ศ.ปกครองยกฟ้อง“อธิบดีกงสุล”ถอนพาสปอร์ต”แม้ว” ชี้สัมภาษณ์เข้าข่ายม.112 กระทบมั่นคง

แฟ้มภาพ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 กันยายน ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องอธิบดีกรมการกงสุล และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่ยกเลิกหนังสือเดินทางของผู้ฟ้องคดีรวม 2 ฉบับ

คำฟ้องสรุปว่า อธิบดีกรมการกงสุล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 2 ฉบับ ของผู้ฟ้องคดีเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญของการกระทำนั้น เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีอำนาจยกเลิกหนังสือเดินทางของบุคคลเป็นเพียงกฎระเบียบภายในฝ่ายบริหาร ไม่มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติให้อำนาจไว้ ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

กรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าอธิบดีกรมการกงสุล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางทั้งสองฉบับของผู้ฟ้องคดี โดยไม่ถูกต้องตรงตามที่กฎหมายบัญญัตินั้น ศาลเห็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้พิจารณาเห็นว่าถ้อยคำให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักงาน The Chosun Ilbo ณ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ของผู้ฟ้องคดี เกี่ยวกับเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และเหตุการณ์ทางการเมืองอื่น ถูกนำมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูบคลิปวิดีโอชื่อ “คลิปทักษิณให้สัมภาษณ์ทิ้งบอมบ์เบื้องหลังยึดอำนาจ อัดสุเทพ บิ๊กทหาร องคมนตรี และเว็บไซต์เฟซบุ๊ก โดยบัญชีผู้ใช้งานชื่อ “หยุดดัดจริตประเทศไทย” มีเนื้อหาบางส่วนที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยหรือชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศไทย ประกอบกับอยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญา จึงมีบันทึกรายงานการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าวเสนอรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อเสนอ ครม.ทราบ หลังจาก ครม.ทราบแล้ว สำนักเลขาธิการ ครม.จึงมีหนังสือแจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุตามกฎหมายที่จะยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 2 ฉบับของผู้ฟ้องคดีได้ จึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 ยกเลิกหนังสือเดินทางของผู้ฟ้องคดีเป็นการถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว

กรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทาง ผู้ฟ้องคดีไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญของการกระทำนั้น ศาลเห็นว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ยกเลิกหนังสือเดินทางทั้งสองฉบับของผู้ฟ้องคดีถือเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 มิได้มีบทบัญญัติบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องให้โอกาสผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนก่อนจะออกคำสั่ง จึงต้องนำวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 30 ที่บัญญัติให้คำสั่งทางปกครองที่อาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานมาใช้บังคับ

Advertisement

แต่เนื่องจากกรณีนี้ข้อเท็จจริงของเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงเป็นกรณีที่ไม่สามารถแจ้งหรือไม่สมควรแจ้งให้คู่กรณีทราบข้อเท็จจริงหรือมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนก่อน เข้าข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 ตามความ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 บัญญัติว่า การไม่ออกหนังสือเดินทางสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศไม่จำต้องปฏิบัติตามมาตรา 30 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว รวมถึงการปฏิเสธ การยับยั้งคำขอหนังสือเดินทางและการยกเลิกหนังสือเดินทาง และ พ.ร.บ.ยังบัญญัติว่า หากเป็นกรณีที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถือเป็นประโยชน์สาธารณะแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองไม่จำต้องให้คู่กรณีมีโอกาสทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนก่อน จึงไม่อาจถือได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางทั้งสองฉบับของผู้ฟ้องคดีไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอนหรือวิธีการ อันเป็นสาระสำคัญของการกระทำนั้นตามที่ผู้ฟ้องคดีอ้าง

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้ดุลพินิจออกคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางทั้งสองฉบับของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมนั้น ศาลเห็นว่าถ้อยคำให้สัมภาษณ์ของผู้ฟ้องคดีมีเนื้อหาบางส่วนพาดพิงบุคคลตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยหรือชื่อเสียงเกียรติภูมิของประเทศไทยได้ การให้สัมภาษณ์ของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยย่อมเป็นที่สนใจของบุคคลทั่วไป และคาดหมายได้ว่าจะถูกนำไปเผยแพร่หรือส่งต่อเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แพร่หลายไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย กรณีจึงเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 326 มาตรา 328 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(3) และ (5) เป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อย แม้จะยังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ตาม

ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่1 ใช้ดุลพินิจพิจารณายกเลิกหนังสือเดินทางทั้งสองฉบับของผู้ฟ้องคดีเนื่องจากเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีเข้าข่ายผิดกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงปลอดภัย หรือชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศไทย เข้าเงื่อนไขหลักเกณฑ์การยกเลิกหนังสือเดินทาง จึงถือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้ดุลพินิจยกเลิกหนังสือเดินทางทั้งสองฉบับของผู้ฟ้องคดีแตกต่างจากบุคคลอื่นในลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี พิพากษายกฟ้อง

Advertisement

ภายหลัง นายวัฒนา เตียงกูล ทนายความของนายทักษิณ กล่าวว่า จะต้องขอไปดูรายละเอียดในคำพิพากษาทั้งหมดเสียก่อน เพื่อดูเหตุผลที่ศาลพิเคราะห์ในอำนาจของกรมการกงสุลแต่ละประเด็น คาดว่าจะยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด จะมีเวลาพิจารณา 30 วันก่อนจะยื่นอุทธรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image