‘องค์ภาฯ’เปิดประชุม10 ปีโครงการกำลังใจฯทรงฝากให้โอกาสผู้เคยพลาดพลั้ง กลับตัวคืนสู่สังคม

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นประธานเปิดการประชุม “กำลังใจฯ ๑ ทศวรรษสู่ นวัตสังคมไทย” ในโอกาสครอบรอบ 10 ปีโครงการกำลังใจฯ ซึ่งมี นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา, พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม, ศ.พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล -ศ.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เฝ้ารับเสด็จ จัดโดยกระทรวงยุติธรรม ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

โอกาสนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงประทานโล่และใบประกาศนียบัตร แก่เรือนจำดีเด่นและคนต้นแบบดีเด่น ก่อนประทานพระดำรัสเปิดงานตอนหนึ่งความว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 10 ปี ข้าพเจ้าได้ประเมินผลการทำงานพบว่า โครงการกำลังใจพยายามทำงานที่ลงลึก สัมผัสกับปัญหาจริงๆ เมื่อทราบปัญหาและความต้องการของผู้ต้องขัง ก็จะแสวงหากิจกรรม และแนวทางใหม่ๆที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขัง รวมทั้งเพื่อหาแนวทางให้ผู้ต้องขังปรับพฤตินิสัยให้ดีขึ้น ทั้งนี้ สำหรับความพยายามไม่ส่งคนเข้าเรือนจำนั้น ที่เป็นส่วนหนึ่งของการอนุวัติการตาม “ข้อกำหนดกรุงเทพฯ” การไม่ส่งคนเข้าเรือนจำหมายถึงว่า การหาแนวทางในการปรับพฤตินิสัย ด้วยวิธีอื่นๆให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับธรรมชาติของคดีและธรรมชาติของผู้ต้องขังเหล่านั้น ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจที่โครงการกำลังใจฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งของการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย นำไปสู่ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายระเบียบต่างๆ ที่จะพยายามไม่ส่งคนที่มิใช่อาชญากรอย่างแท้จริงเข้าเรือนจำ และพยายามหาแนวทางที่ดีและเหมาะสมแก้ไขปัญหาเหล่านี้

“สิ่งที่อยากฝากไว้คือ ขอให้ทุกคนให้โอกาสผู้ที่เคยพลั้งพลาด ช่วยกันให้กำลังใจ ส่งเสริมให้ ผู้ที่เคยพลาดพลั้งได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้กลับตัวคืนสู่สังคม ซึ่งการให้โอกาสนั้นหมายถึงการไม่รังเกียจ ให้อภัย อันเป็นการสร้างทางเลือกแก่ผู้ผิดพลาด และเป็นทางหนึ่งที่จะน้อมนำเอาแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชปรับใช้” พระดำรัส พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา

จากนั้น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงฟังการนำเสนอผลการระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ นักกฎหมาย และแพทย์ต่อการดำเนินงานตามโครงการกำลังใจฯ ทรงเปิดนิทรรศการ ก่อนเสด็จกลับ

Advertisement

 

DSC_2294

DSC_2557

Advertisement

DSC_2584

นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการศาลยุติธรรม กล่าวนำเสนอความเห็นต่อการดำเนินโครงการกำลังใจฯ ว่า โครงการกำลังใจฯได้เปลี่ยนมุมมองผู้พิพากษาทั้งหลายในคดียาเสพติด จากเดิมที่มองคดียาเสพติดเป็นคดีร้ายแรง อย่างเมื่อข้อเท็จจริงยืนยันได้ว่าจำเลยกระทำความผิด จะถูกลงโทษอย่างรุนแรง เพื่อไม่ให้เป็นเยื่องอย่าง จะได้ไม่มีใครกล้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งที่ผู้พิพากษาไม่ได้สงสัยเลยว่าบทลงโทษนั้น เหมาะสมกับการทำความผิดหรือไม่ ยาแอมเฟตามีนมีโทษร้ายแรงจริงอย่างที่เขาว่าจริงหรือไม่ บทสันนิฐานเด็ดขาดที่ว่าหากมียาแอมเฟตามีนเกิน 15 เม็ดขึ้นไป ถือว่าเป็นการจำหน่าย เป็นธรรมกับจำเลยคดียาเสพติดหรือไม่ เหล่านี้เกิดเป็นปัญหาคนล้นคุก ทั้งที่บางคนอาจไม่สมควรลงโทษจำคุก หรือไม่ควรถูกจำคุกยาวนาน

ทั้งนี้ ภายหลังโครงการกำลังใจฯได้นำผู้พิพากษา ได้เข้าไปทราบสภาพความเป็นจริงในเรือนจำ ทำให้ความคิดผู้พากษาเปลี่ยนแปลงไป เห็นได้จากการระวางโทษในทุกศาลลดลง จำเลยที่ไม่ใช่ผู้ค่ารายใหญ่มีโอกาสปล่อยตัวชั่วคราว ประกันตัวมากขึ้น เรื่องสำคัญคือ ในคดีที่มีระวางโทษสูง จะแปรความที่ให้ความเป็นธรรมแก่จำเลยมากขึ้น เช่น คดียาเสพติดที่เกิน 15 เม็ด จะไม่ถูกลงโทษประหารชีวิตสถานเดียวเหมือนเมื่อก่อน แต่จะผิดตามมาตรอื่นที่มีโทษน้อยลง และช่วงนี้ที่กฎหมายยาเสพติดยังไม่เปลี่ยน แต่เมื่อมุมมมองผู้พิพากษาเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดในอนาคต ไปในทิศทางที่ผ่อนคลาย และก่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น

นายอธิคมกล่าวอีกว่า โครงการกำลังใจฯยังทำให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายยาเสพติด อย่างขณะนี้กำลังยกร่างประมวลยาเสพติด ที่อยู่ในระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเปลี่ยนหลักการกฎหมายยาเสพติดเดิมหลายประการ ทำให้ลงโทษผู้กระทำความผิดคดียาเสพติด ได้สัดส่วนที่เหมาะสมมากขึ้น รวมทั้งทำให้คนที่ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ผลิตผู้ค้ารายใหญ่ ให้นำไปสู่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับปรุง แทนที่จะต้องนำตัวเข้าสู่เรือนจำ นอกจากนี้ยังนำไปสู่ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ที่ยกเลิกข้อสันนิฐานเด็ดขาดที่มีอยู่เดิม ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระที่ 2 และคาดว่าจะออกมาในเร็ววันนี้

DSC_2537

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image