‘ทนายรณรงค์’ พร้อมผู้เสียหาย บุกโรงพัก ถามความคืบหน้า ปมลูกชายดับเหตุรื้อถอนเสาเข็ม

‘ทนายรณรงค์’ พร้อมผู้เสียหาย บุกโรงพัก ถามความคืบหน้า ปมลูกชายดับเหตุรื้อถอนเสาเข็ม

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคมพร้อมด้วย นางสาวปริชาติ ม่วงอร่าม แม่ของนายรัตนชาติ มีเจริญผู้เสียชีวิต ชาวจังหวัดสุรินทร์ ได้เดินทางมาที่ สน.ลุมพินี เพื่อติดตามความคืบหน้าในกรณีที่ลูกชายได้เสียชีวิต เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ซึ่งตอนนั้นนายกฯได้มีประกาศให้ปิดแคมป์คนงานเป็นเวลา 30 วัน จึงจำเป็นต้องยุติการก่อสร้างทั้งหมด และต้องเข้าไปเก็บเสาเข็ม จนทำให้เสาเข็มหล่นมาทับจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต เพื่อสอบถามความคืบหน้าในคดี และแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีความสงสัยในหลายประเด็นเช่นเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหตุใดผ่านมาเกือบ3เดือนยังไม่ดำเนินคดีใครแม้แต่รายเดียว หรือการตรวจสอบความปลอดภัยตามกฎหมายแรงงานโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินการหรือไม่

น.ส.ปริชาติ​ เปิดเผยว่า ตนอยากเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกชาย เนื่องจากเวลาได้ผ่านมา กว่า 4 เดือนแล้ว แม้มีการประสานกับบริษัทผู้รับเหมา เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่กลับถูกบริษัทผู้รับเหมาบ่ายเบี่ยงไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยให้ มีเพียงเงินค่าทำศพ 100,000 บาทตามกฎหมายแรงงานเท่านั้น แต่ค่าชดใช้อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการของลูกทางบริษัทกลับไม่รับผิดชอบอีกทั้ง ทางบริษัทยังค้างค่าแรงของลูกชายอีกกว่า 2 เดือนรวมเป็นเงินกว่า 20,000 บาท ซึ่งทางครอบครัวได้พยายามติดต่อเพื่อขอเงินส่วนนี้แต่ทางบริษัทก็บ่ายเบี่ยงอีกเช่นเคย นอกจากนี้ การที่ลูกชายของตนเองเข้าไปทำงานในจุดก่อสร้างตนมองว่า อาจเป็นการเข้าข่ายความผิดฝ่าฝืนพ.ร.ก. ฉุกเฉินและคำสั่งของศบค. แต่กลับไม่มีความรับผิดชอบใดๆ

น.ส.ปริชาติ​ เปิดเผยต่อว่า ส่วนเรื่องคดีพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีให้คำตอบกับครอบครัวว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาเพราะยังไม่ได้ได้รับผลการตรวจสอบผลทางนิติวิทยาศาสตร์ จนคดีล่วงเลยมาเป็นเวลานาน ตนยอมรับว่าหลังจากสูญเสียลูกชายครอบครัวลำบากเนื่องจากต้องสูญเสียเสาหลักในการหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว ตนเองทำงานเป็นเพียงพนักงานโรงแรมเท่านั้นมีรายได้ไม่เพียงพอในการนำมาจุนเจือครอบครัว

Advertisement

ด้าน นายรณรงค์ เปิดเผยว่า ตนตั้งข้อสังเกตว่าคดีดังกล่าวพนักงานสอบสวนอาจมีการช่วยเหลือบริษัทผู้รับเหมา และเลือกปฏิบัติกับผู้เสียชีวิตที่ทำอาชีพคนงานก่อสร้างหรือไม่ เนื่องจากคดีผ่านมานานกว่า 4 เดือนแล้วกลับยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆเลย ทั้งข้อหาในคดีการเสียชีวิต และความผิดตามพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ทั้งที่กฎหมายแรงงานได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ต้องมีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงจากการทำงานในพื้นที่เสี่ยงอันตราย และยังตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำงานก่อสร้างของบริษัทผู้รับเหมาดังกล่าวว่ามีการปฏิบัติตามมาตรฐานการก่อสร้างและความปลอดภัยหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ลูกชายของผู้เสียหายเคยได้รับบาดเจ็บที่นิ้วนิ้วขาดในระหว่างการก่อสร้าง แต่ทางบริษัทก็ไม่ได้รับผิดชอบ โดยหลังจากนี้จะเข้าร้องเรียนกับอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างจนทำให้ลูกชายของผู้เสียหายเสียชีวิต อาทิ กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานเขตวัฒนา และสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้ออกคำสั่งปิดแคมป์คนงาน

ด้าน พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงศ์ รอง ผกก.สน.ลุมพินี เปิดเผยว่า คดีดังกล่าวมีความล่าช้าจริง ส่วนความล่าช้าจะเกิดขึ้นจากประสบการณ์ของพนักงานสอบสวนที่พึ่งเข้ารับหน้าที่ได้เพียง 1 ปีหรือไม่นั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนจะมีการลงโทษทางวินัยที่ทำให้คดีล่าช้าหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาจะเป็นผู้พิจารณา ยืนยันว่า คดีดังกล่าวไม่ได้เป็นการช่วยเหลือหรือเลือกปฏิบัติกับผู้เสียชีวิต และถึงแม้แม่ของผู้เสียชีวิตจะไม่ได้เข้ามาร้องเรียนในวันนี้ก็จะเรียกคดีดังกล่าวมาสอบถามและเร่งรัดแจ้งข้อกล่าวหาตามขั้นตอนต่อไป

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image