“ชาญเชาวน์”นำทีมรายงานยูเอ็น28ข้อ”สิทธิพลเมือง-การเมือง”แจงคำสั่งคสช.-ใช้ร่างรธน.ใหม่สิ้นปี60

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เตรียมนำเสนอรายงานการปฏิบัติการพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง หรือ”ICCPR” ฉบับที่ 2 ในการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ มีกำหนดนำเสนอรายงานต่อคณะกรรมการฯ 2 วัน โดยเริ่มในวันนี้ เวลา21.00-24.00 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) และ14 มีนาคม เวลา16.00-19.00น. (ตามเวลาในประเทศไทย)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะผู้แทนไทย เตรียมนำเสนอรายงานภายใต้คำถามรวม28ข้อ โดยมีการเสนอคำตอบ 151 ข้อ อาทิ เรื่อง การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ โทษประหารชีวิตในคดียาเสพติด รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ประกาศโดยคสช. คำสั่งคสช. การดำเนินคดีในศาลทหาร ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม2559 การคุ้มครองแรงงาน ผู้อพยพ ความเท่าเทียมทางเพศ การคุ้มครองความรุนแรงในครอบครัว การปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย การแก้ไขการค้ามนุษย์ สิทธิเสรีภาพการชุมนุม กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 การรับรองสิทธิผู้ไม่มีสัญชาติ ผู้ลี้ภัย การแสวงหาที่พักพิง รวมถึงชาวโรฮีนจา และการส่งกลับ109อุยกูร์ไปประเทศจีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหัวข้อน่าสนใจ อาทิ คำถามว่า โปรดให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดียาเสพติดที่มีการกำหนดโทษประหารชีวิต โปรดให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายต่อต้านการทุจริตฉบับใหม่ ที่ขยายให้มีโทษประหารชีวิต รวมถึงชี้แจงด้วยว่ามีการพิจารณายกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือทางข้อเท็จจริงหรือไม่ โดยคณะผู้แทนไทยเตรียมคำตอบ ระบุว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 ขยายขอบเขตครอบคลุมเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญา UNCAC ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ตามกฎหมายใหม่นี้ เจ้าหน้าที่รัฐของไทย เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ หรือ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบฯลฯ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่5-20ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต และปรับตั้งแต่1แสนบาทถึง4แสนบาท ขณะที่ก่อนหน้านี้ ความผิดเกี่ยวกับการเรียกรับสินบน ตามมาตรา 149 ของประมวลกฎหมายอาญา หากกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐของไทย จะต้องถูกลงโทษ รวมถึงการประหารชีวิตด้วย อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ โทษประหารชีวิตยังไม่เคยถูกนำมาใช้ลงโทษบุคคลใดที่กระทำความผิดเหล่านี้ สำหรับการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายนั้น เกิดขึ้นนานกว่า7ปีมาแล้ว (24 สิงหาคม 2552) เป็นชาย 2 คน ในความผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติด อย่างไรก็ดีถึงแม้ประเทศไทยจะไม่กำหนดพักการลงโทษประหารชีวิต แต่ปีนี้ (2559) เป็นปีที่ 7 ที่ประเทศไทยไม่มีการลงโทษประหารชีวิตจริง เหตุผลส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการที่บุคคลที่ถูกลงโทษประหารชีวิตสามารถยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้ ทั้งนี้รัฐบาลยังคงดำเนินการเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตต่อไป

นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ระวางโทษจำคุกแก่บุคคลใดที่ชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่มากกว่า 5 คนขึ้นไป สอดคล้องกับกติกาฯ อย่างไร กรุณาอธิบายเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการอนุญาตการชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่มากกว่า 5 คนขึ้นไป โดยคณะผู้แทนไทย เตรียมคำตอบสรุปว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ,5/2558 และ 13/2559 ไม่ได้กำหนดอำนาจพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่จะต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมายที่มีอยู่ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา และประมวลวิธีพิจารณาความอาญา คำสั่งที่ 13/2559 มุ่งปราบปรามองค์กรอาชญากรรม มักมีความซับซ้อนกว่าปกติ และเกี่ยวข้องกับกลุ่มมาเฟีย หรือกลุ่มอิทธิพล คำสั่งนี้จึงเป็นเพียงมาตรการเสริมจากกระบวนการอาญาปกติ คำสั่งกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารผู้มีอำนาจ ส่งมอบบุคคลที่ถูกจับกุมหรือวัตถุที่ยึดมาได้ ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีต่อไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติ ดังนั้นบุคคลที่ถูกจับกุมภายใต้คำสั่งนี้ มีสิทธิทุกประการ รวมถึงสิทธิในการพิจารณาคดีในศาล เช่นเดียวกับผู้ถูกจับกุมโดยตำรวจในคดีอาญาอื่นๆ ส่วนที่คำสั่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสามารถควบคุมตัวบุคคลไว้ไม่เกินกว่า7วัน เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนและเพื่อป้องกันปัญหา เช่น การหลบหนี การก้าวก่ายในพยานหลักฐาน รวมถึงคุ้มครองพยาน

Advertisement

รวมถึงคำถามว่า เมื่อใดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อเดือนมีนาคม 2559 จะมีผลบังคับใช้ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการในการส่งเสริมการอภิปรายสาธารณะ รวมถึงกรุณาแสดงความเห็นต่อรายงานที่ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 จำกัดการออกความเห็นของบุคคลและกลุ่มบุคคล โดยคณะผู้แทนไทย เตรียมคำตอบสรุปว่า ภายหลังการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องปรับปรุงแก้ไขบทเฉพาะกาล (มาตรา 272) ตามคำถามเพิ่มเติมซึ่งได้รับความเห็นชอบระหว่างการลงประชามติ การปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากศาลรัฐธรรมนูญในภายหลัง และได้ส่งกลับไปยังคณะรัฐมนตรี ปัจจุบันร่างรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างการเสนอเพื่อรอพระบรมราชานุญาติ คาดว่าจะได้มีการประกาศใช้ภายในสิ้นปีนี้

“รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชนเนื่องจากเป็นส่วนสำคัญสำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ในระหว่างกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้ได้รับข้อมูลจากทุกภาคส่วนในสังคม ก่อนจะมีการลงประชามติ วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 คือ เพื่อรับรองว่าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นไปด้วยความเป็นกลางและเป็นระเบียบเรียบร้อย มาตรา 7 ของพระราชบัญญัติฯ ได้ประกันถึงเสรีภาพของปัจเจกบุคคลทุกคนในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญโดยสุจริตและเป็นไปตามกฎหมาย ข้อห้าม (ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 61) เป็นเพียงการลดความเห็น หรือ การกระทำที่อาจยุยงให้เกิดความบาดหมางและปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกในสังคม อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการออกเสียงประชามติได้

“ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินว่ามาตรา 61 ของพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ไม่ขัดต่อ มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 เพราะหลักสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกยังคงได้รับการรับรองอยู่ รวมถึงระบบการเลือกตั้ง/การสรรหาแบบใหม่ กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิออกเสียงและผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความโปร่งใส”รายงานคณะผู้แทนไทยระบุ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image