อุทธรณ์ยืนคุกคนละ 4 ปีอดีต ส.จ.ชลบุรี-พวก โกงขายน้ำตาลนักธุรกิจอิเหนา-สั่งชดใช้ 76 ล้าน

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.3505/2555 ที่อัยการฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ และนายบูดี ยูโวโน อายุ 64 ปี นักธุรกิจชาวอินโดนีเซีย เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้องบริษัท ศรีสุวรรณ ทรานสปอร์ต จำกัด นายรุ่งโรจน์ สุวรรณศรี กรรมการ บมจ.ศรีสุวรรณฯ นายสมศักดิ์ ศักดิ์เกษมชัยกุล นายสมศักดิ์ เนตรนิมิตร อดีต ส.จ.ชลบุรี และนายนุกราฮา อัดมาจา อินตัน ปูตรา หรือบอย ล่ามแปลภาษาอินโดนีเซีย เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 และ 341 และขอให้พวกจำเลยคืนเงินจำนวน 76 ล้านบาทแก่ผู้เสียหาย

โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 20 มกราคม- 18 สิงหาคม 2548 จำเลยกับพวก ได้ร่วมกันหลอกลวง บริษัท พีที บูมิเรโจ จำกัด ของนายบูดี ยูโวโน โจทก์ร่วม ชาวอินโดนีเซียซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลอินโดนีเซียให้เป็นผู้นำเข้าน้ำตาลทรายว่าพวกจำเลยมีน้ำตาลทรายจำนวนมากที่จะขายให้โจทก์ร่วม จำนวน 37,500 ตัน มูลค่า 9.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อตกลงชำระเงินล่วงหน้าจำนวน 76 ล้านบาท ให้กับบริษัท สามเสนไอแมกซ์ จำกัด นอกจากนี้ พวกจำเลยยังได้ร่วมกันปลอมใบตราส่งสินค้าหลายครั้งหลายหนให้แก่บริษัทผู้เสียหายว่าจะส่งน้ำตาลทรายจากท่าเรือ จ.ชลบุรี ไปที่ประเทศอินโดนีเซีย ทั้งที่ความจริงจำเลยทั้งหมดไม่มีน้ำตาลทรายและไม่สามารถส่งสินค้าให้แก่บริษัทผู้เสียหายได้ โดยจำเลยมีเจตนาที่แท้จริงเพื่อหลอกลวงบริษัทผู้เสียหายให้ส่งมอบเงินและจำเลยได้รับผลประโยชน์เป็นของตนเองโดยทุจริต จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานฉ้อโกงและใช้เอกสารปลอม เป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุกนายรุ่งโรจน์ จำเลยที่ 2 นายสมศักดิ์ จำเลยที่ 3 และนายสมศักดิ์ จำเลยที่ 4 คนละ 4 ปี ปรับเงินบริษัท ศรีสุวรรณ ทรานสปอร์ต จำกัด จำเลยที่ 1 จำนวน 8,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5 ให้ยกฟ้องเนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานว่าร่วมกระทำความผิดด้วย และให้จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันชดใช้เงินคืน 76 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย

เมื่อถึงเวลานัดจำเลยที่ 1-5เดินทางมาศาลพร้อมทนายความ ขณะที่นายบูดี ยูโวโน อายุ 64 ปี นักธุรกิจชาวอินโดนีเซีย โจทก์ร่วมก็เดินทางมาฟังคำพิพากษาเช่นกัน

Advertisement

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีพยานเอกสาร พยานบุคคลแน่นหนา และดำเนินการร้องทุกข์ผ่านเจ้าพนักงานตำรวจ ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบว่ามีการเอกสารปลอมให้ชัดเจน เนื่องจากเอกสารใบตราส่งสินค้าเป็นเพียงสำเนา หลักฐานโจทก์จึงไม่สามารถรับฟังได้นั้น เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมมีความน่าเชื่อถือ โดยโจทก์นำสืบมีน้ำหนักมั่นคง จำเลยที่ 1-4 กระทำผิดฐานใช้เอกสารปลอม ทั้งนี้ขั้นตอนการนำสืบฝ่ายโจทก์สามารถนำพยานหลักฐานเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้ ศาลจะเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจและชั่งน้ำหนัก ความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานเอง การกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1-4 จึงเป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอยๆ ว่าไม่เกี่ยวข้อง

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 5 ร่วมกระทำผิดฐานใช้เอกสารปลอมนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงได้จากคำเบิกความของจำเลยที่ 5 เองว่าเป็นผู้ชักจูงให้โจทก์หลงเชื่อเพื่อมาซื้อน้ำตาล นั้นเห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมไม่นำสืบให้เห็นชัดเจนว่า จำเลยที่ 5 มีความสัมพันธ์กับจำเลยอื่น หรือ มีการแบ่งหน้าที่ให้จำเลยที่ 5 อย่างไร รวมทั้งจำเลยที่ 5 ได้ผลประโยชน์อย่างไร ซึ่งจำเลยที่ 5 เบิกความยืนยันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่ได้กระทำผิด อีกทั้งโจทก์ร่วมก็เบิกความว่า จำเลยที่ 5 กระทำหน้าที่เป็นเพียงผู้แนะนำเท่านั้น พยานหลักฐานจึงยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 ได้ใช้เอกสารปลอม อุทธรณ์ของโจทก์ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำผิดของพวกจำเลยเป็นการกระทำผิดหลายกรรมหรือไม่ เห็นว่าที่โจทก์ร่วมว่าอ้างถูกพวกจำเลยหลอกลวงหลายครั้งและจบเป็นคราวๆไป นั้น เห็นว่า การกระทำผิดของจำเลยมีลักษณะต่อเนื่องกัน อันแสดงเจตนาเดียว โดยมุ่งหมายเพื่อให้ได้เงินจำนวน 76 ล้านบาท จึงเห็นว่าเป็นความผิดกรรมเดียว

Advertisement

มีประเด็นวินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษมานั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ เห็นว่าความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอม ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 2-4 คนละ 4 ปี เป็นอัตราโทษที่ใกล้เคียงกับโทษสูงสุดซึ่งกำหนดโทษไว้ไม่เกิน 5 ปี ซึ่งเหมาะสมแล้วที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน ให้จำคุกจำเลยที่ 2-4 คนละ 4 ปี ปรับเงินจำเลยที่ 1 จำนวน 8,000 บาท และยกฟ้องจำเลยที่ 5

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image