รปภ.ม้าเหล็ก วันที่ไร้ตร.รถไฟ

รปภ.ม้าเหล็ก วันที่ไร้ตร.รถไฟ

กองบังคับการตำรวจรถไฟ (บก.รฟ.) หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยเกือบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถไฟ เริ่มแรกของการก่อตั้งมีฐานะเป็นกองตำรวจรถไฟเมื่อปี 2437 จากนั้นอีก 3 ปี ยกระดับเป็นกรมรถไฟหลวง

ต่อมาในปี 2494 พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น มีคำสั่งให้ยกสถานะเป็นกองบังคับการ เพื่อเพิ่มอำนาจหน้าที่และอัตรากำลังพลให้เพียงพอต่ออัตราการป้องปรามอาชญากรรมที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงเส้นทางเดินรถ สถานี และปริมาณการเดินรถและผู้โดยสารที่มากขึ้น จากนั้น อีก 54 ปี มาปี 2548 จึงมีการโอนหน่วยมาสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

บก.รฟ.มีหน้าที่ดูแลพื้นที่สถานีรถไฟและชานชาลากว่า 450 แห่ง เส้นทางรถไฟยาวกว่า 4,000 กิโลเมตร จุดตัดผ่านทางรถไฟกว่า 5,000 จุด ผู้โดยสารกว่า 30 ล้านคนต่อปี ขบวนรถโดยสารกว่า 240 ขบวน ไม่รวมขบวนรถสินค้า มีสถานีตำรวจรถไฟอยู่ 15 สถานีตามเส้นทางรถไฟ และมีหน่วยบริการอยู่ตามสถานีรถไฟ 40 แห่ง

กระทั่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ ให้ยุบเลิก บก.รฟ. ตำรวจรถไฟทั่วประเทศทั้ง 870 คน จะสิ้นสุดหน้าที่อย่างเป็นทางการในวันที่ 16 ตุลาคมนี้

Advertisement

เท่ากับว่า จะไม่มีตำรวจรถไฟดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟ โดยเฉพาะการจัดการควบคุม ป้องกัน และปราบปรามการก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งบริเวณสถานีรถไฟ ภายในขบวนรถไฟ และตลอดเส้นทางรถไฟทั่วประเทศเหมือนที่ผ่านมา

นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจกแจงถึงแนวทางการดูแลความปลอดภัยทดแทนตำรวจรถไฟ ว่า รฟท. ได้หารือร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟกับ บช.ก. แล้ว เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลความปลอดภัย ป้องกัน และปราบปรามปัญหาอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

เดิมตำรวจที่อยู่บนรถไฟจะรับเวรต่อกันในแต่ละเขตพื้นที่ โดยจะดูแลตลอดเส้นทางในเขตพื้นที่ ที่ตนเองรับผิดชอบ หากรถไฟแล่นผ่านเขตที่รับผิดชอบไปแล้ว ก็จะเป็นอำนาจของตำรวจที่อยู่ในเขตพื้นที่ต่อไป ทำหน้าที่ดูแล และสืบสวนหากเกิดเหตุ

Advertisement

แต่หลังจากนี้จะไม่มีตำรวจรถไฟประจำในแต่ละขบวนแล้ว รวมไปถึงรถไฟทางไกล แต่จะใช้วิธีแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง และมีเจ้าหน้าที่ของการรถไฟฯ เป็นผู้สอดส่องดูแลความปลอดภัยแทน แต่ละสถานีรถไฟก็จะมี รปภ.ประจำสถานี คอยอำนวยความสะดวกและช่วยดูแลในเรื่องของความปลอดภัยของผู้โดยสารอยู่แล้ว

ที่ผ่านมาในส่วนของการดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ที่มาใช้บริการ นอกจากมีตำรวจคอยช่วยสอดส่อง ควบคุม ป้องกัน และปราบปรามการก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ แล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ของ รฟท.ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้ผู้ใช้บริการด้วย หากไม่มีตำรวจรถไฟมาดูแล รฟท.ก็ไม่ได้กระทบ 100% เพราะยังมีเจ้าหน้าที่ รฟท.ดูแลอยู่ คาดว่าเพียงพอต่อการรับมือสถานการณ์ต่างๆ แต่วิธีการทำงาน หรือการจัดการคงไม่เหมือนกับตำรวจ ซึ่งจะช่วยดูแลได้ดีกว่า โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ เกิดขึ้น

ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับ ตร. เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาประจำที่สถานีตำรวจย่อย ซึ่งจะตั้งอยู่ในพื้นที่ของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้ผู้ใช้บริการด้วย เนื่องจากในอนาคตสถานีกลางฯจะเป็นศูนย์กลางระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย มีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก แต่ตำรวจที่จะมาประจำที่สถานีกลางฯอาจจะมีมาจากหลายหน่วย อาทิ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ซึ่งได้มีการหารือกันเบื้องต้นแล้ว ผู้ว่าการ รฟท.สรุป

ด้าน พล.ต.ต.ชัยรพ จุณณวัตต์ ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ ให้ข้อมูลเสริมว่า การรถไฟฯมีแนวโน้มที่จะขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่บนขบวนรถไฟเพื่อดูแลความปลอดภัยของประชาชน แต่การขอกำลังจะไม่ใช่ทุกขบวนรถไฟ จะเป็นในขบวนพิเศษหรือในเส้นทางสายยาว

ส่วนข้อสรุปของกำลังพลที่จะใช้ต้องรอการประสานงานกับทางการรถไฟฯสักระยะหนึ่ง เบื้องต้นทราบว่าการรถไฟฯมีการตั้งคณะทำงานมาศึกษาแนวทาง ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือและทำรายละเอียด ว่าการขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลขบวนรถไฟจะต้องใช้ตำรวจกี่นายต่อหนึ่งขบวน และใน 1 วันจะต้องทำอะไรบ้าง เบื้องต้นจะใช้กำลังตำรวจประมาณ 30% ของตำรวจรถไฟเดิมที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนขบวน โดยจะเริ่มวันที่ 17 ตุลาคมนี้

ยอมรับการรถไฟฯมีความห่วงใยในเรื่องของความปลอดภัยของประชาชนที่โดยสารรถไฟ เพราะตำรวจรถไฟจะสามารถเผชิญเหตุซึ่งหน้า และระงับเหตุได้ดีกว่า เนื่องจากมีอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่โดยตรง หากใช้กำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของภาคเอกชนจะมีข้อจำกัดหลายประการ พล.ต.ต.ชัยรพ ยังเป็นห่วงความปลอดภัยของผู้โดยสารเมื่อไม่มีตำรวจรถไฟคอยดูแลเหมือนเดิมแล้ว

ขณะที่ พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการดูแลปลอดภัยของประชาชนที่สัญจรโดยทางรถไฟ ทางตำรวจก็เล็งเห็นปัญหานี้ พยายามที่จะให้ตำรวจรถไฟคงอยู่ เพื่อทำหน้าที่ดูแลประชาชน แต่เมื่อกฎหมายออกมาแล้วต้องปฏิบัติตาม ก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกับทางผู้ว่าการการรถไฟฯถึงการวางแนวทางไว้เบื้องต้นว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อกับกรณีที่มีการลักลอบกระทำผิดกฎหมาย รวมถึงกลุ่มมิจฉาชีพเป็นเส้นทางลำเลียงในเรื่องยาเสพติดและของเถื่อนต่างๆ

การหารือครั้งนั้น ได้ข้อสรุปว่า ถ้าในเส้นทางขบวนรถไฟสำคัญ หรือเส้นทางที่มักมีปัญหาการกระทำผิดกฎหมาย ทางผู้ว่าการการรถไฟฯ อาจจะมีการร้องขอให้จัดกำลังตำรวจเข้าไปดูแลในบางขบวนที่มีปัญหา ยืนยันว่าทั้งทางตำรวจและการ
รถไฟฯจะพยายามดูแลตามอำนาจหน้าที่ของกฎหมายที่สามารถดำเนินการให้ดีที่สุดต่อไป รอง ผบช.ก.ให้ความมั่นใจจะดูแลผู้โดยสารรถไฟอย่างดี

เป็นอีกความเปลี่ยนแปลงจาก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ในการจัดทัพวงการสีกากีใหม่ ที่ต้องปรับเปลี่ยนการดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารรถไฟและการป้องกันกระทำผิดต่างๆ …แต่จะดีขึ้นหรือแย่ลงต้องรอดูผลต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image