ทนายประจำอบต. อีกมิติใหม่ ช่วยเข้าถึงกม.-สู้คดี

ทนายประจำอบต. อีกมิติใหม่ ช่วยเข้าถึงกม.-สู้คดี

ภายหลังสร้างผลงานทนายความอาสาประจำโรงพักเพื่อช่วยเหลือประชาชนเเล้ว สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ไม่หยุดอยู่เเค่นี้ ล่าสุดร่วมกับสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทยลงนามความร่วมมือจัดตั้งทนายความอาสาประจำสภาตำบลทั่วประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายเครือข่ายการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย

จึงเกิดคำถามว่า ทนายประจำ อบต. มีที่มาที่ไปเเละในทางปฏิบัติจะมีบทบาทอย่างไร ไปฟังคำตอบ
โครงการดังกล่าวเริ่มมาจาก นายอนุพร อรุณรัตน์ ที่ปรึกษาสภาทนายความ ในฐานะผู้สมัครนายกสภาทนายความ หมายเลข 4 ผู้ผลักดันโครงการ เล่าว่า แนวคิดนี้เริ่มมาจากช่วงประมาณ 8 เดือนที่แล้วได้เดินทางออกไปพบปะบรรดาทนายความทั่วประเทศในนาม คณะของอนุพร ว่าที่ผู้สมัครนายกสภาทนายความในขณะนั้น เดิมมีปณิธานและพูดอยู่เสมอว่าทนายความไม่ได้มีภารกิจอยู่แค่การว่าความในศาล แต่ยังมีภารกิจอื่นอีกมากมายตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองและประชาชนชาวไทย

สภาทนายความจะต้องมีผู้นำที่จะหาภารกิจ หน้าที่และความรับผิดชอบให้แก่สมาชิกทนายความ ก็เลยเสนอว่าถ้ามีโอกาสจะต้องมีโครงการทนายความอาสาทั้งใน อบต. อบจ. เทศบาล หรือในเขตกรุงเทพฯ รวมถึงองค์กรอื่นๆ ด้วย

เราก็เล็งเห็นเเล้วว่า อบต.เป็นองค์กรที่มีการสัมผัสประชาชนรากหญ้ามากที่สุด พบว่าคนเหล่านี้ยังเข้าไม่ถึงกฎหมาย ทนายความก็ถือว่าเป็นบุคคลที่เป็นตัวแทนทางกฎหมาย จึงควรมีทนายความอาสาเข้าไปนั่งให้ความเห็นทางกฎหมาย รับรู้สภาพปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการยุติธรรมของแผ่นดินที่มีผลกระทบไม่ว่าจะทั้งดีและร้าย

Advertisement

จนวันหนึ่งมีทนายความท่านหนึ่งได้ มาพบผมที่ จ.ลพบุรี ภายหลังจากที่ได้พูดเรื่องนี้มาหลายเดือนเเละได้แจ้งว่า เขาได้มีการประสานงานกับสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย ผมเห็นว่าเรื่องนี้เมื่อตรงตามวัตถุประสงค์ที่คิดไว้ ไม่ว่าจะเป็น อบต., อบจ.หรือของ กทม.ตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นโครงการที่เขียนขึ้นมาได้เลย ผมในฐานะที่ปรึกษานายกสภาทนายความจึงเรียนถามไปยังนายกสภาฯว่ามีความเห็นด้วยอย่างไร ซึ่งสภาทนายความก็เห็นด้วยในสิ่งเหล่านี้ เพราะเป็นเรื่องวัตถุประสงค์ของสภาทนายความในการให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นหลักสำคัญอยู่แล้ว ก็เลยมีการนัดประชุมกันระหว่างนายกสมาคม อบต.กับคณะสภาทนายความ จนนำมาสู่การตกลงทำความร่วมมือที่ผ่านมา นายอนุพรเล่าย้อนที่มา

นายอนุพรกล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนั้นสรุปได้ว่า จะขอให้มีทนายความอาสาไปให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายใน อบต.ทั่วประเทศก็ตั้งไว้ประมาณ 5,400 อบต. และถ้าเป็นไปได้ก็จะประสานให้มีทนายความอาสาประจำเทศบาลด้วย พร้อมกันนี้หลังจากนี้ไป ตนเตรียมเข้าพบนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เพื่อจะเสนอให้มีโครงการทนายความอาสาประจำเขตเเต่ละเขตของ กทม.ต่อไปด้วย

ถ้าถามสิ่งเหล่านี้เกิดประโยชน์หรือไม่ ต้องบอกว่ามันเกิดประโยชน์กับประชาชน ทำให้ประเทศชาติพัฒนาขึ้นจากการที่ประชาชนเข้าถึงกฎหมาย ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก องค์กรเราพร้อมที่จะมีทนายความอาสาเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในการยุติธรรม ที่ปรึกษาสภาทนายความระบุ

Advertisement

คำว่าใน การยุติธรรม คือผลที่เกิดขึ้นจากกฎหมายในการที่รัฐเข้าไปแทรกแซง หรือรัฐเข้าไปดำเนินการจัดการบริหาร บางครั้งกระทบต่อสิทธิหน้าที่และเสรีภาพ ของประชาชนโดยเฉพาะประชาชนรากหญ้า และเขาเหล่านี้ไม่สามารถปรึกษาใครได้แต่เจ็บอยู่ในอก หรือที่เรียกว่าความเจ็บป่วยทางกฎหมา

โครงการนี้จึงต้องคำนึงว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้ และสภาทนายความก็มีนักกฎหมายที่พร้อมจะให้บริการกับประชาชน

นายอนุพรบอกอีกว่า ไม่ได้มองถึงประโยชน์ว่าทนายความจะได้เงินทองหรือมูลค่าเศรษฐกิจในโครงการนี้ เพียงแต่ต้องให้มีเรื่องค่าใช้จ่ายค่าพาหนะในการเดินทางก็ดูจากโครงการทนายความอาสาบนสถานีตำรวจ ซึ่งรัฐบาลทำแล้วประสบความสำเร็จในเขตใกล้โรงพัก แต่ชนบทยิ่งอยู่ไกลยิ่งมีความต้องการเข้าถึงกฎหมายมากขึ้น

จากการที่เดินทางไปสัมผัสเองสลับกับรับฟังทนายความทั่วประเทศ ยิ่งประชาชนที่อยู่ไกลออกไปยิ่งอยากอยู่ใกล้ตัวเเทนทาง กฎหมายพบตัวแทนทางกฎหมาย แต่แน่นอนว่าถ้าส่งทนายไป ถ้าเราไม่มีค่าใช้จ่ายในค่าน้ำมันรถพอสมควรจะทำอย่างไร ซึ่งตรงนี้ทาง อบต.ก็จะไปหาทาง

ส่วนที่มีคนโจมตีโครงการนี้ว่า อบต.ไม่สามารถจ้างทนายความได้นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยไว้ว่า การไม่สามารถจ้างทนายความได้โดยตรงนั้นเป็นเรื่องของผู้บริหาร อบต.ไปกระทำความผิดหรือถูกกล่าวโทษต่างๆ ฉะนั้นโครงการนี้จึงเป็นคนละเรื่องเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องขอทนายความไปให้ถึงประชาชนรากหญ้าได้เข้าถึงกฎหมายโดยมีทนายความเข้าไปร่วม

บางครั้งประชาชนเงียบเพราะไม่รู้ว่ามีสิทธิและหน้าที่อย่างไร การที่ไม่รู้เพราะขาดที่ปรึกษา เช่นเรื่องที่ดินหรือเรื่องต่างๆ ที่สามารถพัฒนามูลค่าทางเศรษฐกิจได้ การรู้เเละมีทนายเป็นการเพิ่มสิทธิทำให้ไปเจรจาต่อรองได้ เมื่อมีสิทธิและมีคนกระตุ้นสิทธิก็สามารถเพิ่มมูลค่าของให้มีคุณค่าทางเศรษฐกิจได้

สำหรับโครงการทนายอาสาประจำ อบต. คณะอนุพรของตน แฝงหลักการและนโยบายไว้ว่า 1.ทนายต้องมุ่งมั่นให้ความรู้ประชาชนให้รู้สิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ เพื่อประกอบการตัดสินใจและนำข้อมูลมาพินิจไม่ว่าจะเรื่องการจัดการทรัพย์สินหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้ชัดเจนไม่คลุมเครือ ไม่ผิดพลาด ทำให้เสียประโยชน์จากอีกฝ่ายที่รู้กฎหมายมากกว่า ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบทางสังคม

2.การช่วยประชาชนที่มีความเจ็บป่วยทั้งกฎหมาย เพราะความไม่รู้ทำให้เสียสิทธิและขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบกระบวนการยุติธรรมและ 3.เหลื่อมล้ำในปัจจุบันมันไม่ใช่เฉพาะความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นแล้ว แต่เป็นเรื่องพิพาทในกลุ่มระดับเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อนในสังคมเดียวกันมีเพิ่มมากขึ้น
จนพอกับความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น

ที่กล่าวมานี้ตรงกับหลักที่ว่า ประชาชนเข้าถึงตัวแทนทางกฎหมายจะทำให้ประเทศชาติพัฒนามากขึ้น เเละประเทศชาติจะพัฒนา เมื่อประชาชนเข้าถึงกฎหมายมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image