ศาลจังหวัดปัตตานียกฟ้อง “อัสมาดี” นักปกป้องสิทธิฯและนักข่าวใต้ในคดีต่อสู้ ขัดขวางเจ้าพนักงาน ในขณะที่ลงไปเก็บข้อมูลทำข่าวการวิสามัญฆาตกรรม ด้านเจ้าตัวดีใจได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลเรียบร้อยแล้ว ยืนยันทำหน้าที่สื่อมวลชนในการถ่ายทอดข้อมูลรอบด้านให้ประชาชนต่อ แม้ต้องเผชิญความกดดัน ขณะที่ทนายความชี้เป็นคดีสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อ ย้ำเป็นต้นทุนต่อผู้ถูกกล่าวหา
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลจังหวัดปัตตานีนัดฟังคำพิพากษา คดี อัสมาดี บือเฮง นักข่าวพลเมืองชายแดนใต้และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกฟ้องข้อหา “ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ในขณะที่ลงไปเก็บข้อมูลทำข่าวเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทำการวิสามัญฆาตกรรม”
สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานียื่นฟ้องในข้อหาร่วมกันต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ตามมาตรา 83, 138, 140 ประมวลกฎหมายอาญา และคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 พ.ศ.2519 กับ นางแมะดะ สะนิ เป็นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย เพื่อจะไปรับศพลูกชายที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมในคดีความมั่นคง นำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม และ นายอัสมาดี บือเฮง เป็นจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนักข่าวพลเมือง และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีความสนใจและเก็บข้อมูลของบุคคลที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อจัดทำเป็นบทความในหนังสือหรือรายงานข่าวต่อไป
โดยเมื่อวันที่ 11-13 ธันวาคม 2567 ศาลจังหวัดปัตตานี สืบพยานโจทก์และจำเลยโดยมี เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภาอดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท เดินทางมาเบิกความในฐานะพยานของอัสมาดีเพื่อยืนยันการทำงานของอัสมาดี ในฐานะนักข่าวพลเมืองให้กับสำนักข่าวประชาไทเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน สิทธิทางการเมือง ในพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง และยังได้ยืนยันความสำคัญของนักข่าวพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยในการสืบพยานครั้งนั้นด้วย
สำหรับบรรยากาศก่อนรับฟังคำพิพากษา มีนักกิจกรรม และเครือข่ายประชาสังคมชายแดนใต้ อาทิ มูลนิธิภาคใต้สีเขียว เครือข่ายติดตามเฝ้าระวังโครงการพัฒนาปาตานี นักวิชาการ กลุ่มThe Patani เครือข่ายบัณฑิตปาตานี(PAGNET) เครือข่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและวัฒนธรรม (BUMIMANUSIA) และตัวแทนของกองทุนราชประสงค์กว่า 30 คน รวมถึงองค์กร Protection International (PI) เข้าร่วมสังเกตการณ์การอ่านคำพิพากษาในครั้งนี้ด้วย
หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นในวันนี้ (24 ก.พ.68) อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า วันนี้ศาลจังหวัดปัตตานีมีคำพิพากษายกฟ้อง อัสมาดี บือเฮง นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักข่าวพลเมือง ที่ถูกกล่าวหาว่าต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน โดยศาลให้เหตุผลทำนองว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง และพยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดจึงยกผลประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย คดีนี้นับเป็นอีกหนึ่งกรณีที่สะท้อนประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในการทำหน้าที่ในพื้นที่ขัดแย้ง ซึ่งตลอดขั้นตอนของการต่อสู้คดีอัสมาดีได้ให้การปฏิเสธยืนยันความบริสุทธิ์ของตนมาตั้งแต่ต้น
“อัสมาดียืนยันมาตลอดว่า เขาเดินทางไปยังที่เกิดเหตุเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน เก็บข้อมูลเกี่ยวกับคดีวิสามัญฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานี และบันทึกข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อใช้สำหรับงานเขียนในอนาคตของเขา” อธิวัฒน์ระบุ
คดีนี้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี โดยมีการนำศพของผู้เสียชีวิตส่งไปยังโรงพยาบาลปัตตานี ซึ่งอัสมาดีได้เข้าไปสังเกตการณ์และบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว
“เมื่อจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ช่วงที่เกิดการชุลมุน รวมทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุไม่ปรากฏว่า อัสมาดี มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร ศาลจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่ายังมีข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งในหลักกฎหมายเมื่อมีข้อสงสัย ก็ต้องยกผลประโยชน์ให้จำเลย” ทนายความของอัสมาดีกล่าว
อธิวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้องในศาลชั้นต้นนี้ แต่คดียังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากพนักงานอัยการยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 1 เดือน โดยหากอัยการยื่นอุทธรณ์ คดีจะถูกส่งต่อไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาคดีต่อไป
“เราต้องรอดูว่าพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ หากอุทธรณ์ คดีก็จะถูกพิจารณาต่อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 และเราต้องลุ้นต่อไปว่าผลคำพิพากษาจะเป็นเช่นเดียวกับศาลจังหวัดปัตตานีหรือไม่” ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและผู้ว่าความให้กับอัสมาดี”
ทนายอธิวัฒน์ยังกล่าวถึงประเด็นที่สำคัญของคดีนี้ว่า เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งไม่ควรกลายเป็นคดีอาญาตั้งแต่แรก เพราะเป็นภาระและต้นทุนทางกฎหมายที่จำเลยต้องแบกรับ
“คดีลักษณะนี้สร้างภาระให้กับจำเลยอย่างมหาศาล ทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ความกังวลใจ และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัว รวมทั้งหน้าที่การงานของเขา นอกจากนี้ ยังต้องสูญเสียเวลาที่ควรใช้ในการทำงานหรือทำข่าว กลายเป็นว่าต้องมุ่งความสนใจไปที่คดีความแทน”
ทนายยังเน้นว่า การดำเนินคดีแบบนี้ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนโดยรวม และทำให้เกิดคำถามว่า นักข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง ควรต้องมาถูกดำเนินคดีทางอาญาหรือไม่ อย่างไร
“แทนที่จำเลยจะสามารถใช้เวลาไปทำข่าวและทำงานตามปกติ เขาต้องใช้เวลาต่อสู้คดี มันเป็นภาระที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลยตั้งแต่ต้น” อธิวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย
อัสมาดี ผู้ถูกกล่าวหา ให้สัมภาษณ์หลังฟังคำพิพากษาว่า แม้กระบวนการทางกฎหมายจะยังไม่สิ้นสุด แต่เขายังคงยืนยันทำหน้าที่สื่อมวลชนต่อไป โดยจะเดินหน้าติดตามประเด็นปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยเฉพาะเรื่องการวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่ประชาชนให้ความสนใจ
“ผมรู้สึกดีที่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองในชั้นศาลได้ ซึ่งถือว่าเป็นการยืนยันสิทธิเสรีภาพของนักข่าวในการทำหน้าที่ อย่างไรก็ตามยังคงรู้สึกเสียใจที่ในกระบวนการยุติธรรมยังไม่มีกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์มากเพียงพอ แม้ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมายก็ตาม ก็เป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน นโยบายที่เกี่ยวกับสื่อและสิทธิมนุษยชนควรให้ความสำคัญกับหลักสิทธิและเสรีภาพมากกว่าการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว” อัสมาดีกล่าว
แม้ต้องเผชิญกระบวนการพิจารณาคดีมาอย่างยาวนาน อัสมาดียังยืนยันว่าจะยังคงทำหน้าที่สื่อมวลชนต่อไป โดยเฉพาะการติดตามประเด็นปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชาชนควรได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน
“การศึกษาคือสิทธิขั้นพื้นฐาน ประชาชนมีสิทธิ์รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียม และเราก็มีหน้าที่นำเสนอเรื่องราวที่สะท้อนความรู้สึก ความคิดเห็น และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้จากข้อมูลที่รอบด้านมากที่สุด” อัสมาดีระบุ
อย่างไรก็ตาม แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำตัดสินให้พ้นผิด แต่กระบวนการทางกฎหมายยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากยังมีขั้นตอนการอุทธรณ์ที่ต้องรอการพิจารณาว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อหรือไม่ ซึ่งเจ้าตัวระบุว่าต้องติดตามอย่างใกล้ชิดกระบวนการยังไม่จบ ต้องรอดูว่าจะมีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือไม่ และจะเดินหน้าต่ออย่างไร ในขณะเดียวกันภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่ยาวนานก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งตอนนี้พวกเรามีการระดมทุนผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การขายเสื้อ และการขายข้าว เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ทางกฎหมาย
นอกจากการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองแล้ว อัสมาดียังคงให้ความสำคัญกับการติดตามปัญหาการวิสามัญฆาตกรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมให้ความกังวล โดยเฉพาะกรณีของแม่รายหนึ่งที่ลูกชายถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 3 วัน ก่อนถูกดำเนินคดีและเสียชีวิตในเวลาต่อมา สิ่งที่เราต้องทำต่อไป คือ การทำข่าวและนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ให้ชัดเจนที่สุด เพราะเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนโดยตรง และต้องการความกระจ่างจากสังคม
อัสมาดียังยืนยันว่า แม้จะต้องเผชิญกับกระบวนการทางกฎหมายและแรงกดดันจากหลายฝ่าย แต่จะยังคงยืนหยัดทำหน้าที่สื่อมวลชนในการติดตามและนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องให้กับสังคมต่อไป
ขณะที่ตัวแทนครอบครัวแมะดะ สะนิ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 และเป็นมารดาของผู้เสียชีวิตที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม ที่ไปรับศพ นายฮัยซัม สมาแฮ ลูกชายที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมในคดีความมั่นคง เพื่อนำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม โดยวันนี้ศาลได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 1 ปี และปรับเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท ซึ่งศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงเหลือจำคุก 6 เดือน ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี
โดยตัวแทนครอบครัวให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมหลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้วว่า ก่อนฟังคำพิพากษาเราเหนื่อยและเครียดมากกับการต่อสู้คดีในครั้งนี้ แต่พอมาศาลมีคำพิพากษาออกมาวันนี้ก็ทำให้เรารู้สึกโล่งขึ้นมาก นอกจากนี้เราเห็นกระบวนการต่อสู้คดีของอัสมาดีเห็นเพื่อนๆหลายคนหลายเครือข่ายมาช่วยเป็นกำลังใจและเดินเคียงข้างการต่อสู้ของอัสมาดีก็ทำให้หายเหนื่อย และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราอยากให้สมาชิกในครอบครัวของเราที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมได้รับความเป็นธรรมด้วย
ขณะที่ ปรานม สมวงศ์ จากองค์กร Protection International กล่าวถึงคำพิพากษาในครั้งนี้ว่า คำพิพากษาครั้งนี้เป็นสัญญาณที่ดี แต่พนักงานสอบสวนและอัยการไม่ควรจะสั่งฟ้องแต่แรกเพราะไม่มีพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงเลยในกรณีของอัสมาดี รวมถึงความยุติธรรมที่แท้จริงไม่สมบูรณ์จนกว่าแม่และครอบครัวผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรมจะได้รับความยุติธรรม ผู้ที่ต้องสูญเสียคนที่รักไปโดยไม่อาจทดแทนได้ เราต้องร่วมกันเรียกร้องให้ทุกการกระทำที่นอกกฎหมายได้รับการสอบสวนและหาผิดมาลงโทษและเยียวยาครอบครัว เพื่อฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิของประชาชนทุกคน
ด้าน รศ.ดร.มารค ตามไท นักวิชาการที่เคยมีส่วนร่วมในการร่างนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และเป็นผู้มีบทบาทโดยตรงในกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับฝ่ายเห็นต่างจากรัฐ หรือขบวนการที่ใช้ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงปี 2549-2554 ซึ่งเข้ามาร่วมสังเกตุการณ์คดีในวันนี้กล่าวว่า ตนเข้ามาสังเกตุการณ์คดีและรู้สึกยินดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในครั้งนี้ ทั้งนี้อัสมาดีทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชนเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่และนอกจากนั้นแล้วยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ ข้อมูลข้อเท็จจริงจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้ ตนก็ขอเป็นกำลังใจให้อัสมาดีต่อสู่คดีในชั้นอื่นๆ อีกต่อไป