กรมคุ้มครองสิทธิฯประณามมือยิงสาวท้อง จ.ปัตตานี วอนปชช.เห็นเหตุการณ์เป็นพยาน

น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น่าสลดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงชาวบ้านที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ปรากฏว่าเป็นผู้หญิงที่ถูกทำร้ายทั้ง 2 คนจนเสียชีวิต และหนึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ 9 เดือน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและขอประณามการกระทำดังกล่าว พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชนผู้บริสุทธิ์ จะนำพาให้เกิดความสงบสุขและสันติสุขในประเทศไทย

อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อชีวิตร่างกายของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม ดังนั้น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ฐานะหน่วยงานหลักของภาครัฐที่รับผิดชอบงานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย มีหน้าที่สำคัญในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามที่ได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women : CEDAW) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination) ขอยืนยันในพันธกรณีของประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีสนธิสัญญาฯดังกล่าวว่าจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการปกป้อง คุ้มครอง และป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมีความพยายามในการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง สนับสนุนการปรับแก้กฎหมาย กฎ ระเบียบ และนโยบายต่างๆ รวมทั้งการส่งเสริมให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จากเหตุการณ์ดังกล่าว ถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างยิ่ง จึงขอให้ประชาชนที่พบเห็นเหตุการณ์ในครั้งนี้ รวมทั้งเหตุการณ์อื่นๆที่มีคนร้ายก่อเหตุเข้าร่วมมาเป็นพยาน ภายใต้พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และขอให้ประชาชนที่จะเข้ามาเป็นพยานมีความเชื่อมั่นในกระบวนการคุ้มครองพยาน ว่าจะได้รับความปลอดภัยจากการดูแลจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยประชาชนที่จะเข้ามาเป็นพยานสามารถติดต่อขอเป็นพยานได้ที่ศูนย์ประสานงานคุ้มครองพยานที่จัดตั้งขึ้นทั้ง 31 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และ จังหวัดนราธิวาส รวมทั้งหน่วยงานฝ่ายปกครอง ได้แก่ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการปกครองจังหวัด และหน่วยทหารในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม สถานีตำรวจ สำนักงานยุติธรรมจังหวัด สำนักงานคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ภาค 4 (จังหวัดสงขลา) และศูนย์ดำรงธรรม หรือที่สายด่วนคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ 1111 กด 77

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image