ร่างพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ กรองเข้มลดวันจำคุก-พักลงโทษ

ร่างพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ กรองเข้มลดวันจำคุก-พักลงโทษ

ร่างพ.ร.บ.ราชทัณฑ์
กรองเข้มลดวันจำคุก-พักลงโทษ

หมายเหตุ – เนื้อหาบางส่วนของร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบรรจุในวาระการประชุม มีสาระสำคัญกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขัง ให้มีกระบวนการที่รัดกุมและโปร่งใสยิ่งขึ้น

เหตุผล : พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับหลักการทางอาญาตามมาตรฐานสากล ประกอบกับก่อให้เกิดปัญหาและสังคมตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการภายในของกรมราชทัณฑ์ อาทิ รูปแบบและโครงสร้างของคณะกรรมการราชทัณฑ์ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขัง ดังนั้น ควรจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดให้มีกระบวนการที่รัดกุมและมีความโปร่งใส โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการที่มีความอิสระโปร่งใสและมีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง เป็นผู้พิจารณาขั้นต้นเกี่ยวกับการลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขัง และให้ศาลที่คดีถึงที่สุดเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งในการลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขังในแต่ละคราวไป และกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขขึ้นใหม่ในการพิจารณาการลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะคดีทุจริต คดีอาญา คดียาเสพติดที่ร้ายแรง และคดีอื่นๆ ที่เป็นภัยต่อสังคมอย่างร้ายแรง

มาตรา 3 ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “คณะกรรมการอิสระ” และ “กรรมการอิสระ” ระหว่างบทนิยามคำว่า “กรรมการ” และ “เจ้าพนักงานเรือนจำ” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560
“คณะกรรมการอิสระ” หมายความว่า คณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง
“กรรมการอิสระ” หมายความว่า กรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความใน (2) และ (3) ของวรรคหนึ่งของมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
(3) กรรมการโดยตำแหน่งจำนวนสิบคน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อัยการสูงสุด และเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายกสภาทนายความ
(4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเจ็ดคน ซึ่งสรรหาและแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความสามารถความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ด้านนิติศาสตร์ ด้านศาสนา ศิลปะ หรือวัฒนธรรม ด้านอาชญาวิทยา ด้านทัณฑวิทยา ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านจิตวิทยา และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการราชทัณฑ์ ด้านละหนึ่งคน
มาตรา 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560
“หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาเพื่อแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อดำรงตำแหน่งแทนผู้พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระตามมาตรา 11 ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหาประกาศกำหนด ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการสรรหา”

Advertisement

มาตรา 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 8/1 มาตรา 8/2 มาตรา 8/3 และมาตรา 8/4 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560
“มาตรา 8/1 ให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่คัดเลือกผู้สมควรได้ผู้สมควรได้รับ เลือกเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา (8/4) ประกอบด้วย
(1) บุคคลซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนสองคน
(2) บุคคลซึ่งประธานรัฐสภาแต่งตั้งจำนวนสองคน
(3) ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวนสองคน
(4) บุคคลซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแต่งตั้งจำนวนสองคน
ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาและคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
มาตรา 8/3 เมื่อได้รายชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากการสรรหาแล้ว ให้เลขาธิการวุฒิสภาจัดทำรายชื่อผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกนั้น และเสนอบัญชีรายชื่อพร้อมประวัติและเอกสารหลักฐานของบุคคลดังกล่าว ซึ่งต้องระบุให้ชัดเจนหรือมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมตามมาตรา เสนอต่อประธานวุฒิสภาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คัดเลือกเสร็จ เพื่อเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาและมีมติเลือกต่อไป
มาตรา 8/4 ให้วุฒิสภามีมติเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่เลขาธิการวุฒิสภาเสนอให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับบัญชีรายชื่อ เพื่อให้ได้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยแต่ละด้านให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก ซึ่งจะต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ แล้วแจ้งให้ผู้ได้รับเลือกทราบ แล้วนำรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติเลือก เพื่อแต่งตั้งต่อไป

มาตรา 7 ให้ยกเลิกความใน (4) วรรคหนึ่ง และวรรคสองของมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560

มาตรา 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 1/1 คณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง มาตรา 16/1 มาตรา 16/2 มาตรา 16/3 และมาตรา 16/4 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560
หมวด 1/1
คณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง
มาตรา 16/1 ให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขังประกอบด้วยกรรมการจำนวนเก้าคนซึ่งแต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้
(1) ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวนหนึ่งคน
(2) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวนหนึ่งคน
(3) บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแต่งตั้งจากผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9 และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ในผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ องค์กรละหนึ่งคน
(4) ประธานกรรมการอัยการ
(5) ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน
(6) ผู้มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ ด้านอาชญาวิทยา ด้านทัณฑวิทยา ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านจิตวิทยา ด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง ซึ่งมาจากการสรรหาและแต่งตั้งโดยความเห็นชอบจากวุฒิสภาจำนวนสามคน
องค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนตาม (5) ต้องเป็นองค์กรที่ได้จดแจ้งไว้กับสำนักงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดแจ้ง การรับจดแจ้ง และการเลือกกันเองให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกำหนด โดยต้องกำหนดให้มีการเลือกกันเองให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุต้องแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการอิสระ
มาตรา 16/4 คณะกรรมการอิสระมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) รวบรวม ตรวจสอบและไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการลดวันต้องโทษจำคุก พักการลงโทษนักโทษเด็ดขาดตามมาตรา 52 (5) (6)
(2) ยื่นคำร้องต่อศาลที่คดีถึงที่สุดเพื่อพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับการลดวันต้องโทษจำคุก พักการลงโทษนักโทษเด็ดขาดตามมาตรา 52 (5) (6)
(3) ประสานการดำเนินการกับกรมราชทัณฑ์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการลดวันต้องโทษจำคุก พักการลงโทษนักโทษเด็ดขาดเพื่อประกอบการพิจารณาตาม (1)

Advertisement

มาตรา 9 ให้ยกเลิกความใน (5) และ (6) ของมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 และใช้ความต่อไปนี้แทน
“(5) ลดวันต้องโทษจำคุกจะพึงกระทำได้ต่อเมื่อนักโทษเด็ดขาดได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดมาแล้วหนึ่งในสามของกำหนดโทษตามหมายศาลในขณะนั้น หรือไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งในกรณีต้องโทษจำคุกในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายในความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด คดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ความผิดเกี่ยวกับทุจริตการเลือกตั้งตามกฎหมายเลือกตั้งและพรรคการเมือง ทั้งนี้ ให้รวมถึงกรณีต้องโทษจำคุกในกรณีที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดเวลา
(6) การพักการลงโทษจะพึงกระทำได้ต่อเมื่อนักโทษเด็ดขาดได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดมาแล้วหนึ่งในสามของกำหนดโทษตามหมายศาลในขณะนั้น หรือไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งในกรณีต้องโทษจำคุกในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายในความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด คดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ความผิดเกี่ยวกับทุจริตการเลือกตั้งตามกฎหมายเลือกตั้งและพรรคการเมือง ทั้งนี้ ให้รวมถึงกรณีต้องโทษจำคุกในกรณีที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดเวลา”

มาตรา 10 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และใช้ความต่อไปนี้แทน “การดำเนินการตาม (5) (6) ให้กรมราชทัณฑ์รวบรวมข้อเท็จจริงแล้วส่งให้คณะกรรมการอิสระพิจารณาตรวจสอบและไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลที่คดีถึงที่สุดเพื่อพิจารณาวินิจฉัย คำสั่งศาลที่ให้ลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษให้เป็นที่สุดในแต่คราวไป”
มาตรา 12 ให้ยกเลิกความมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560
มาตรา 13 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image