เครือข่ายนักกม. แถลงย้ำผู้มีอำนาจ ยึดมั่นหลักการคดี ยกเคส ‘ยึดสนามบิน-ทำเนียบ’ ยังได้สิทธิประกัน

เครือข่ายนักกฎหมาย แนบ 90 รายชื่อ แถลงย้ำผู้มีอำนาจ ยึดมั่นหลักการ ยกเคส ‘ยึดสนามบิน-ทำเนียบ’ ยังได้สิทธิประกัน

เมื่อเวลา 12.15 น. วันที่ 11 กรกฎาคม เครือข่ายนักกฎหมาย คณาจารย์นิติศาสตร์ นำโดย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)
ผศ.ดร.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ ดร.กฤษณ์พชร โสมณวัตร คณะนิติศาสตร์ มช. ร่วมแถลงการณ์ เรื่อง “ศาลต้องยึดมั่นหลักสันนิษฐานว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์” โดยมีนักวิชาการ ทนายความ นิติกร ข้าราชการ นักเคลื่อนไหว นักวิชาการสิทธิมนุษยชน นักธุรกิจ สื่อมวลชน นักศึกษา ร่วมลงชื่อท้ายแถลงการณ์ กว่า 90 รายชื่อ

สำหรับแถลงการณ์ดังกล่าว มีเนื้อหาความว่า

สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สำคัญของระบบกฎหมายสมัยใหม่ประการหนึ่งก็คือ หลักสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) อันมีความหมายว่าเมื่อบุคคลใดถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด และตราบเท่าที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลที่เป็นกลางและอิสระ ก็จะต้องสันนิษฐานไว้ในเบื้องต้นว่าบุคคลนั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่

หลักการดังกล่าวได้ทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต้องให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองบุคคลดังกล่าว ทั้งในด้านของการปล่อยตัวชั่วคราวอันเป็นที่ยึดถือกันว่าการปล่อยตัวต้องถือเป็นหลักการทั่วไป ในขณะที่การควบคุมตัวเป็นข้อยกเว้นที่อำนาจของรัฐจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นอย่างชัดเจนว่าการปล่อยตัวอาจจะทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่อาจดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisement

ทั้งนี้ เพราะการควบคุมตัวไว้ภายใต้อำนาจของรัฐส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบุคคลผู้ถูกกล่าวหา ไม่ว่าจะเป็นการถูกตัดขาดจากวิถีชีวิตในยามปกติ การทำงาน การศึกษา ความเป็นอยู่ในครอบครัว การแสวงหาความสุขตามที่พลเมืองแต่ละคนสามารถกระทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย การเข้าไปอยู่ภายใต้การคุมขังในเรือนจำอันเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า บุคคลต้องเผชิญกับความยากลำบากเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะในด้านของความปลอดภัยต่อชีวิต สุขภาพ อาหารการกิน ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อจะมีการใช้อำนาจรัฐในการควบคุมตัวบุคคลผู้ถูกกล่าวหาซึ่งยังมีฐานะเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงต้องเป็นมาตรการทางกฎหมายในสถานการณ์อันเป็นที่ประจักษ์ว่าไม่มีมาตรการอื่นใดที่จะนำมาใช้ได้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 29 วรรค 2 และวรรค 3 ได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน

Advertisement

“ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

“การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจําเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จําเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี”

นอกจากนี้ ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ได้มีการกำหนดหลักการและขั้นตอนสำหรับการขอปล่อยตัวชั่วคราว ที่ให้การคุ้มครองต่อผู้ถูกกล่าวในฐานะของผู้บริสุทธิ์ไว้เช่นเดียวกัน อันถือว่าเป็นการให้ความสำคัญต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

เท่าที่ผ่านมา การปล่อยตัวบุคคลผู้ถูกกล่าวหาในระหว่างถูกดำเนินคดีก็เป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้อย่างกว้างขวาง ดังจะพบว่ามีการให้ประกันตัวกับผู้ที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยเกิดขึ้นในคดีจำนวนมาก แม้ว่าเป็นคดีที่มีความรุนแรงอย่างยิ่ง ดังเช่นคดีที่ผู้ชุมนุมบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ การบุกยึดทำเนียบรัฐบาล จำเลยที่เป็นแกนนำก็ล้วนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หลายคดีแม้จะได้มีการตัดสินว่าจำเลยมีความผิดในศาลชั้นต้นหรืออุทธรณ์ ตราบที่คดียังไม่ถึงที่สุดบุคคลนั้นก็ยังดำรงสถานะของผู้บริสุทธิ์

ในหลายครั้งก็เกิดขึ้นแม้จะเป็นคดีที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน ดังเช่นคดีของนักการเมืองที่ก่อคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเนื่องหลายคดี เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีคดีอีกเป็นจำนวนมากที่สามารถนำมาเป็นตัวอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้ให้การคุ้มครองต่อผู้ถูกกล่าวหาในฐานะของผู้บริสุทธิ์นั้นเป็นบรรทัดฐานสากล

อย่างไรก็ตาม มีคดีอีกกลุ่มหนึ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังจะพบว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมา การปล่อยตัวชั่วคราวสำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวเป็นไปอย่างยากลำบาก นับตั้งแต่การยื่นขอประกันที่ต้องดำเนินการหลายครั้ง เหตุผลในการพิจารณาให้ประกันตัวที่ทำให้เกิดคำถาม การกำหนดเงื่อนไขในการขอประกันตัวที่จำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แถลงการณ์ดังกล่าว ยังเรียกร้องให้ผู้ใช้อำนาจพึงตระหนักว่า บุคคลทั้งหมดนี้ยังคงอยู่ในสถานะของผู้ถูกกล่าวหาและยังไม่มีคำตัดสินว่ากระทำความผิด จึงต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อันเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

การควบคุมตัวบุคคลต้องเป็นไปเท่าที่เท่าจำเป็น เพื่อมิให้มีการหลบหนีเป็นสำคัญ การขยายเหตุผลในการควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กว้างขวางออกไป จนไม่เห็นขอบเขตที่ชัดเจน ย่อมเป็นการใช้อำนาจที่ทำลายหลักการพื้นฐานของกฎหมาย ทั้งกฎหมายอาญา กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายระหว่างประเทศ

การใช้ดุลพินิจในการตีความ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตีความอย่างจำกัดและระมัดระวัง ดังที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า “คำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผล…” ด้วยเหตุนี้ เงื่อนไขแห่งการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว สมควรต้องชี้แจงพฤติการณ์ของจำเลยอย่างละเอียดต่อสาธารณชนทั่วไป

เราจึงขอเรียกร้องให้ผู้ใช้อำนาจยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยการพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกกล่าวหาต้องเป็นหลักการทั่วไป ขณะที่การควบคุมตัวต้องเป็นข้อยกเว้น โดยต้องมีความชัดเจนทั้งพยานหลักฐานและการให้เหตุผล

ด้วยความยึดมั่นต่อระบบกฎหมายและระบอบประชาธิปไตย
11 กรกฎาคม 2565

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image