‘ทนายอั๋น’ ร้องดีเอสไอ สอบเส้นทางเงิน ‘ทนายตั้ม’ หลังรวยอู้ฟู่ สวนทางงบบัญชีบริษัท
เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ “คนรุ่นใหม่ ประชาธิปไตยบริสุทธิ์” เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องดีเอสไอ ขอให้ตรวจสอบสถานะทางการเงินของนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ โดยมีนางพิชญา ธารากรสันติ โฆษกดีเอสไอ และ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองบริหารคดีพิเศษ เป็นตัวแทนรับเรื่องก่อนเสนอผู้บังคับบัญชาต่อไปตามลำดับ
ทนายอั๋นกล่าวว่า วันนี้มายื่นหนังสือให้ดีเอสไอช่วยตรวจสอบสถานะทางการเงินของทนายตั้ม เพราะมีความพยายามทำตัวเป็นบุคคลสาธารณะ ย่อมต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ต้องรับฟังคำติชมของประชาชน และตามที่ปรากฏเป็นข่าวที่ผ่านมา ทนายตั้มถือว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดของสังคม เชื่อว่าทุกคนทราบดีว่างบขาดทุนของบริษัททนายตั้ม มีกำไรขาดทุนสะสม 4 ปี บวกลบจำนวน 400,000 บาท แต่การใช้ชีวิตของเขากลับมีทั้งแบรนด์เนม มีการใช้รถยนต์หรู ทั้งยังทำตัวไฮโซยิ่งกว่านายโอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร ซึ่งโดยรวมคือการใช้จ่ายไม่สอดคล้องกับรายได้
ทนายอั๋นกล่าวอีกว่า บริษัท ษิทรา ลอว์เฟิร์ม จํากัด ของนายษิทรา ตลอดระยะเวลานับแต่ปีงบดุล 2561-ปีงบดุล 2564 จะเห็นว่ามีกำไร (ขาดทุน) จำนวนติดลบ 470,000 บาท
“ผมจึงมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่ากำไร (ขาดทุน) จำนวนดังกล่าว ทำไมนายษิทราจึงมีความเป็นอยู่โดยใช้ชีวิตที่น่าจะเกินรายได้จากบริษัทดังกล่าว อาทิ ซื้อคฤหาสน์ ราคา 60 ล้านบาท ช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนม หรือสิ่งของหรูหราหลักหลายล้านบาทที่ต่างประเทศ มีรถยนต์หรูหลายคัน สะสมนาฬิกายี่ห้อดังราคาหลายล้านบาท เป็นต้น เข้าทำนอง แจ้งรายได้นิดหน่อย
แต่ใช้ชีวิตร้อยล้านหรือไม่ และจากข้อเท็จจริงดังกล่าว สังคมยังเกิดข้อสงสัยว่านายษิทรา มีรายได้จากทางใดอีกหรือไม่นอกเหนือจากรายได้จากบริษัทดังกล่าว และการแสดงงบรายได้-รายจ่ายของบริษัทดังกล่าวถูกต้องตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ เพราะลำพังรายจากวิชาชีพทนายความ ไม่น่าจะมีทรัพย์สินและการใช้ชีวิตแบบหรูหราฟุ่มเฟือยดังกล่าวได้” ทนายอั๋นกล่าว
ทนายอั๋นกล่าวอีกว่า จากข้อสงสัยของสังคมดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าควรมีมาตรการตรวจสอบสถานะทาง การเงิน บริษัท ษิทรา ลอว์เฟิร์ม จํากัด, นายษิทรา เบี้ยบังเกิด และมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนเพื่อเยาวชนและสังคม ทั้งนี้ ถ้าหากการแสดงสถานะทางการเงินของบริษัทตรงไปตรงมาอย่างถูกต้อง รายรับของนายษิทราได้มาโดยสุจริต และการดำเนินการของมูลนิธิทีมทนายเพื่อประชาชนฯ เป็นไปด้วยความโปร่งใสด้วยแล้ว ย่อมจะเป็นผลดีต่อนายษิทราเอง แต่ถ้าหากทุกอย่างเกิดจากและได้มาโดย “ทุจริต” ย่อมเกิดผลกระทบและเสียหายต่อสังคมและประชาชนได้ และอาจเข้าข่ายความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงินได้ และการตรวจสอบดังกล่าวย่อม เกิดผลดีต่อสังคมและประชาชน
ส่วนกรณีที่ทนายตั้ม ระบุว่าเรียกรับเงิน 300,000 บาท เป็นค่าเสี่ยงภัยในการแถลงข่าวเนื่องจากอาจจะถูกฟ้องนั้น ทนายอั๋นกล่าวว่า การที่ทนายตั้มบอกว่ามีค่าเสี่ยงภัย แสดงว่าสิ่งที่ทนายตั้มทำนั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือ ทนายษิทรากำลังนำลูกความไปทำสิ่งผิดกฎหมายหรือ ถึงต้องเสี่ยงภัย เพราะตนยังแถลงข่าวได้โดยไม่ต้องเกรงกลัว หากเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย ดังนั้น การที่ทนายษิทราเรียกรับเงินเช่นนี้ จะเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความหรือไม่
ส่วนกรณีมีสลิปโอนเงิน 500,000 บาทที่มีกระแสข่าวว่าแฟนคลับลุงพลที่ต่างประเทศโอนเงินเข้ามูลนิธิของทนายษิทรานั้น ทนายอั๋นระบุว่า จากหลักฐานที่ตนมี ประกอบกับที่ลุงพลออกมายอมรับ ก็ยืนยันได้ว่าแฟนคลับลุงพลมีการโอนเงินจริง จากตอนแรก 3 ล้านบาท ต่อรองเหลือ 2 ล้านบาท และเงิน 500,000 บาท ก็เป็นค่าใช้จ่ายให้ทนายษิทราเดินทางลงพื้นที่บ้านกกกอก
ทนายอั๋นยังกล่าวว่า ตนไม่กังวลว่าทนายษิทราจะฟ้องกลับ และแม้ว่าจะยังไม่เป็นความผิดมูลฐานที่ ปปง.รับเรื่อง แต่การมายื่นกับดีเอสไอครั้งนี้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการตรวจสอบ ซึ่งหากดีเอสไอไม่พบความผิดปกติ ก็จะเป็นผลดีกับทนายษิทราเอง แต่หากพบรายได้ที่ผิดปกติ ก็จะเป็นผลดีต่อสังคม พร้อมขอให้สังคมจับตาดูงบดุลบริษัทปี 2565 ของทนายษิทราที่จะมีการยื่นภายในเดือนพฤษภาคมนี้ว่าจะขาดทุนเช่นเดิม หรือมีเงิน 200-300 ล้านปรากฏเข้ามาในบริษัทหรือไม่ และถ้าหากมีก็อยากทราบว่าเงินดังกล่าวมีที่มาอย่างไร
เมื่อถามว่า ต้องการให้ดีเอสไอตรวจสอบสถานะทางการเงินของทนายตั้มตั้งแต่ช่วงเวลาใดนั้น ทนายอั๋นระบุว่า ต้องถามว่าเขารวยตั้งแต่ปีไหน ถ้าเป็นตั้งแต่ช่วงคดีกกกอกก็ดีเหมือนกัน โดยตนต้องการดูว่าสถานะทางการเงินของเขามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ ส่วนหลักฐานที่นำมา ก็นำมาจากที่มีการเผยแพร่ตามโซเชียลมีเดียด้วย เอกสารของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นกำไรงบดุลขาดทุน โดยตนคัดลอกมาได้ 4 ปีย้อนหลัง
ต่อข้อถามว่า ไม่กลัวการถูกขุดกลับใช่หรือไม่ ทนายอั๋นระบุว่า ยินดีให้ขุด เพราะอยากดูอดีตตัวเอง บางทีอาจลืมอดีตตัวเอง ในฐานะที่ตนว่าความเป็นทนายความ ตนมองว่าพฤติกรรมของเขาอาจเข้าข่ายความผิดมรรยาททนายความ ทำให้ภาพลักษณ์ของคนที่เป็นทนายความจริงๆ ได้รับผลกระทบ