สมศักดิ์ เดินหน้าแก้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยาน คดีอาญา 7 มาตรา11ประเด็น ช่วยลดภาระพยาน

สมศักดิ์ เดินหน้า แก้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยาน คดีอาญา 7 มาตรา 11 ประเด็น ช่วยลดภาระพยาน

สมศักดิ์ เดินหน้า แก้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยาน คดีอาญา 7 มาตรา 11 ประเด็น หวังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เจ้าหน้าที่ ส่งผลดีช่วยลดภาระพยานตามสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ตลอดจนเรื่องคุ้มครองความปลอดภัยพยาน

เมื่อวันที่25 มกราคม นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีความต้องการปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยาน (ฉบับที่..) พ.ศ. หลังจากกระทรวงยุติธรรมบังคับใช้พ.ร.บ.ดังกล่าวมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งพบว่าบทบัญญัติบางมาตรายังไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน สภาพเศรษฐกิจ และภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับพยานที่มาทำหน้าที่เป็นพยานในการพิจารณาคดีอาญา

รวมทั้งยังไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน กระทรวงยุติธรรมจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา(ฉบับที่..) พ.ศ. ที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้พยานได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ การจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่พยานที่มาทำหน้าที่เป็นพยานในคดีอาญาให้สอดคล้องกับสภาเศรษฐกิจ และไม่เป็นภาระแก่พยาน

นายเรืองศักดิ์ เผยอีกว่า เนื้อหาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพยานมีการแก้ไขเพิ่มเติม 7 มาตรา 11 ประเด็น ได้แก่ มาตรา 3 มาตรา 6 มาตรา 8 มาตรา 10 มาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 17 โดยมีสาระสำคัญคือ กำหนดให้มีการคุ้มครองบุคคลที่จะมาเป็นพยานในคดีอาญาให้มีความหมายกว้างขึ้นและให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้มีการประเมินพฤติการณ์ความไม่ปลอดภัย ก่อนการอนุมัติขยายระยะเวลาการคุ้มครองและการสิ้นสุดการคุ้มครองพยาน เพิ่มเติมคดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือคดีพรากเด็กและผู้เยาว์

Advertisement

ตามประมวลกฎหมายอาญาให้สามารถใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานได้ การจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่พยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่คุ้มครองจริง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษโดยการเปลี่ยนแปลงข้อมูล หลักฐาน การทะเบียนราษฎรให้มีความชัดเจน กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจค้นตัวบุคคลหรือยานพาหนะและกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่พยานที่เดินทางมาเป็นพยาน โดยปัจจุบันร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร หากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบนายกรัฐมนตรีก็จะนำทูลเกล้า ฯ และประกาศใช้กฎหมายทันที

Advertisement

อย่างไรก็ตาม หากพยานมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยสามารถให้การต่อพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาหรือศาลได้อย่างเป็นอิสระตามข้อเท็จจริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อกระบวนการยุติธรรมในอนาคต

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image