คณาจารย์ผนึกเครือข่ายนักกม. เดินเท้าไปศาลฎีกา ยื่นความเห็นทางวิชาการ ขอสิทธิประกันนักกิจกรรม

ภาพจาก : สำนักข่าวราษฎร

คณาจารย์ผนึกเครือข่ายนักกม.เดินเท้าข้ามสนามหลวงไปศาลฎีกา ยื่นความเห็นทางวิชาการ ขอสิทธิประกันนักกิจกรรม

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 27 กรกฎาคม ที่สำนักประธานศาลฎีกา เขตพระนคร กรุงเทพฯ เครือข่ายนักกฎหมาย คณาจารย์นิติศาสตร์ นักวิชาการ ทนายความ และนักสิทธิมนุษยชนกว่า 15 คน นำโดย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย ม.เชียงใหม่, ผศ.ดร.นัทมน คงเจริญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมตัวที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนเดินเท้าไปยัง สำนักประธานศาลฎีกา เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึก ถึงประธานศาลฎีกา เรื่อง ศาลต้องยึดมั่นหลักสันนิษฐานว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างเดินเท้าข้ามสนามหลวงไปยังศาลฎีกา นักกฎหมาย และประชาชนบางรายที่ร่วมกิจกรรม ได้ห้อยป้ายข้อความ อาทิ “ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยผู้บริสุทธ์ คืนสิทธิการประกันตัว ยกเลิก 112” คณาจารย์และประชาชน ร่วมถ่ายภาพหน้าป้าย ก่อนเดินเท้าไปถึงประตูสำนักประธานศาลฎีกา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสอบถามถึงการทำกิจกรรม

ภาพจาก : สำนักข่าวราษฎร

รศ.สมชายกล่าวว่า อยากให้กระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง เป็นธรรม อิสระ เรามายื่นหนังสือด้วยความเห็นทางวิชาการ โดยจดหมายคงผ่านตัวแทนไปถึงประธานศาลฎีกา โดยไม่ได้กำหนดเวลา แต่ก็จะรอ โดยวันนี้มีตัวแทนหลายภาคส่วน มีอาจารย์คณะนิติศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ ม.สงขลา มาร่วม

Advertisement

ด้าน ผศ.ดร.นัทมนกล่าวว่า การใช้กฎหมายต้องเป็นสากลและมีมาตรฐานในส่วนของความยุติธรรม ซึ่งไทยก็ควรยึดมั่นในหลักสากลตรงนี้ด้วย ในส่วนของผู้ใช้กฎหมาย เราอยากเห็นการใช้กฎหมายที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน โดยยึดมั่นในหลักการ

“ถามว่าแล้วจะจบกันตรงไหน ระหว่างสายวิชาการและสายปฏิบัติ การใช้กฎหมายในสังคมไทยก็ต้องยึดมั่นในหลักการนี้ในส่วนการใช้กฎหมาย ต้องมีเหตุผลให้กับสังคมมากกว่านี้ มีคำตอบที่สาธารณชนฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นการตัดสินจากหลักการสาเหตุที่มายื่นวันนี้ เนื่องจากจะมีการหยุดหลายวัน เราเป็นห่วงคนที่ไม่ได้รับสิทธิ ไม่มั่นใจว่าจะเห็นปาฏิหารย์ในวันนี้หรือไม่ เรามีข้อจำกัดด้านเวลาและปัญหาสุขภาพ จึงค่อนข้างกังวล จดหมายเปิดผนึกนี้เราเขียนไว้ค่อนข้างชัดเจน หลายสถาบันการศึกษา รวมทั้งสถาบันทางการแพทย์ และความเห็นภาคส่วนอื่นๆ หลายกระแส คิดว่าเราพูดชัดเจนที่สุดแล้ว ทั้งในส่วนของนักวิชการที่มาจากหลากหลายภูมิภาค เราทุ่มเทในส่วนของความเห็น กำลังสมองและกำลังกายมากที่สุดแล้ว” ผศ.ดร.นัทมนกล่าว

 

Advertisement

สำหรับเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึก มีเนื้อหาโดยสรุปว่า สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สำคัญของระบบกฎหมายสมัยใหม่ประการหนึ่งก็คือ หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) อันมีความหมายว่าเมื่อบุคคลใดถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด ตราบเท่าที่ยังไม่มีคำวินิจฉัย ก็จะต้องสันนิษฐานไว้ในเบื้องต้นว่าบุคคลนั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่

หลักการดังกล่าวได้ทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต้องให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองบุคคลดังกล่าว ทั้งในด้านของการปล่อยตัวชั่วคราว อันเป็นที่ยึดถือกันว่าการปล่อยตัวต้องถือเป็นหลักการทั่วไป ขณะที่การควบคุมตัวเป็นข้อยกเว้นที่อำนาจของรัฐจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นอย่างชัดเจนว่าการปล่อยตัวอาจจะทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่อาจดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการควบคุมตัวไว้ภายใต้อำนาจของรัฐส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบุคคลผู้ถูกกล่าวหา ไม่ว่าจะเป็นการถูกตัดขาดจากวิถีชีวิตในยามปกติ การทำงาน การศึกษา ความเป็นอยู่ในครอบครัว การแสวงหาความสุขตามที่พลเมืองแต่ละคนสามารถกระทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย การเข้าไปอยู่ภายใต้การคุมขังในเรือนจำอันเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า บุคคลต้องเผชิญกับความยากลำบากเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะในด้านของความปลอดภัยต่อชีวิต สุขภาพ อาหารการกิน ความเสี่ยงต่อโรคภัย ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อจะมีการใช้อำนาจรัฐในการควบคุมตัวบุคคลผู้ถูกกล่าวหาซึ่งยังมีฐานะเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงต้องเป็นมาตรการทางกฎหมายในสถานการณ์อันเป็นที่ประจักษ์ว่าไม่มีมาตรการอื่นใดที่จะนำมาใช้ได้

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรค 2 และวรรค 3 ได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน ดังนี้
“ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจําเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จําเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี”

นอกจากนี้ ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ได้มีการกำหนดหลักการและขั้นตอนสำหรับการขอปล่อยตัวชั่วคราว ที่ให้การคุ้มครองต่อผู้ถูกกล่าวในฐานะของผู้บริสุทธิ์ไว้เช่นเดียวกัน อันถือว่าเป็นการให้ความสำคัญต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

ภาพจาก : สำนักข่าวราษฎร

ที่ผ่านมา การปล่อยตัวบุคคลผู้ถูกกล่าวหาในระหว่างถูกดำเนินคดีก็เป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้อย่างกว้างขวาง ดังจะพบว่ามีการให้ประกันตัวกับผู้ที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยเกิดขึ้นในคดีจำนวนมาก แม้ว่าเป็นคดีที่มีความรุนแรงอย่างยิ่ง ดังเช่นคดีที่ผู้ชุมนุมบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ การบุกยึดทำเนียบรัฐบาล จำเลยที่เป็นแกนนำก็ล้วนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หลายคดีแม้จะได้มีการตัดสินว่าจำเลยมีความผิดในศาลชั้นต้นหรืออุทธรณ์ ตราบที่คดียังไม่ถึงที่สุดบุคคลนั้นก็ยังดำรงสถานะของผู้บริสุทธิ์

และในหลายครั้งการปล่อยตัวชั่วคราวก็เกิดขึ้นแม้จะเป็นคดีที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน ดังเช่นคดีของนักการเมืองที่ก่อคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเนื่อง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีคดีอีกเป็นจำนวนมากที่สามารถนำมาเป็นตัวอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้ให้การคุ้มครองต่อผู้ถูกกล่าวหาในฐานะของผู้บริสุทธิ์นั้นเป็นบรรทัดฐานทั่วไป

อย่างไรก็ตาม มีคดีอีกกลุ่มหนึ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังจะพบว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมา การปล่อยตัวชั่วคราวสำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวเป็นไปอย่างยากลำบาก นับตั้งแต่การยื่นขอประกันที่ต้องดำเนินการหลายครั้ง เหตุผลในการพิจารณาให้ประกันตัวที่ทำให้เกิดคำถามติดตามมาอย่างกว้างขวาง การกำหนดเงื่อนไขในการขอประกันตัวที่จำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างมาก

สิ่งที่พึงต้องตระหนักก็คือ บุคคลทั้งหมดนี้ยังคงอยู่ในสถานะของผู้ถูกกล่าวหาและยังไม่มีคำตัดสินเกิดขึ้น ดังนั้น ก็ต้องถือว่าบุคคลทั้งหมดเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อันเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การควบคุมตัวบุคคลต้องเป็นไปเท่าที่เท่าจำเป็นเพื่อมิให้มีการหลบหนีเป็นสำคัญ

ในตอนท้ายของจดหมาย มีเนื้อหาเรียกร้องให้พิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกกล่าวหา ขณะที่การควบคุมตัวต้องเป็นข้อยกเว้น โดยต้องมีความชัดเจนทั้งพยานหลักฐานและการให้เหตุผล ลงนามโดยเครือข่ายนักกฎหมาย คณาจารย์นิติศาสตร์นักวิชาการ ทนายความ และนักสิทธิมนุษยชน

พร้อมข้อความระบุว่า ด้วยความยึดมั่นต่อระบบกฎหมายและระบอบประชาธิปไตย 27 กรกฎาคม 2565

ต่อมา เวลา 13.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีอภิปรายวิชาการ ที่ห้อง 322 คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในหัวข้อเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม

ภาพจาก : สำนักข่าวราษฎร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image