โฆษก บช.น.แถลง ‘ทะลุวัง’ เข้าข่ายผิดกฎหมาย คุกคามการปฏิบัติหน้าที่ ตร. รวบรวมหลักฐานดำเนินคดี

โฆษก บช.น.แถลง ทะลุวังเข้าข่ายผิดกฎหมาย คุกคามการปฏิบัติหน้าที่ หลังรวมตัวหน้าพารากอน-จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่แยกปทุมวัน ตร.รวบรวมหลักฐาน พิสูจน์ทราบตัวบุคคล เอาผิด

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. พร้อมด้วย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ร่วมแถลงการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเห็นต่างทางการเมือง เพื่อมุ่งรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนพร้อมกับอำนวยความสะดวกด้านการจราจร

พล.ต.ต.จิรสันต์กล่าวว่า วันนี้ได้มีการนัดรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุม 5 กลุ่ม และ 1 กลุ่มเฝ้าระวัง ได้แก่ 1.กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) พักค้างแรมบริเวณหน้ากระทรวงการคลัง 2.กลุ่มเครือข่ายสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร, กลุ่มเกษตรกรร่วมใจพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง และกลุ่มเพื่อนเกษตรกรสยาม พักค้างแรมบริเวณหน้ากระทรวงเกษตรฯ 3.กลุ่มทะลุฟ้า บริเวณสี่แยกเกียกกาย เวลา 08.30 น. และ 14.00 น. 4.กลุ่ม People ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เวลา 16.00 น. และ 5.กลุ่มพลเมืองโต้กลับ บริเวณหน้าศาลฎีกา เวลา 17.30 น. และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทะลุแก๊ส ที่อาจมีการรวมตัวบริเวณแยกดินแดง เวลา 17.30 น.

พล.ต.ต.จิรสันต์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลุ่มสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และภาคีแนวร่วม ซึ่งมีผู้ชุมนุมประมาณ 300 คน พร้อมรถบรรทุก 100 คัน, รถแท็กซี่ 80 คัน, รถบัส และรถยนต์พร้อมรถเครื่องเสียง 65 คัน ได้ขับขี่รถเพื่อเข้าร่วมชุมนุม บริเวณหน้ากระทรวงพลังงาน ส่งผลกระทบการจราจรบนถนนวิภาวดี และถนนเชื่อมต่อในเส้นทางขบวนรถในทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศตะวันออก ของพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเริ่มรวมตัวในเวลา 08.50 น. และจัดกิจกรรมจนกระทั่ง ยุติการชุมนุมเมื่อเวลา 18.50 น.

Advertisement

ส่วนกลุ่มทะลุวังได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนประมาณ 22 คน บริเวณห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ในเวลา 16.55 น. และได้เคลื่อนขบวนเดินเท้าไปแยกปทุมวันพร้อมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เมื่อเวลา 18.10 น. ก่อนจะสลายตัวไปในเวลา 18.30 น. ซึ่งมีการปฏิบัติที่อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมาย และคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนหนึ่งด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ทราบตัวบุคคลและการกระทำความผิดในการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ส่วนกลุ่มอื่นๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ขณะที่กลุ่มก่อความไม่สงบทะลุแก๊ส ไม่พบการรวมกลุ่มของมวลชนในพื้นที่แต่อย่างใด

โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงปัจจุบันมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวนทั้งสิ้น 821 คดี ขณะนี้ได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นและสั่งฟ้องไปแล้ว 465 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวน 356 คดี

Advertisement

พล.ต.ต.จิรสันต์ได้เน้นย้ำว่า แม้กรุงเทพมหานครจะถูกปรับให้เป็นพื้นที่จังหวัดนำร่องด้านการท่องเที่ยวแล้วก็ตาม แต่การชุมนุมฯ หรือรวมกลุ่มทำกิจกรรมที่มีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่โรคนั้น ยังคงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ จึงขอความร่วมมือประชาชนงดการร่วมกิจกรรมการชุมนุมเพื่อความสงบสุขและความปลอดภัยโดยรวมของประเทศชาติและประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image