ตร. จับมือ อย.-อภ. จับกุมเครือข่ายขายยา ฟาวิพิราเวียร์ ไม่ได้รับอนุญาต

ตร. จับมือ อย.-อภ. จับกุมเครือข่ายขายยา ฟาวิพิราเวียร์ ไม่ได้รับอนุญาต ระดมตรวจค้นเป้าหมาย 8 จุด 4 จังหวัด 9 หมายจับ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 ตุลาคม ที่ กองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., เเละ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภญ.สุภัทรา บุญเสริม
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
และ องค์การเภสัชกรรม โดย ภก.กิตติ ระหงษ์ ผู้อำนวยการกองการขายภาคเอกชน ฝ่ายการตลาดและการขาย
ได้มาร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงาน กรณีการจับกุมเครือข่ายผู้ต้องหาลักลอบจำหน่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ บนช่องทางสื่อออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ระดมตรวจค้นเป้าหมาย 8 จุด ในท้องที่กรุงเทพมหานคร สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรีโดยสามารถทำการจับกุมผู้ต้องหาได้ 9 ราย พร้อมของกลางคือยาฟาเวียร์ จำนวน 390 กล่อง

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้ตรวจสอบเเล้วพบการลักลอบจำหน่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ บนช่องทางสื่อออนไลน์ จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สืบสวนเส้นทางการลักลอบจำหน่ายยาดังกล่าวทั่งยังได้รวบรวมพยานหลักฐานและขออนุมัติออกหมายจับผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 9 ราย
ในวันที่ 26 ตุลาคม 2564 เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 หน่วยงานเข้ากระทำการตรวจคันเป้าหมาย จำนวน 8 จุด ในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี สามารถจับกุมผู้ต้องหาที่อยู่ในกระบวนการลักลอบจำหน่ายยาฟาเวียร์
โดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 9 ราย สามารถตรวจยึดยาฟาเวียร์ของกลางได้จำนวน 390 กล่อง โดยผู้ต้องหาส่วนหนึ่งให้การว่า ยาดังกล่าวได้มาจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งสั่งซื้อในนามโรงพยาบาลจากองค์การเภสัชกรรม แล้วนำออกมาจำหน่ายเพื่อหากำไร โดยมีราคาต้นทุนอยู่ที่ กล่องละ 1,600 บาท แต่เมื่อนำมาจำหน่ายทางสื่อออนไลน์สามารถจำหน่ายได้ในราคาถึงกล่องละ 4,000-8,000 บาท ซึ่งทั่งนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมด พร้อมสืบสวนขยายผลถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในขบวนการนี้ต่อไป
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ
ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Advertisement

ด้าน พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ขอฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด 19 ไม่ว่าจะ
เป็นยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และเครื่องมือแพทย์ ควรเลือกซื้อจากร้านขายยาหรือร้านขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้ และขอเตือนผู้ที่ลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้คุณภาพหรือไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. โดยเฉพาะการลักลอบจำหน่ายยาฟาเวียร์ทางสื่อออนไลน์ ให้หยุดการกระทำนั้นเสียทันที เพราะท่านกำลังทำให้ผู้ป่วยโควิดหรือผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิดเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องหรือเสี่ยงแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด

ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการเเทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม มีข้อบ่งใช้สำหรับการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เป็นสายพันธุ์ใหม่หรือโรคอุบัติซ้ำจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เมื่อใช้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ผลหรือมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ เป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่าย
และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้องติดตามอาการข้างเคียงและผลการรักษาระหว่างการใช้ยา
โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงจากผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้มีโรคประจำตัวต่าง ๆ จึงไม่สามารถ
จำหน่ายให้กับประชาชนตามช่องทางทั่วไปได้ ซึ่งปัจจุบันเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด 19 และเข้ารับการ
รักษาในระบบที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ อย่างทั่วถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขอย้ำว่า อย่าซื้อยาทาง
สื่อออนไลน์มารับประทานเองโดยเด็ดขาด การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย ส่งผลให้ใช้ยาไม่ได้ผลเมื่อ
เกิดการติดเชื้อ เป็นเหตุให้ผู้ป่วัยอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด หากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน้ายผลิตภัณฑ์สุขภาทที่
ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556

Advertisement

ด้าน พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ผู้ต้องหาทั้ง 9 รายนั้นเราสืบสวนเเละล่อซื้อมาเรื่อยเพื่อที่จะหาต้นตอในการเล็ดลอดออกมาของตัวยาซึ่งเราพบโครงข่ายรับโดยตรงจากโรงพยาบาลเอกชนเเห่งหนึ่ง โดยสั่งซื้อในนามของผู้จัดการโรงพยาบาลเเห่งนี้ในนามส่วนบุคคลโดยซื้อในราคา 2000-3000 เเล้วนำไปจำหน่ายต่อในราคา 5000-8000 บาท

ด้าน พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. เปิดเผยเพิ่มเติมว่าหากขยายผลเเล้วพบว่าโรงพยาบาลมีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวผู้จัดการคนนั้นก็จะมีการดำเนินคดีกันต่อไปในซึ่งขณะนี้กำลังขยายผลสืบสวนกันอยู่ โดยหากคดีสิ้นสุดเเล้วของกลางทั้งหมดทาง ผบช.ก จะผสานทางศาลเพื่อหาความเป็นไปได้ในการนำกลับมาใช้ใหม่เเทนที่จะถูกทำลายไป

ด้าน องค์การเภสัชกรรม โดย ภก.กิตติ ระหงษ์ ผู้อำนวยการกองการขายภาคเอกชน ฝ่ายการตลาดและการขายเปิดเผยว่า ในส่วนนี้ไม่มีคนในวงการเภสัชที่มีความเกี่ยวข้องในคดีนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image