ศาลปกครอง ยันไม่เคยสั่งบังคับคดี จุฬาฯ-อุเทนถวาย ระบุเป็นไปตามคำวินิจฉัยกก.ชี้ขาด ถ้าจะจบ รบ.ต้องชัดเจน

ศาลปกครอง ยันไม่เคยสั่งบังคับคดี จุฬาฯ-อุเทนถวาย เรื่องนี้เป็นไปตามคำวินิจฉัยกก.ชี้ขาด แนะถ้าจะให้จบ รบ.ต้องชัดเจน 2 ฝ่ายร่วมตกลง

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่สำนักงานศาลปกครอง นายประวิตร บุญเทียม ประธานแผนกคดีละเมิดและความรับผิดอย่างอื่นในชั้นปกครองสูงสุด ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งรองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย หรืออุเทนถวาย ว่า ศาลปกครองไม่ได้มีคำบังคับคดี ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2549 ที่ กำหนดไม่ให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐฟ้องศาล แต่ให้ส่งเรื่องต่อสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อนำเข้าคณะกรรมการชี้ขาดคดีทางแพ่ง ซึ่งมีผู้แทนส่วนราชการหลายหน่วยงาน เมื่อมีผลการวินิจฉัยแล้วก็ให้เสนอให้ ครม.ทราบ และให้ส่วนราชการนั้นปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามก็ต้องเสนอครม.

ดังนั้น กรณีข้อพิพาทระหว่างจุฬาฯ จึงเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการชุดนี้ และมีการแจ้งผลวินิจฉัยเมื่อปี 2553 ที่ให้ อุเทนถวายขนย้าย และส่งมอบพื้นที่คืนแก่จุฬาฯ พร้อมชำระค่าเสียหาย 1,140,900 บาท ตั้งแต่ ปี 2549 จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่คืน แต่ด้วยเหตุขัดข้องต่างๆ ก็ยังไม่ได้มีการปฏิบัติตามมติกรรมการชุดดังกล่าว จนทางอุเทนถวาย เห็นว่า คำวินิจฉัยกรรมการนี้ไม่ถูกต้อง จึงมาฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อปี 2556 โดยอุเทนถวายเป็นผู้ฟ้องกรรมการชี้ขาดฯ พ่วงฟ้องจุฬาลงกรณ์ฯ โดยต้องการให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยกรรมการชุดนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลปกครองพิจารณาก็ยกฟ้องเพราะเห็นว่าคำวินิจฉัยนั้นถูกต้องแล้วโดยดูจากข้ออ้าง ข้อถกเถียงต่างๆ เช่น ข้อที่อ้างว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการพระราชทานให้อุเทนถวายเมื่อ ปี 2466 แต่ศาลเห็นว่า ไม่ปรากฎหลักฐานเรื่องนี้แต่เป็นเพียงปรากฎว่า เป็นการพระราชทานเงิน 10,000 บาท เพื่อสร้างโรงงานนักเรียนเพาะช่าง ไม่ได้เห็นว่า เป็กการพระราชทานให้อุเทนถวาย ส่วนเหตุผลอื่นๆ เห็นว่า มีการโอนทรัพย์สินให้กับจุฬาลงกรณ์ฯ ในปี 2482 และเหตุผลที่ 3 ซึ่งฟังได้ว่า คู่กรณี มีการตกลงกันเมื่อ 2547 ว่า ทางอุเทนถวายจะย้ายออกจากพื้นที่ภายในปี 48 ถ้าจำเป็นก็ขยายเวลาได้ แล้วก็จ่ายตอบแทนปีละ 1,140,900 บาท

Advertisement

ดังนั้น เรื่องนี้ ศาลปกครองจึงยกฟ้อง เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่า คำวินฉัยของกรรมการชี้ขาดฯ นั้นชอบแล้ว ผลของเรื่องนี้ศาลไม่ได้ออกข้อบังคับ แค่ยืนยันคำวินิจฉัยของคณะกรรมการชี้ขาดแล้วและศาลเห็นด้วย ส่วนจุฬาฯจะมาร้องขอให้ศาลบังคับไม่ได้ เพราะตามกฎหมายศาลทำไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทุกอย่างต้องเดินหน้าตามนี้ เพราะทุกอย่างอยู่ที่นโยบายของรัฐบาล และการตกลงกันของทั้งจุฬาลงกรณ์ และอุเทนถวาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image