ศาลปกครองสูงสุด ไม่รับคดีกลุ่มบริษัทคู่สัญญาคลองด่าน ขอถอนคำสั่งอายัดทรัพย์ปปง.

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดยืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับคำร้องอุทธรณ์ คดีที่บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด , บริษัทประยูรวิศว์ จำกัด , บริษัทสี่แสงการโยธา (1979) จำกัด, บริษัทกรุงธน เอนยิเนียร์ จำกัด ,บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด และ บริษัทสมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด โดยทั้งหกเป็นนิติบุคคลร่วมประกอบธุรกิจชื่อกิจการร่วมค้า เอ็นพีวีเอสเคจี เป็นคู่สัญญาก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ โดยผู้ฟ้องที่ 1-6 ยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือ (ปปง.) คณะกรรมการธุรกรรม และเลขาธิการ ปปง. เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 เรื่องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่สำนักงาน ปปง.ออกหนังสือลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 สั่งอายัดเงินทั้งหมดในบัญชีธนาคารของบริษัทผู้ฟ้องทั้ง6 รวมทั้งการทำธุรกรรมทางการเงิน

คดีนี้ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง ไม่รับคำฟ้องของ บจก.วิจิตรภัณฑ์ ก่อสร้าง กับพวก ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากเห็นว่า หนังสือ ของ ปปง. ที่สั่งให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักงานใหญ่สีลม อายัดเงินในบัญชีเงินฝากของผู้ฟ้องทั้งหกไว้ชั่วคราวมีกำหนดไม่เกิน 90 วันนั้น เป็นการอายัดทรัพย์สิน โดยอาศัยเหตุ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง เพราะมีเหตุอันควรเชื่อว่า เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยพ.ร.บ.ดังกล่าวเขียนไว้ชัดแจ้งว่า การดำเนินการต่างๆทางศาลให้ยื่นต่อศาลแพ่ง และให้นำ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม หากผู้ฟ้องเห็นว่า การกระทำของผู้ฟ้องทั้งสามไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลยุติธรรม ที่กฎหมายบัญญัติให้มีเขตอำนาจไว้โดยเฉพาะ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ต่อมาผู้ฟ้องทั้งหกยื่นอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดโดย นายนพดล เฮงเจริญ ตุลาการหัวหน้าแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุด เป็นตุลาการเจ้าของสำนวนและองค์คณะ มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากเห็นว่า แม้คำสั่งยึดหรืออายัดของคณะกรรมการธุรกรรมผู้ถูกฟ้องที่สอง ที่ให้อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องไว้ชั่วคราว จะเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่ขณะยื่นคำฟ้องนี้ ผู้ฟ้องทั้งหกไม่ได้ยื่นคำขอต่อ เลขาธิการ ปปง.ผู้ถูกฟ้องที่ 3 พร้อมด้วยหลักฐานที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินในการทำธุรกรรมนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องทั้ง6 ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไข ความเดือดร้อนเสียหายไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบริษัทผู้ร้องทั้งหกเป็นบริษัทที่เป็นคู่สัญญาในโครงการบำบัดนำเสียคลองด่าน บริษัททั้งหกชนะคดีที่หน่วยงานรัฐจะต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการกรณีกระทำผิดสัญญาซึ่งรัฐจะต้องชำระค่างวดให้กับเอกชน ที่เรียกว่าค่าโง่คลองด่านเป็นเงินกว่า8พันล้านบาท แต่ภายหลังข้อพิพาทคลองด่านถูกขยายการตรวจสอบในการทุจริต เมื่อศาลยุติธรรมมีคำพิพากษาให้จำคุก อดีตผู้บริหารกรมควบคุมมลพิษ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กระทั่ง ปปง.ได้พยายามตรวจสอบเกี่ยวกับความผิดฟอกเงิน จึงได้ออกหนังสืออายัดทรัพย์ไว้ชั่วคราวเพื่อตรวจสอบ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image