ศาลอุทธรณ์ฯ ยกฟ้อง ไพร พัฒโน อดีตนายกเทศฯนครหาดใหญ่ ไร้เจตนาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษาแก้ยกฟ้อง ไพร พัฒโน อดีตนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ไม่มีเจตนาปฏิบัติหน้าที่มิชอบสั่ง โอนเงิน 20 ล้าน สร้างวัตถุมงคล หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด จัดหาทุนซื้อทองคำปิดองค์พระประจำเมือง ปี 48

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค9 จ.สงขลา อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ คดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ฟ้องนายไพร พัฒโน อายุ 57 ปี อดีตนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ เป็นจำเลยในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีกล่าวหาเมื่อระหว่างวันที่ 1-4 ก.พ.2548 จำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ (ขณะนั้น) โดยมิชอบด้วยการออกคำสั่งอนุมัติเบิกจ่ายขาดเงินสะสมซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณของเทศบาลนครหาดใหญ่ 20 ล้านบาทให้กับมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัยในพระราชูปถัมภ์ ใช้เป็นทุนในการจัดทำโครงการจัดสร้างวัตถุมงคล”หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด รุ่นมงคลมหาราช” แทนเทศบาลนครหาดใหญ่ ให้พุทธศาสนิกชนเช่าบูชาเพื่อหารายได้ในการบูรณะซ่อมแซ่มและปิดทององค์พระ “พระพุทธมงคลมหาราช” พระพุทธรูปประจำเมืองหาดใหญ่ โดยหลังจากมีคำสั่งโอนเงินจ่ายขาดเงินสะสม จนถึงวันที่ 10 ก.ค.50 มีการโอนเงินให้ผู้จัดการโรงงานสร้างวัตถุมงคล เป็นค่าจ้างในการจัดสร้าง แต่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีการในการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นการทุจริตเอื้อประโยชน์ให้ผู้จัดการโรงงานสร้างวัตถุมงคลได้รับประโยชน์เป็นค่าตอบแทนจากการรับจ้างโดยไม่ต้องเข้าแข่งขันสู้ราคากับผู้ประกอบการรายอื่น นอกจากนี้จำเลยมีหนังสือขอเบิกจ่ายเงินขาดสะสมที่ฝากไว้กับมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ เป็นค่าใช้จ่ายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ บวงสรวง ปลูกเสา และเททองพิธีปลุกเสกวัตถุมงคล ซึ่งเป็นการเบิกจ่ายเอื้อประโยชน์ให้ได้รับค่าตอบแทนในการรับจ้างประชาสัมพันธ์โดยไม่ต้องเข้าแข่งขันสู้ราคากับผู้ประกอบการรายอื่นด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธ คดีนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 พิจารณาคำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างแล้วเห็นว่า จำเลยมีความผิดพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนข้อหาอื่นให้ยก โจทก์และจำเลย ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า โครงการสร้างวัตถุมงคลดังกล่าว เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศาสนาวัฒนธรรมอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเทศบาลนครหาดใหญ่ที่สามารถกระทำได้ แม้ไม่ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้แต่ ได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ขององค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นพ.ศ.2541 ข้อ 9 และข้อ 34 และสภาเทศบาลนครหาดใหญ่ยังได้อนุมัติให้มีการจ่ายขาดเงินสะสมซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณจำนวน 20 ล้านบาทให้แก่มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ เพื่อให้จัดสร้างวัตถุมงคลหลวงปู่ทวด ฯ และให้ประชาชนทั่วไปเช่าบูชาเพื่อนำรายได้ไปใช้ซ่อมแซมพระพุทธมงคลมหาราช จำเลยจึงได้อนุมัติโอนเงินสะสมจำนวน 20 ล้านบาทดังกล่าวให้มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ฯ และมูลนิธิได้ออกใบอนุโมทนาบัตรให้เทศบาลนครหาดใหญ่ด้วยจึงเท่ากับเป็นการเบิกจ่ายขาดเงินสะสมแก่มูลนิธิฯ เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างวัตถุมงคลแล้ว เงินจำนวน 20 บาทดังกล่าวย่อมตกเป็นของมูลนิธิฯ

ดังนั้นเทศบาลนครหาดใหญ่จึงไม่ใช่ผู้รับผิดชอบโครงการ และไม่ต้องดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุ ของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นพ.ศ 2535 อีก และการที่จำเลยแจ้งให้ ผอ.มูลนิธิ ฯจ่ายเงินรวม 3 ครั้ง เป็นการจ่ายเงินที่พ้นสภาพ จากการเป็นเงินของเทศบาลนครหาดใหญ่แล้ว การจ่ายเงินจึงไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวอีกเช่นกัน ที่ศาลชั้นต้น ยกฟ้องในส่วนนี้ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอนุมัติให้มีการจ่ายเงิน ค่าจัดสร้างวัตถุมงคล 3 ครั้งจากบัญชีมงคลมหาราชเทศบาลนครหาดใหญ่ ให้ผู้จัดการโรงงานสร้างวัตถุมงคลนั้น ได้ความจากผู้แทนมูลนิธิฯว่า ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างวัตถุมงคลเป็นเงินจำนวน 35 ล้านบาทเศษ แต่ขอให้เทศบาลนครหาดใหญ่ให้การสนับสนุนเบื้องต้น 20 ล้านบาท ทำให้น่าเชื่อว่าค่าใช้จ่ายในการสร้างวัตถุมงคลต้องมากกว่า 20 ล้านบาท เทศบาลนครหาดใหญ่จึงเปิดให้มีการจองหรือเช่าวัตถุมงคลล่วงหน้า เพื่อนำเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างวัตถุมงคล โดยเงินนั้นนำเข้าบัญชี “มงคลมหาราช” พอฟังได้ว่าเทศบาลนครหาดใหญ่กระทำการแทนมูลนิธิฯเพื่อนำเงินมาชำระค่าจัดสร้าง ดังนั้นเงินในบัญชี จึงยังไม่ใช่รายได้ของเทศบาลนครหาดใหญ่จนกว่าจะมีการชำระหนี้ค่าจัดสร้างครบถ้วนแล้ว การที่จำเลยอนุมัติให้มีการจ่ายเงิน และไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ

Advertisement


จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ฯ ตาม ป.อ.มาตรา 151, 157 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 157มานั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริต ฯ ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image