาน 5 วัน เท่ากับผู้ป่วย 1 คน จะใช้ยา 40 เม็ด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ ผลิตโดยบริษัทเมอร์ค (Merck) ผ่านการทดสอบในคนเฟส 3 แล้ว ซึ่งอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ทางบริษัทฯ จะขออนุญาตใช้ยาในภาวะฉุกเฉินกับ อย.สหรัฐฯ

จากศึกษาการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในกลุ่มตัวอย่าง 775 ราย กินวันละ 2 ครั้ง นาน 5 วัน มีแค่ 7.3% ที่ป่วยเข้าโรงพยาบาล และไม่มีใครตายด้วยโควิดเลย ส่วนอีกกลุ่มตัวอย่างหนึ่งที่ให้ยาหลอก (Placebo) ป่วยเข้าโรงพยาบาล 14.1% และตายด้วยโควิด 8 ราย

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image