“บิ๊กต๊อก”ชี้ร้านเหล้ารอบ ม.ดังปรับเป็นร้านอาหาร ชะลอโซนนิ่งย่านร.ร.อนุบาล-แข่งแว้นลด

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม

“บิ๊กต๊อก” เผยปัญหา “เด็กแว้น” ลดลง ระบุ “ร้านเหล้า” กว่าร้อยละ 80 ใกล้สถานศึกษาเปลี่ยนกิจการเป็นร้านอาหาร ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชะลอจัดโซนนิ่งรอบโรงเรียนระดับอนุบาล

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 26 ก.ย. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์อำนวยการประสานกำกับติดตามผลการดำเนินงานตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 22/2558 (ศอ.กต.) เรื่องมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาเด็กแว้นและสถานบันเทิง โดยมีนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรองประธาน ศอ.กต. นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในฐานะเลขานุการ ศอ.กต. พร้อมทั้งตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กรมการปกครอง กรมสรรพสามิต กรมราชทัณฑ์ กองทัพบก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้าร่วมการประชุม

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง จากการตรวจสอบรายงานการแจ้งเหตุจากภาคประชาชนผ่านระบบทวิตเตอร์ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล พบสถิติการแข่งในช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีปริมาณการรับแจ้งรวมตัว 21 ครั้ง ซึ่งลดลงกว่าค่าเฉลี่ยที่มีปริมาณการรวมตัวประมาณ 33 ครั้งต่อเดือน เป็นการลดลงร้อยละ 36 และพบว่าจำนวนคนที่รวมตัวนั้นลดลงด้วย ซึ่งอาจเกิดจากสภาพภูมิอากาศส่วนหนึ่ง แต่พบว่ามาตรการที่ตำรวจภูธรภาค 1 ใช้โดยการจับกุมแอดมินเพจที่สนับสนุนการแข่งรถได้หลายครั้ง มีผลในการปราบกลุ่มแข่งรถจักรยานยนต์ลงได้มาก ส่วนถนนที่ยังเป็นจุดอ่อนที่มีการรวมตัวกันคือถ.วิภาวดีรังสิต และ ถ.กาญจนาภิเษก

S__20291625

Advertisement

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า ส่วนผลการดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานบริการ สถานประกอบการและการจำหน่ายสุรา จากการประมวลผลการปฏิบัติการของหลายหน่วยงาน พบว่ามีความคืบหน้าในการจัดระเบียบสถานบริการและสถานประกอบการมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตใกล้เคียงสถานศึกษาไม่พบการฝ่าฝืนอีก รวมทั้งผู้ประกอบการร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบมีสถานที่นั่งดื่มและสถานบันเทิงโดยรอบมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เขตบางซื่อ ได้มีการปรับเปลี่ยนกิจการเป็นร้านจำหน่ายอาหารโดยไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วก็ว่าร้อยละ 80 นอกจากนี้ ในการประชุมยังได้กำหนดแผนงานที่ชัดเจนในการเน้นบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา และไม่มีการออกใบอนุญาตจำหน่ายสุราในเขตใกล้เคียงสถานศึกษาอีก

รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการหารือและพิจารณาแนวทางการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 30/2559 เรื่องมาตรการในการแก้ไขป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนและนักศึกษา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ ศอ.กต.ควบคุมดูแลปัญหาดังกล่าว นอกเหนือจากการควบคุมดูแลการแก้ไขปัญหาเด็กแว้น และสถานบันเทิงที่กระทำผิดกฎหมายด้วย โดยที่ประชุมได้มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม คือ 1.จัดอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ตามหมวด 7 แห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อให้สามารถช่วยระงับเหตุ โดยให้อบรมครู ผู้ปกครอง ของโรงเรียนในกลุ่มอาชีวศึกษาให้ครบทุกสถานศึกษาภายใน ก.ย.นี้ 2.ประเมินสถานศึกษากลุ่มเสี่ยงและจัดโครงการค่ายสุภาพบุรุษ โดยให้ทหารเรือจัดค่ายอบรมนักศึกษาใหม่ก่อนเริ่มเปิดการสอน

3.ร่วมกับ บช.น. จัดโครงการ “รุ่นพี่น้ำดี” ทำความเข้าใจกับรุ่นน้อง และให้นักศึกษาร่วมบำเพ็ญประโยชน์กับตำรวจ 4.จำแนกกำหนดสถานศึกษากลุ่มเสี่ยง และให้สถานศึกษาสามารถจำแนกแยกกลุ่ม ขาว เทา และดำ เพื่อให้ครูที่ปรึกษาเข้าทำกิจกรรมกับกลุ่มเทาและดำ โดยมีกลไกการเยี่ยมบ้านและพูดคุยกับผู้ปกครอง 5.ในกรณีที่ทราบกลุ่มโรงเรียนเสี่ยง อาจให้กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พิจารณาการขยายกรอบการทำงานของโครงการความร่วมมือระหว่างสถานพินิจฯ และสถานศึกษา ที่จะเน้นให้สถานศึกษากลุ่มเสี่ยง โดยจัดกิจกรรมให้นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์เข้าทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียนนักศึกษาดังกล่าว และ 6.กรณีที่สามารถระบุนักเรียนนักศึกษาที่มีความเสี่ยงในเชิงพฤติกรรมที่สูงขึ้น อาจจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในมาตรการเชิงป้องกันด้วย

Advertisement

S__20291628

“นอกจากนี้ ศอ.กต.ยังพิจารณาขอยกเว้นมติ ครม. ในการจัดทำรูปแบบแผนที่เขตโซนนิ่ง สถานบันเทิงใกล้เคียงสถานศึกษาในระดับอนุบาล ตามข้อเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพสามิต กรมการปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และกรมควบคุมโรค เป็นต้น ซึ่งได้เสนอว่าการจัดทำโซนนิ่งในระดับอนุบาลไม่มีความจำเป็น เนื่องจากเด็กในวัยนี้ยังมีอายุน้อยเกินไปไม่อยู่ในภาวะรับรู้เรื่องนี้ โดยจะชะลอการจัดทำไว้ก่อน เพื่อรอผลการประเมินในการบังคับใช้” พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

รมว.ยุติธรรมกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ เรายังได้หารือถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วย โดยให้ที่ ป.ป.ส.ไปศึกษาดูว่าจะสามารถนำมาร่วมกันแก้ไขปัญหาในคณะกรรมการชุดนี้ได้หรือไม่ เนื่องจากของ ป.ป.ส.ก็มีคณะกรรมการในเรื่องของการแก้ไขปัญหายาเสพติดอยู่ด้วย ซึ่งจะต้องดูว่ามันจะเกิดความซับซ้อน หรือสามารถทำได้หรือไม่ เพื่อนำทุกอย่างมารวมกันและเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image