ประเดิม2คดีศาลทุจริตฯ อัยการฟ้องจนท.ธุรการสถานทูต อีกคดี อดีตซี 9 ฟ้องอดีตผอ.อภ.

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม นายอำนาจ พวงชมภู อธิบดีผุ้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กล่าวถึงคดีที่เข้าสู่ศาลอาญาคดีทุจริตฯในวันนี้ที่เปิดทำการตามเวลาราชการวันแรกว่า มีคดียื่นฟ้องเข้ามาใหม่โดยอัยการและกลุ่มเอกชน 2 สำนวน ส่วนคดีที่ยื่นฟ้องเขตอำนาจศาลจังหวัดต่างๆนั้นยังไม่ได้รับรายงานเกี่ยวกับรายละเอียด สำหรับการพิจารณาคดีที่จะต้องรับโอนมาจากศาลอาญากว่า 70 คดี จะพิจารณาคดีต่อเนื่องต่อไป ยืนยันว่ามีความพร้อมในการพิจารณาคดีต่อ มีการจัดวางองค์คณะผู้พิพากษาดูแลรับผิดชอบไว้แล้ว ไม่รู้สึกหนักใจกับภารกิจ แต่เราต้องพิจารณาคดีให้ละเอียดรอบคอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีแรกที่มีการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ คือคดีหมายเลขดำ อท.1/2559 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางวิจิตต์ หรือปทิตตา ล่ามกิจจา อายุ 48 ปี อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการ 3 กระทรวงการต่างประเทศ ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงธากา สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ จัดการ รักษาทรัพย์ ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือผู้อื่น โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147

คำฟ้องบรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 30 พฤศจิกายน 2540 จำเลยอาศัยโอกาสที่มีอำนาจจัดการเก็บรักษาและดูแลเงินค่าธรรมเนียมต่างๆด้านกงสุลของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา จัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมต่างๆด้านกงสุล 120,152 บาท แล้วไม่นำส่งเงินเป็นรายได้ของแผ่นดิน แต่นำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต จำเลยยังกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวอีกรวม6ครั้ง ภายหลังการเบียดบังจำเลยทยอยคืนเงินโดยคงเหลืออยู่อีก245,822บาท นอกจากนี้เมื่อปี 2541 จำเลยยังได้อาศัยโอกาสที่มีอำนาจจัดการเก็บรักษาและดูแลเงินค่าธรรมเนียมต่างๆด้านกงสุลของสถานเอกอัครราชทูตสาขากรุง บอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กระทรวงการต่างประเทศ เบียดบังเอาเงินค่าธรรมเนียมที่เป็นรายได้ของแผ่นดินไปโดยทุจริตอีก รวม 53 ครั้ง คิดเป็นเงินไทย 484,805 บาท ภายหลังมีผู้ตรวจสอบการกระทำผิดจำเลยได้คืนเงินที่เบียดบังไปแก่กระทรวงการต่างประเทศ

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2544 นายชูชัย เกษมศานติ์ มีหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชั้นไต่สวนจำเลยให้การปฏิเสธ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดจำเลย เหตุเกิดนอกราชอาณาจักร แต่ผู้กระทำผิดเป็นพนักงานของรัฐบาลไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จะต้องดำเนินคดีในราชอาณาจักร คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตฯ

Advertisement

โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ ประทับรับคำฟ้องไว้พิจารณา นัดตรวจความพร้อมพยานหลักฐานของคู่ความในวันที่13ตุลาคม เวลา 09.00 น.

ภายหลัง นางวิจิตต์ จำเลย ได้ยื่นคำร้องและหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิจารณาแล้วจึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในชั้นนี้ โดยตีราคาประกัน 4 แสนบาท

ส่วนคดีที่2 ที่ยื่นฟ้องใหม่ในวันนี้ เป็นคดีที่ นางวีระมล มหาตมวดี อายุ 54 ปี อดีตเจ้าหน้าที่งานบริหารสำนักอำนวยการขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมและรักษาการณ์ตำแหน่งผู้อำนวยการปี 2556 เป็นประธานกรรมการสรรหาผู้บริหารระดับสูงขององค์การเภสัชกรรม คณะกรรมการสรรหาฯ อีก 6 คน และผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ปี 2556 ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1 -8 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 และ พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509 มาตรา 4

Advertisement

ตามฟ้องโจทก์ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 มีกำหนดประชุมคณะกรรมการสรรหาผู้บริหารระดับสูง เพื่อพิจารณาเรื่องการสรุปผลการทดลองงานของโจทก์ ตำแหน่งนักบริหาร 10 ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม แต่เมื่อถึงเวลาประชุม จำเลยที่ 1เป็นประธานกรรมการสรรหาฯ เจตนาไม่เข้าประชุมทำให้ไม่สามารถประชุมได้ ต่อมาวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 1 เขียนหนังสือด้วยลายมือตัวเองถึง ผอ.ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ว่า ตำแหน่งของโจทก์ควรมีการทบทวนวัตถุประสงค์และขอบเขตหน้าที่ ในประกาศรับสมัครว่าเหมาะสมหรือไม่ก่อนดำเนินการต่อไป ซึ่งหลังจากนั้นมีการเลื่อนพิจารณาวาระของโจทก์ออกไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรมีเจตนาทุจริต ไม่เสนอชื่อของโจทก์ ตามระเบียบเพื่อแต่งตั้งโจทก์ดำรงตำแหน่ง ผช.ผอ.อภ. โดยเวลาล่วงเลยมากว่า 6 เดือนหลังจากครบกำหนดทดลองงาน ทำให้โจทก์ไม่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งที่สูงขึ้น

แล้วเมื่อจำเลยที่ 8 เข้ารับตำแหน่ง ผอ.อภ.เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2556 ขณะนั้นมีเหตุการณ์ยาปลอมปนเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อผู้ป่วยและอภ. ซึ่งผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ผอ.ฝ่ายผลิตยา ขณะนั้นควรจะต้องรับผิดชอบ แต่วันที่ 18 กันยายน 2556 จำเลยที่ 8 กลับเสนอให้คณะกรรมการ อภ. แต่งตั้ง ผอ.ฝ่ายผลิตยาดังกล่าวดำรงตำแหน่งนักบริหาร10 ผช.ผอ.อภ. เป็นการแต่งตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่การประชุมจำเลยที่1 -7 ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ทักท้วงกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งหมด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ ผอ.ฝ่ายผลิตยาดังกล่าว โจทก์ได้ยื่นฟ้อง อภ.ต่อศาลแรงงานกลาง ศาลมีคำพิพากษาว่า การมีคำสั่งของจำเลยทั้งหมดไม่ชอบด้วยกฎหมายให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการ อภ. ลงวันที่ 18 กันยายน 2556 ดังกล่าว และให้ อภ.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน 8 แสนบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และยังให้ อภ.ชำระค่าสินไหมกับโจทก์เดือนละ 8 หมื่นบาทนับจากวันที่ 23 มีนาคม 2558 จนกว่าจะแต่งตั้งโจทก์ดำรงตำแหน่ง ผช.ผอ.อภ. ซึ่งไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีดังกล่าวจึงถึงที่สุด โดยการกระทำของจำเลยทั้งหมดเป็นพนักงานมีเจตนาทุจริตปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เหตุเกิดที่องค์การเภสัชกรรม แขวงและเขตราชเทวี กทม.

ทั้งนี้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ รับไว้ในสารบบคดีหมายเลขดำ อท. 2/2559 โดยศาลจะนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image