อดีตอสส.ชี้สปท.ชง”ม.21″เปิดทางอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีการเมือง ต้องดูว่าจะสงบสุขอย่างไร

นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) และกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.อ.) ให้ความเห็นถึงกรณีที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอใช้มาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 เป็นหนึ่งในการสร้างความปรองดอง โดยให้พนักงานอัยการเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุด ใช้อำนาจสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องคดีที่มีมูลเหตุจากแรงจูงใจทางการเมืองแต่ไม่รวมถึงมาตรา 112 คดีอาญาและความผิดที่เกี่ยวกับการทุจริต ว่า ตามมาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการฯ ให้พนักงานอัยการเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุด ใช้อำนาจสั่งไม่ฟ้องคดี ในคดีอาญาไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนหรือมีผลกระทบต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของชาติ ต้องยอมรับความจริงไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย คอมมอนลอว์ (มีลูกขุนทำหน้าที่ชี้ขาด) หรือ ซีวิลลอว์(ผู้พิพากษาทำหน้าที่ชี้ขาด)นั้น การพิจารณาสั่งคดีของอัยการจะเป็นดุลพินิจ อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือมีผลกระทบต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของชาติ ทุกประเทศให้อำนาจที่พนักงานอัยการจะสั่งไม่ฟ้องได้ กฎหมายจึงมีการกำหนดหลายเรื่องที่สามารถสั่งไม่ฟ้องได้ โดยพนักงานอัยการที่ทำสำนวนมีความเห็นเสนอมาตามลำดับชั้นถึงอัยการสูงสุดเป็นคนสั่งไม่ฟ้อง อย่างไรก็ตามต้องเป็นประเด็นที่ต้องดูข้อเท็จจริงแล้วว่าจะทำให้เกิดความสงบสุขได้อย่างไร เช่น เป็นคดีที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ เกี่ยวกับผู้ก่อการร้าย หรืออะไรก็แล้วแต่ที่คิดว่าไม่เป็นประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น คดีที่แม่ขโมยอาหารมาให้ลูก คดีแบบนี้ฟ้องไปก็ไม่เป็นประโยชน์ เพราะว่าถ้าฟ้องไปแล้ว แม่เข้าคุก และลูกก็จะต้องเดือดร้อนอยู่ไม่ได้ ส่วนที่นายเสรี เสนอนั้นจะต้องไปพิจารณาว่าจะเป็นอย่างไร ในปัจจุบันผมเป็นแค่อดีตอัยการสูงสุดจะต้องฝากสอบถาม ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด ที่เป็นผู้บริหารคนปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเป็นเช่นนี้ข้อเท็จจริงในคดีการเมืองบางคดีจะยังไม่เข้าตามมาตรา 21 ของพ.ร.บ.อัยการฯใช่หรือไม่ นายอรรถพลกล่าวว่า ไม่ขอตอบว่าเรื่องดังกล่าวจะเข้าใน พ.ร.บ.อัยการฯหรือไม่ แต่ขอยกตัวอย่าง ขณะที่ตนเคยปฏิบัติหน้าที่อัยการสูงสุดอยู่ เคยเสนอเรื่องเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนที่ใช้ มาตรา 21 พ.ร.บ.เรื่องความมั่นคงนั้นจะต้องมีการแบ่งพื้นที่สีเขียวสีแดง แต่ในกรณีถ้าใช้ พ.ร.บ.ของอัยการจะไม่ต้องแบ่งพื้นที่ จะเห็นชัดว่าถ้าจะปรองดองกันใน3จังหวัดชายแดนสามารถที่จะสั่งไม่ฟ้องได้ เพื่อให้คนกลับมาพัฒนาชาติไทย ถ้าเราคิดว่าเกิดปั่นป่วนในประเทศจะเป็นหลักเดียวกันหรือไม่ ถ้าเป็นหลักเดียวกันแล้วนำมาใช้จะเป็นประโยชน์ ส่วนจะให้ตนการันตีเลยว่าเป็นประโยชน์อย่างไรหรือไม่ขอให้ผู้บริหารปัจจุบันพิจารณา อย่างไรก็ตามถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองแล้ว การที่อัยการสูงสุดจะใช้ดุลพินิจนั้นคงต้องฟังรัฐบาลมาประกอบการสั่งคดีของอัยการสูงสุดด้วย

“ช่วงที่เป็นอัยการสูงสุดได้เสนอแนวความคิดนี้ ต่อคณะกรรมการที่มีทหาร อัยการ ฝ่ายปกครองและตำรวจ ว่าถ้ากรณีให้เกิดความสงบอาจใช้มาตรา 21 พ.ร.บ.อัยการฯ ไปด้วยได้ แต่เผอิญดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดระยะสั้นเลยยังไม่ได้ทันใช้ แต่มาตรา 21 นี้เคยใช้หลายกรณี แต่ไม่ได้เป็นข่าว”อดีตอัยการสูงสุดกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image