ศูนย์ป้องอุ้มหาย อสส. ที่พึ่งปชช.-สกัดละเมิด

ศูนย์ป้องอุ้มหาย อสส. ที่พึ่งปชช.-สกัดละเมิด

นับว่าเป็นการเพิ่มระดับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้ใช้อำนาจเกินขอบเขต จับกุมโดยไม่มีขอบเขตการควบคุมตัว เป็นปัญหาบ่อนเซาะกัดกินความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมานาน เป็นความผิดในระดับสากล และยังเป็นการขัดรัฐธรรมนูญอีกด้วย

เมื่อ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย มีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา

จึงเป็นความหวังช่วยป้องกัน ไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐทรมาน หรือกระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อประชาชนหรืออุ้มหาย

Advertisement

พ.ร.บ.อุ้มหายกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยงาน หากจับใคร ต้องแจ้งอัยการและฝ่ายปกครองทันที
ต้องบันทึกวิดีโอการจับและควบคุมตัวบุคคลตลอดเวลา จนกว่าจะส่งตัวให้พนักงานสอบสวน และต้องทำบันทึกการจับกุมและควบคุมตัวโดยละเอียด เพื่อให้ตรวจสอบได้

เพื่อปราบปรามเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิด กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะหน่วยงานใดก็ตามที่มีอำนาจจับกุมตามกฎหมาย หากทรมาน กระทำการที่โหดร้ายฯ หรือการอุ้มหายประชาชน จะต้องถูกดำเนินคดีและถูกลงโทษ

พ.ร.บ.นี้มีประโยชน์ต่อทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย และยังคุ้มครองคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ หากมีหลักฐานว่าเขาถูกทรมาน ถูกกระทำโหดร้ายฯ หรือถูกอุ้มหาย โดยมีเจ้าหน้าที่ไทยเกี่ยวข้อง กฎหมายสามารถลงโทษเจ้าหน้าที่ไทยได้

Advertisement

บุคคลที่ถูกจับกุมสามารถตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ว่า แจ้งฝ่ายปกครอง อำเภอ หรืออัยการ หรือยัง
หรือถ้าสงสัยว่ามีคนถูกทรมาน อุ้มหาย

ผู้พบเห็นแจ้งอัยการ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ให้ตรวจสอบได้ทันที

คนในครอบครัว ญาติพี่น้อง สามีภรรยา คนรัก อัยการ ฝ่ายปกครอง ทนายความ ก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้

หรือคนที่รู้เบาะแสเกี่ยวกับการทรมาน การกระทำโหดร้าย หรือการอุ้มหาย ก็สามารถแจ้งทุกฝ่ายได้ ไม่ว่าจะเป็นอัยการ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ถ้าเข้าใจโดยสุจริตสามารถแจ้งความได้ ต่อมาถ้าพบว่าไม่ได้เกิดขึ้นจริง ผู้แจ้งไม่มีความผิด ไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ

หัวใจสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือการสร้างสมดุลในกระบวนการยุติธรรม ระบบตรวจสอบกระบวนการจับกุมให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม จึงให้ฝ่ายปกครองและอัยการเข้ามามีส่วนดำเนินการการจับกุมสอบสวนเพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนโดยเฉพาะอัยการ จะมีบทบาทอย่างมาก

วัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายถึงการเตรียมพร้อมตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เป้าหมายเป็นไปตามชื่อคือ ป้องกันและปราบปราม รวมถึงเยียวยาการทำทารุณ หากเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมใคร จะต้องนำส่งพนักงานสอบสวนโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาในอดีตมีการนำตัวไปเซฟเฮาส์ เกิดการทำทารุณทรมาน หรือทำให้สูญหาย เจ้าหน้าที่รัฐหรือตำรวจ เมื่อจับกุมจะต้องรีบแจ้งให้หน่วยงานด้านปกครองและอัยการทราบโดยเร็ว
ถ้าเกิดเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ ก็แจ้งกรมการปกครองและสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนบรมราชชนนี

ที่สำนักงานการสอบสวน ถนนบรมราชชนนี สำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดตั้ง ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จัดเวรเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่อัยการวันละ 8 คน คอยทำหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้

เมื่อตำรวจ หรือดีเอสไอ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ จับกุมใคร จะต้องแจ้งรายละเอียดการจับกุมเจ้าหน้าที่ของศูนย์จะตรวจสอบจากภาพถ่ายที่เจ้าหน้าที่ส่งมา ดูว่าผู้ต้องหามีร่องรอยการถูกทรมานหรือทำร้ายหรือไม่ ระยะเวลาตั้งแต่จับกุมจนนำตัวมาถึงสถานีตำรวจเหมาะสมหรือไม่ ล่าช้าหรือไม่

ตามมาตรา 22 ระบุไว้เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างทาง เช่น การทรมาน ย่ำยีศักดิ์ศรีจากจุดที่ถูกจับ จากที่ลับตาคน หรือแวะไปในที่ใดที่หนึ่ง เพื่อรีดไถเอาเงินต่อรอง หรือรีดเอาข้อมูล เพื่อให้ได้คำรับสารภาพ เมื่อถึงสถานีตำรวจจะได้ง่ายต่อการดำเนินคดี

หลังจากเจ้าหน้าที่และอัยการศูนย์พิจารณารายงานการจับกุมแล้ว ก็เสนอไปยังเลขาศูนย์ ก่อนเสนอเรื่องไปยังอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน ส่งเรื่องไปอธิบดีหรือรองอธิบดีสำนักงานการสอบสวนพิจารณาว่าการจับกุมโดยชอบหรือไม่ หากโดยชอบก็ยุติเรื่อง แต่หากมิชอบก็ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐตาม พ.ร.บ.นี้ต่อไป
ข้อดีของ พ.ร.บ.นี้ส่วนหนึ่งคือ มาตรา 5 และมาตรา 6

มาตรา 5 ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังทำร้ายร่างกายให้บุคคลที่ถูกควบคุมตัวบาดเจ็บ มีบาดแผล เจ็บปวดร่างกาย และทุกข์ทรมาน จนส่งผลกระทบไปถึงจิตใจและชีวิตประจำวันที่จะต้องใช้ในอนาคต

มาตรา 6 ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีการทำร้ายผู้ถูกควบคุมตัว แม้โดยที่ไม่ทำให้ร่างกายของบุคคลนั้นมีบาดแผล แต่ทำให้เจ็บปวดและทุกข์ทรมานด้วยวิธีการบางอย่าง เช่น พูดข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว ดูหมิ่น เหยียดหยาม จนเกิดความทุกข์ทรมาน หรือผู้ต้องขังป่วยแต่ผู้คุมกลั่นแกล้งไม่นำตัวส่งโรงพยาบาล จนเกิดความทุกข์ทรมาน

นอกจากนี้ การถูกบังคับให้สูญหาย ก็สามารถดำเนินคดีย้อนหลังได้ เพราะคดีแบบนี้ไม่มีอายุความ อย่างตอนนี้มีคดีที่ร้องเข้ามาคือ ภรรยานายสุรชัย แซ่ด่าน พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และอีก 2-3 คดี
หัวใจสำคัญอีกจุดอยู่ที่ มาตรา 31 นอกจากพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว ให้พนักงานฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่ พนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ เป็นพนักงานสอบสวน

มีอำนาจสอบสวนและรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และดำเนินคดีความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ และความผิดอื่นที่เกี่ยวพันกัน

กรณีพนักงานสอบสวนคดีพิเศษสอบสวนคดีความผิดตาม พ.ร.บ.นี้คดีใด ให้คดีนั้นเป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ

กรณีการสอบสวนโดยหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่พนักงานอัยการ ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแจ้งเหตุแห่งคดีให้พนักงานอัยการทราบ เพื่อเข้าตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวนทันที

ในกรณีไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนท้องที่ใดหรือหน่วยงานใดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้อัยการสูงสุดหรือผู้ทำการแทนเป็นผู้ชี้ขาด

หรือกรณีผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้เป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และอยู่ในหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช. ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินคดีต่อไปตาม พ.ร.บ.นี้ และแจ้งให้ ป.ป.ช.ทราบ

หรือแม่แต่ด้านการเยียวยา ถ้าญาติของผู้ต้องหาสงสัยในกระบวนการจับกุม มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลได้ เพื่อขอให้เยียวยาค่าเสียหายได้ด้วย เป็นการดูแลเบื้องต้นโดยอัยการเข้ามามีบทบาท

ยกตัวอย่างคดีดังที่อัยการเข้าไปทำหน้าที่อย่างชัดเจนตาม พ.ร.บ.นี้คือ คดี 140 ล้านที่ชลบุรี หรือที่มีวลีพูดกันว่า เป้รักผู้การเท่าไหร่ขณะนี้ก็อยู่ในกระบวนการพิจารณา หรืออย่างคดีทหารเกณฑ์ร้องว่าถูกครูฝึกทำร้ายก็เข้าข่าย

นอกจากนี้ โทษจากความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ถือว่าสูง ตั้งแต่จำคุก 3 ปีขึ้นไป 5 ปีขึ้นไป โทษปรับก็หนัก แล้วแต่กรณี ที่สำคัญถ้าผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่รัฐที่จับกุมคนนั้นเป็นผู้สั่งการด้วย ก็จะมีโทษหนักด้วยเช่นกัน

ถ้าถามถึงสิ่งที่ต้องการสนับสนุนจากภาครัฐตอนนี้ คงเป็นเรื่องบุคลากร เพราะตอนนี้ต้องยืมตัวอัยการจากพื้นที่เข้ามาเข้าเวรนอนค้าง เพราะต้องตลอด 24 ชั่วโมง เข้าเวร 8 คน เป็นอัยการของสำนักการสอบสวนแค่คนเดียว อีก 7 คนต้องยืมตัวมา และอนาคตเมื่อจำนวนคดีมากขึ้น ก็ต้องหาคนมาช่วยงานเพิ่มขึ้น

ตอนนี้สถิติการรับแจ้งเหตุทรมานการกระทำที่โหดร้ายทั้งประเทศตั้งแต่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 จนถึง 29 ตุลาคม 2566 มีทั้งหมด 26 คดี เฉพาะที่ส่วนกลาง กทม. 7 คดี และยังมีอีกกว่า 50 คดี อยู่ในกระบวนการ คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต

เป็นนโยบายของ อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ต้องการผลักดันให้อัยการเข้ามามีส่วนช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ จึงมี

นโยบายยกระดับงานสอบสวน ตั้งขึ้นเป็นสำนักสืบสวน ส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกอบรม ระยะแรกวางแผนจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ประมาณ 50 คน

หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ อย่างเช่น อเมริกา หรือเกาหลีใต้ อัยการจะมีบทบาทในการดำเนินคดีอย่างมาก แต่ในประเทศไทยเคยมีความพยายามมาแก้กฎหมายให้อัยการเข้ามามีบทบาทในการทำคดี แต่ก็ไม่ผ่าน แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้ก็ตาม

แต่เมื่อมี พ.ร.บ.นี้ออกมาบังคับใช้ กฎหมายให้อำนาจอัยการ สามารถเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการจับกุมประชาชนได้

อยากฝากถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อจับกุมต้องแจ้งรายละเอียด และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะอาจผิดมาตรา 157 ได้ ส่วนประชาชน นับจากนี้ก็จะได้รับการคุ้มครองสิทธิได้มากขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา วัชรินทร์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image